โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ถ.ริมโขง ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.283906 N, 100.087696 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดมงคลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายในเมืองเชียงแสน ริมถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 1290) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดมหาโพธิ์ (ติดกับวัดมหาโพธิ์)
วัดมงคลเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่พื้นดินโดยรอบโบราณสถานมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
วัดมงคลเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากกำแพงเมืองด้านทิศเหนือมาทางทิศใต้ประมาณ 40 เมตร และอยู่ติดกับวัดมหาโพธิ์ (อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดมหาโพธิ์)
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548, พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
วัดมงคลสร้างโดยพญาสรสิทธิมหาไชยสงครามลุ่มฟ้า บุตรขุนนางผู้หนึ่ง ซึ่งแข่งยิงธนูชนะขุนนางชาวจีน เมื่อ พ.ศ.1913 และได้รับการแต่งตั้งจากพระยากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้ครองเมืองเชียงแสน โบราณสถานแห่งนี้ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
เดิมโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินดินที่มีเศษอิฐกระจัดกระจาย จากการขุดแต่งของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2548-2549 พบฐานอาคารก่ออิฐหลายหลัง ซึ่งได้แก่ วิหาร เจดีย์ทรงมณฑป และอาคาร 2 หลัง โดยเจดีย์ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวิหาร และวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ ภายในมีร่องรอยของฐานเสา ฐานชุกชี และพื้นปูน ส่วนฐานอาคารอีก 2 หลังตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์และวิหาร รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานว่ามีการก่อสร้างวัดมงคลครั้งใหญ่ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ทรงมณฑป และอาคาร 2 หลัง
ครั้งที่ 2 ได้เปลี่ยนวิหารให้เป็นอุโบสถ เนื่องจากพบใบเสมาปักอยู่ล้อมรอบ และขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นจนเชื่อมเป็นฐานเดียวกับเจดีย์ ซึ่งสัมพันธ์กับความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ (ใหม่) ที่เข้าสู่เมืองเชียงแสนในพุทธศตวรรษที่ 23