โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ถ.พหลโยธิน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.273859 N, 100.082075 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดพระบวช ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1016) ฝั่งด้านทิศใต้ ตรงข้ามฝั่งถนนกับวัดมุงเมือง
วัดพระบวชเป็นโบราณสถานในเมืองเชียงแสนที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว มีการปลูกหญ้าคลุมดิน แต่ขณะสำรวจหญ้าและวัชพืชอื่นๆ ขึ้นค่อนข้างสูง ทั้งยังขึ้นที่ตัวโบราณสถานด้วย ภายในพื้นที่โบราณสถานมีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
วัดพระบวชได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 2 ครั้ง คือ
1. ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 82 ตอนที่ 53 วันที่ 6 กรกฎาคม 2508 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ
2. ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 10 วันที่ 24 มกราคม 2523 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
วัดพระบวชเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงแสน ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1016) ฝั่งทิศใต้ แวดล้อมไปด้วยชุมชน ตรงข้ามฝั่งถนนกับวัดมุงเมือง
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
ในพงศาวดารภาคที่ 61 มีบันทึกเกี่ยวกับวัดพระบวชว่าสร้างโดยพญากือนา เมื่อประมาณ พ.ศ.1889 รายละเอียดดังนี้ “....ส่วนว่าพระยาผายูตนพ่อนั้น ท่านก็ลงไปกินเมืองเชียงใหม่ ในศักราช 708 ตัวปีเมิงไค้ เดือน 6 เพ็ญ วันพุธ มหามูลศรัทธาพระราชเจ้ากือนาสร้างเจดีย์และวิหารพระพุทธรูปพระบวช กลางเวียงไชยบุรีเชียงแสนที่นั่นแล้ว ก็ฉลองทำบุญให้ทานบริบูรณ์ในวันนั้นแล”
ในพงศาวดารโยนกระบุเรื่องราวเกี่ยวกับวัดพระบวช ดังนี้ “ราว พ.ศ.2260 ได้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงแสนครั้งใหญ่ วัดพระบวชจึงทรุดจมดินลงไปตั้งแต่บัดนี้”
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดประกอบด้วยวิหารและเจดีย์
วิหารขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น
เจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นฐานเขียง 3 ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นล่างสุดกว้างด้านละ 8 เมตร รองรับชุดฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันในผังยกเก็จแบบล้านนา เหนือขึ้นไปเป็นส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว 3 ฐาน ประดับลูกแก้วอกไก่ฐานละ 2 เส้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็ก บัลลังก์สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง ก้านฉัตร บัวฝาละมรรองรับปล้องไฉนและปลียอดตามลำดับ (ปัจจุบันปลียอดหายไป)
จากการบูรณะของกรมศิลปากรพบว่า เจดีย์องค์นี้ได้ก่อหุ้มเจดีย์อีกองค์หนึ่งไว้ภายใน เจดีย์องค์ในเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด มีเรือนธาตุตั้งอยู่ค่อนข้างต่ำ รองรับไว้ด้วยฐานเขียงเตี้ยๆ มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน พระพุทธรูปปูนปั้นภายในซุ้มองค์หนึ่งที่พบเป็นพระพุทธรูปแสดงท่าทางยืนคล้ายปางลีลา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้กะเทาะบางส่วนของเจดีย์องค์นอกออกเพื่อให้เห็นพระพุทธรูปปูนปั้นของเจดีย์องค์ใน
จากรูปแบบศิลปกรรม ทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เจดีย์องค์ในน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนเจดีย์องค์นอกสร้างหุ้มเจดีย์องค์เดิมราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 21