โพสต์เมื่อ 26 ก.ค. 2021
ชื่ออื่น : วัดพระรอด, วัดมหาธาตุเมืองเชียงแสน
ที่ตั้ง : ถ.พหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1016 แม่จัน-เชียงแสน) เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.274061 N, 100.078826 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดมหาธาตุตั้งอยู่ช่วงกลางเมืองฝั่งด้านทิศตะวันตก ภายในเมืองเชียงแสน ริมประตูเชียงแสน หัวมุมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนรอบเวียง
วัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว สภาพทั่วไปร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ พื้นดินมีการปลูกหญ้าและทำทางเดินอิฐ มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
วัดมหาธาตุ เมืองเชียงแสน ได้รับการประกาศขึ้นทียนโบราณสถาน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอน 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 เรื่อง การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ
ครั้งที่ 2 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอน 41 วันที่ 14 มีนาคม 2523 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ
วัดมหาธาตุตั้งอยู่ริมด้านในของประตูเชียงแสน ซึ่งเป็นประตูเมืองสำคัญของเมือง ปัจจุบันมีสภาพเป็นวัดร้าง ภายในวัดมีต้นไม้ใหญ้ขึ้นอยู่ทั่วไป สภาพร่มรื่น พื้นดินมีการปลูกหญ้า ด้านทิศตะวันตกติดกับวัดเป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
วัดมหาธาตุเป็นโบราณสถานภายในเมืองเชียงแสน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ไม่ปรากฏประวัติหลักฐานการก่อสร้างวัดมหาธาตุ แต่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดพระรอด โบราณสถานสำคัญภายใน ได้แก่ วิหารและมณฑป กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
จากการศึกษาไม่พบประวัติการสร้างวัดมหาธาตุ แต่เดิมคนท้องถิ่นเรียกวัดมหาธาตุนี้ว่า “วัดพระรอด” ใน พ.ศ.2509 ที่เมืองเชียงแสนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คันธกุฎีวัดมหาธาตุได้รับความเสียหายอย่างมาก ต่อมาภายหลังที่น้ำลดลงแล้วปรากฏว่าเหลือเพียงมุมคันธกุฎีด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ยังคงเหลือสภาพสมบูรณ์ กรมศิลปากรจึงได้บูรณะใหม่ โดยยึดเอาแนวดังกล่าวเป็นต้นแบบ
โบราณสำคัญภายในวัดมหาธาตุ ประกอบด้วย วิหาร และเรือนธาตุท้ายวิหารหรือมณฑปหรือคันธกุฎี
วิหาร ลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นส่วนฐานก่ออิฐของอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร หันด้านหน้าที่เป็นด้านกว้างไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกเชื่อมต่อทางเข้ามณฑป
มณฑปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายมณฑปมูลคันธกุฎี ที่ประทับส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ขนาดกว้างด้านละ 4.5 เมตร สูง 8.4 เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทรูปปูนปั้น แต่ปัจจุบันชำรุดแตกหัก
โบราณสถานที่พบคันธกุฎีในบริเวณเมืองเชียงแสน เช่น วัดพระธาตุปูเข้าหรือพระธาตุภูข้าว และวัดป่าแดงหลวง เป็นต้น ที่เมืองสุโขทัยมณฑปลักษณะนี้นี้อยู่หลังวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาจากรูปแบบศิลปกรรมแล้ว วัดนี้น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
คันธกุฎีเป็นสิ่งที่ก่อสร้างทางพุทธศาสนารุ่นเก่า พบในสุโขทัย และล้านนา มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแคบๆ ขนาดพอดีองค์พระประธาน มักเชื่อมกับส่วนท้ายของวิหารที่อยู่ด้านหน้า เหนือตัวอาคารคันธกุฎีจะมีรูปแบบต่างกัน แต่ทั้งหมดจะสร้างด้วยวัสถุที่หนัก เช่น อิฐหรือหินเท่านั้น
สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้างคันธกุฎีนั้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เฉพาะส่วนพระองค์ (ปลีกวิเวก) ของพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฎในพระอรรถกถาแห่งกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ 2 ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีกิจประจำวัน 5 อย่าง ดังนี้
กิจหนึ่งในปุเรภัต ทรงลุกแต่เช้า หลังจากทรงบ้วนพระโอษฐ์แล้ว ทรงให้เวลาล่วงไป ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร แล้วเสด็จโปรดสัตว์ เสวยพระกระยาหาร ทรงรอจนภิกษุทั้งหลายฉันแล้ว จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี
กิจหนึ่งในปัจฉาภัทร ในเวลาหลังเพล ถ้าพระองค์มีพุทธประสงค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ครู่หนึ่ง โดยพระปรัศว์เบื้องขวาลำดับนั้นทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า ทรงลุกขึ้น แล้วทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่มาประชุมกันอยู่
กิจหนึ่งในปุริมยาม ทรงโสรจสรงพระวรกายในซุ้มสรงแล้วเสด็จมาประทับ ณ ที่แห่งหนึ่งก่อนพระสงฆ์จะเข้ามาถามปัญหา ขอฟังธรรม ฯลฯ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุ
กิจหนึ่งในมัชฌิมยามเมื่อพระสงค์ทั้งหลายกลับไปแล้ว ก็เป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน เป็นเวลาที่ทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายกับเทวดาฃ
กิจหนึ่งในปัจฉิมยาวเมื่อเทวดากลับไปแล้ว ทรงแบ่งเวลาที่เหลือออกเป็น 3 ส่วน คือ ทรงเดินจงกลมส่วนที่ 1
ส่วนที่ 2 พระองค์เสด็จไปยังพระคันธกุฎี ทรงมีสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา
ส่วนที่ 3 พระองค์ลุกขึ้นประทับตรวจดูสัตว์โลกที่ควรแก่การตรัสรู้ และที่ยังไม่ควรตรัสรู้
จากพุทธกิจ มีบางช่วงเวลาที่เป็นเวลาส่วนพระองค์ภายในคันธกุฎี ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งหมู่เทพและมนุษย์ที่ไม่ควรเข้าไปรบกวนพระพุทธองค์ แม้พรหมก็ยังต้องแอบอยู่ข้างประตู ไม่กล้าเข้าไปรบกวน ได้แต่ซุบซิบสนทนาธรรมกับผู้อื่น ข้างบานประตูนั้น
ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวคันธกุฎีจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นห้องส่วนตัวของพระพุทธเจ้า จึงใช้ประดิษฐานพระประธาน (พระพุทธเจ้า) เพียงอย่างเดียว ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปกราบไหว้บูชาภายในห้อง เพราะเป็นการรบกวนพระพุทธองค์ แต่หากต้องการบูชาก็สามารถกระทำได้ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าคันธกุฎีเท่านั้น
สำหรับในล้านนา คันธกุฎีได้พัฒนาเป็นปราสาทเล็กๆ ตั้งอยู่ภายในวิหาร เช่น วัดพระธาตุลำปาง (ลำปาง) วัดพระธาตุจอมทอง (เชียงใหม่) หรือวัดดอยสัก (อุตรดิตถ์) เป็นต้น อีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาของคันธกุฏี คือ พัฒนาไปเป็นเรือนคฤห์ อันเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก ตั้งอยู่โดดๆ กลางแจ้ง เช่นที่วัดช้างค้ำ (น่าน) และวัดเชียงทอง (หลวงพระบาง สปป.ลาว) เป็นต้น