โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ตำบล : ศรีเทพ
อำเภอ : ศรีเทพ
จังหวัด : เพชรบูรณ์
พิกัด DD : 15.466254 N, 101.145329 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, ลพบุรี
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเหียง
การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102 สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ปรางค์ศรีเทพตั้งอยู่ภายในเมืองศรีเทพ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5679 9466, 0 5655 6555
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2475
ปรางค์ศรีเทพได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพดี และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
แม่น้ำป่าสัก ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร และลำน้ำเหียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก อยู่ทางตอนใต้ของเมืองศรีเทพประมาณ 8 กิโลเมตร
ปรางค์ศรีเทพอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งอยู่ในเขตที่สูงภาคกลาง ลักษณะทั่วไปมีเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ สระบุรี และทางใต้ของนครราชสีมา มีเนินเขาต่อเนื่องคล้ายลูกคลื่นสลับกับเขาสูง เทือกเขาสำคัญได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ
ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงสำรวจเมืองศรีเทพและทรงลงความเห็นว่าเมืองศรีเทพคงเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทยชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : Quaritch Wales
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478, พ.ศ.2479, พ.ศ.2480
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2478-2480 ดอกเตอร์ ควอริทช์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) เขียนถึงเมืองศรีเทพในบทความเรื่อง The Exploration of Sri Deva an ancient city in Indochina หนังสือ Indian art and letter vol.X No.11ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย ทำการสำรวจขุดแต่งทำผังและประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบางแห่ง และสำรวจถ้ำถมอรัตน์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2509
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 3 สุโขทัย สำรวจสภาพตัวเมืองและนำโบราณวัตถุ เช่น ศิวลึงค์ ระฆังหิน และเสาประดับกรอบประตูบางชิ้นไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงชื่อผู้ศึกษา : ฌอง บวสเซอลีเย่
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเย่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพว่าได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย และเขมร ซึ่งเป็นแนวทางให้เกิดเป็นสกุลช่างลพบุรี และให้ความเห็นว่าโบราณสถานเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอข้อคิดเห็นใน “การกำหนดอายุปรางค์ที่เมืองศรีเทพ” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 กำหนดอายุปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องในพุทธศตวรรษที่ 17 และมีเทคนิคการก่อสร้างแบบสกุลช่างเขมรชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรคิดจะจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดีระหว่างสระปรางค์กับเขาคลังใน สรุปผลการดำเนินงานว่า เมืองศรีเทพเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 และเขาคลังในมีอายุเก่าแก่กว่าปรางค์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : อรนุช แสงจารึก
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, จารึก, ศึกษาความเชื่อ
ผลการศึกษา :
อรนุช แสงจารึก ทำสารนิพนธ์เสนอคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องคติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ เสนอว่าการแพร่หลายของไศวนิกายที่เมืองศรีเทพคงเกิดจากการขยายดินแดนของเจนละชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528, พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2527-2529 กรมศิลปากรจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และดำเนินการขุดแต่งปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพด้านทิศตะวันออกชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอว่าวิธีการก่อสร้างและขนาดของวัสดุของศาสนสถานที่เมืองศรีเทพไม่ใช่วิธีแบบเขมร แต่เป็นเทคนิควิธีการแบบเดียวกับของทวารวดีภาคกลาง ในบทความเรื่อง “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการ อนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537, พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ขุดตรวจ, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2530-2543 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจัดทำแผนแม่บทเมืองศรีเทพ และดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานขนาดเล็กในเมืองและนอกเมืองรวม 40 แห่ง สระน้ำ 19 สระ และขุดลอกคูเมืองโดยรอบ บูรณะปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544, พ.ศ.2545, พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดตรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2544-2546 ขุดตรวจบริเวณฐานและบูรณะเสริมความมั่นคงปรางค์ศรีเทพ พบรากฐานของสิ่งก่อสร้างรุ่นก่อนตัวปราสาทที่ปรากฏอยู่บนผิวดิน และพบโบราณวัตถุจำนวนมากชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ รวบรวมและสรุปข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาที่ผ่านมาปรางค์ศรีเทพ ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู หันหน้าไปทางทิศตะวันออกในแนวเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 และยังพบร่องรอยการพยายามดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในลัทธิมหายานในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เนื่องจากพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เป็นโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก (อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร, มปป, 4)รวมทั้งหลักฐานที่อยู่ใต้ดินที่แสดงการใช้พื้นที่บริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยทวารวดี
โบราณสถานปรางค์ศรีเทพ ประกอบด้วย ปราสาทประธาน อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย โคปุระ กำแพง ชานชาลาหรือทางเดินรูปกากบาท สะพานนาค และอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ทอดยาวขนานกับสะพานนาค
ปราสาทประธานเป็นปราสาทอิฐในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟักสองชั้นก่อด้วยศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่เหลืออีกสามด้านเป็นประตูหลอก ภายในของประตูหลอกทำเป็นช่องหรือซุ้มที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปเคารพ ข้อมูลจากชาวบ้านว่าเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว มีรูปพระนารายณ์สลักด้วยไม้สูงราว 70 เซนติเมตรตั้งอยู่ภายในองค์ปรางค์ แต่ปัจจุบันผุพังไปหมดแล้ว (อรนุช แสงจารึก, 2527, 4) ตัวปราสาทไม่เหลือร่องรอยหรือชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม เดิมคงมีหลังคาเครื่องไม้คลุมที่ด้านหน้าอาคารเนื่องจากที่พื้นของฐานบัวลูกฟักชั้นล่างพบร่องรอยหลุมเสากลมขนาดใหญ่ และกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาเป็นจำนวนมาก (กรมศิลปากร, 2550, 106)
การดำเนินงานทางโบราณคดีที่ปรางค์ศรีเทพ พบร่องรอยหลักฐานการใช้พื้นที่หลายสมัย อาจสรุปเบื้องต้นได้ดังนี้
1. พุทธศตวรรษที่ 12-16 สมัยทวารวดี พบร่องรอยสิ่งก่อสร้างทางด้านทิศตะวันตกของ บรรณาลัยหลังเหนือสร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าเป็นฐานอาคารสมัยทวารวดี ซึ่งได้พบร่วมกับดินเถ้า ดินเผาไฟ เศษถ่าน กระดูกสัตว์ ข้าวสารดำ เศษภาชนะดินเผา ตะคันดินเผา แวดินเผา ลูกปัดแก้ว ลักษณะเทียบเคียงได้กับที่พบในแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี
หลังจากนี้มีร่องรอยอาคารก่อด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือหลักฐานปรากฏให้เห็นที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน และอาคารศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางด้านหน้าปราสาทประธาน สระน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัส กรุด้วยศิลาแลง อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน
2. พุทธศตวรรษที่ 16-17 วัฒนธรรมเขมรสมัยคลัง-บาปวน มีการรื้ออาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง (ที่กล่าวถึงในข้อ1) จนเหลือแต่ส่วนฐานแล้วสร้างปราสาทแบบเขมร หรือปรางค์ศรีเทพขึ้นใหม่ โดยมีการปรับถมพื้นที่โดยรอบปราสาทประธานและปราสาทบริวารสูงขึ้นมาราว 50 เซนติเมตร ปรับปรุงอาคารศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมทางด้านหน้าปราสาทประธานให้ส่วนท้ายยื่นออกมาทั้งสองข้าง มีการต่อเติมสระน้ำเดิมให้อยู่ในระดับเดียวกับดินที่ปรับถมใหม่ รวมทั้งก่อสร้างอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อาจเรียกว่าบรรณาลัยหลังเหนือ และหลังใต้ขึ้นใหม่
โบราณวัตถุที่พบในระยะนี้ที่ปรางค์ศรีเทพ ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระอิศวรสี่กร รูปแบบศิลปะเขมรแบบบันทายสรี-คลัง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ยังพบทับหลังรูปแบบศิลปะเขมรสมัยคลัง-บาปวน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรมศิลปากร, 2550, 109-115)
3. พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พบร่องรอยการก่อสร้างและซ่อมแซมศาสนสถานแห่งนี้ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เช่นได้พบโกลนกลีบขนุนที่ใกล้ฐานปรางค์ และมีการถมดินสูงขึ้นมาอีกจนกลบสระน้ำ และฐานอาคารเดิมต่างๆ เหลือไว้เพียงบรรณาลัยสองหลังที่มีการสร้างขึ้นใหม่บนฐานเดิม และมีการก่อสร้างทางเดินด้านหน้าทับกับอาคารเดิมทางด้านนี้ โดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการนำเอารูปเคารพในศาสนาฮินดูไปฝังในบริเวณปรางค์สองพี่น้อง ซึ่งอาจแสดงถึงการปรับเปลี่ยนศาสนสถานจากศาสนาฮินดูเป็นพุทธศาสนามหายานที่นิยมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็มีเหตุให้ทิ้งร้างไปก่อน
โบราณวัตถุที่พบในชั้นวัฒนธรรมนี้ ได้แก่ ประติมากรรมหินทรายรูปเทพชัมภละหรือท้าวกุเวร เทพแห่งความมั่งคั่ง พบใกล้กับอาคารที่ขนานกับสะพานนาคทางด้านนอกกำแพงและทวารบาลหินทรายที่ด้านหน้าโคปุระ
กนกวลี สุริยะธรรม. "ร่องรอยหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ที่พบบริเวณชุมชนเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์” สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.
ธิดา สาระยา. "ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ" เมืองโบราณ. ปีที่ 15, ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มี.ค. 2532) : 32-40.
วิชัย ตันกิตติกร. จารึกที่เมืองศรีเทพ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. “โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ. ปีที่ 6, ฉบับที่ 1 (ต.ค.-พ.ย. 2522) : 41-50.
สุรพล ดำริห์กุล. “ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเมืองศรีเทพ” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 6, ฉบับที่ 8 (มิ.ย. 2528) : 56-58.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2533.
อรนุช แสงจารึก. “คติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลิทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ” สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการ อนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น” เมืองโบราณ. ปีที่ 13, ฉบับที่ 1 (ม.ค. - มี.ค. 2530) : 10-19.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “การกำหนดอายุปรางค์ที่เมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (เมษายน-มิถุนายน 2522) : 85-104.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร. เอกสารนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. เอกสารอัดสำเนา. มปท. มปป.