โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ที่ตั้ง : ถ.ทัพม่าน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.26938 N, 100.08236 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดอุดม ตั้งอยู่สี่แยกริมถนนทัพม่านและถนนสาย 1 ติดกับโบราณสถานหมายเลข 12 ภายในเมืองโบราณเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน
โบราณสถานวัดอุดมเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่พื้นดินโดยรอบโบราณสถานมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม แต่ป้ายให้ข้อมูลหันด้านหน้าไปทางกำแพงและพื้นที่รกร้างที่มีวัชพืชขึ้นสูง ทำให้ผู้เยี่ยมชมไม่สามารถอ่านได้
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
วัดอุดมเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ในเมืองเชียงแสนบริเวณกลางเมืองค่อนมาทางทิศใต้ มีโบราณสถานใกล้เคียงคือโบราณสถานหมายเลข 12 และหมายเลข 26 ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ
เดิมโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่รกร้าง มีวัชพืชขึ้นปกคลุมทั่วไป สภาพพื้นที่เป็นเนินโบราณสถาน มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยม แกนความยาววางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรขุดแต่งวัดอุดมพบอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวิหารและมณฑปตามตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าวัดอุดมสร้างโดยหมื่นอุดม ขุนนางผู้กินเมืองเชียงแสนใน พ.ศ.2029 โดยครั้งแรกสร้างประกอบด้วยวิหารกว้าง 7 วา ยาว 12 วา เจดีย์กว้าง 3 วา สูง 7 ศอก
เดิมโบราณสถานแห่งนี้เป็นที่รกร้าง มีวัชพืชขึ้นปกคลุมทั่วไป สภาพพื้นที่เป็นเนินโบราณสถาน มีลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยม แกนความยาววางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก
กรมศิลปากรได้ขุดแต่งวัดอุดมเมื่อ พ.ศ.2549 พบอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวิหารและมณฑป
วิหาร มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลดมุขหน้า วางตัวในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมณฑปก่อเชื่อมกับฐานวิหารทางด้านหลัง คงมีแนวกำแพงล้อมรอบแต่พบหลักฐานเฉพาะทิศเหนือ
มณฑป มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อสร้างติดกับท้ายวิหาร
พบการก่อสร้างต่อเติมโบราณสถาน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกมีวิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีมณฑปอยู่ด้านหลัง ครั้งที่ 2 มีการต่อเติมฐานชุกชีและขยายฐานวิหารให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับปูพื้นบนอาคารให้สูงขึ้นเล็กน้อย และก่อสร้างแนวกำแพงหรือลานรอบมณฑป ส่วนครั้งสุดท้ายมีการขยายมุขด้านหน้าให้ยื่นออกไปพร้อมกับกำแพงแก้วหรือลานรอบวิหารอีกชั้นหนึ่ง
จากรูปแบบอาคารที่พบและโบราณวัตถุสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 และใช้งานหรือต่อเติมเรื่อยมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22-23 แล้วทิ้งร้างไป