วัดมหาโพธิ์


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดศรีมหาโพธิ์

ที่ตั้ง : ถ.ริมโขง ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน

ตำบล : เวียง

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.283372 N, 100.086626 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายในเมืองเชียงแสน ริมถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 1290) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมงคล

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดศรีมหาโพธิ์เป็นโบราณสถานในเมืองเชียงแสนที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่สำคัญแห่งหนึ่งของเชียงแสน ชาวเชียงแสนให้การเคารพบูชามาก โดยทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันปากปี๋ของคนเมือง ชาวบ้านจะนำไม้ง่ามขนาดใหญ่มาค้ำกิ่งโพธิ์ (ค้ำสะหรี่) มีการประดับตกแต่งไม้ค้ำ และยังนำไม้ง่ามขนาดเล็ก (จำนวนมากกว่าอายุจริง 1 อัน) มามัดกองรวมกันไว้ใต้ต้นโพธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ (สงกรานต์)

ภายในพื้นที่มีการปลูกต้นไม้และหญ้าคลุมดิน มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดมหาโพธิ์เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ถัดเข้ามาจากถนนริมโขง (ฝั่งด้านทิศตะวันตก) เข้ามาประมาณ 80 เมตร ห่างจากกำแพงเมืองด้านทิศเหนือมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร อยู่ติดกับวัดมงคล (อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมงคล) และอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกประมาณ 200 เมตร สภาพโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

376 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

ราวพุทธศตวรรษที่ 21

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดมหาโพธิ์” เนื่องจากมีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่หน้าวัด สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดได้แก่ วิหารและเจดีย์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21

โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ วิหาร เจดีย์ อุโบสถ บ่อน้ำโบราณ อาคารก่ออิฐ 1 หลัง และส้วม?

วิหาร ปรากฏส่วนฐานก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นทั้งทางด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะด้านข้างด้านทิศเหนือมีบันได 2 บันได โดยบันไดที่ด้านข้างส่วนหน้าวิหารเชื่อมต่อกับทางเดินไปยังอุโบสถ ภายในวิหารมีเสากลมก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ 2 แถว แถวละ 4 ต้น ท้ายวิหารบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น

เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตกของวิหาร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ผังของฐานล่างสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 14 เมตร ฐานด้านล่างสุดเป็นฐานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรองรับชุดฐานบัว 2 ฐาน ซ้อนกันในผังยกเก็จ ท้องไม้ประดับลูกแก้วอกไก่ ส่วนเหนือขึ้นไปพังทลาย จากรูปแบบส่วนฐานเจดีย์ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21

อุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร โดยมีทางเดินก่ออิฐเชื่อมระหว่างกัน ลักษณะอุโบสถก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 14 เมตร ยาวประมาณ 17 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งทางด้านหน้าและด้านข้างทั้ง 2 ข้าง มีเสมาหินปักอยู่โดยรอบ ด้านทิศตะวันตกมีทางเดินก่ออิฐทอดยาวออกไป ถัดออกไปจากทางเดินด้านนี้มีบ่อน้ำโบราณก่ออิฐอยู่ 1 บ่อ

ด้านทิศเหนือของอุโบสถมีฐานสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กก่ออิฐ สันนิษฐานว่าอาจเป็นส้วม? ปัจจุบันตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่

ห่างออกไปด้านทิศตะวันออกของอุโบสถ มีอาคารขนาดเล็กก่ออิฐ 1 หลัง ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นที่ด้านหน้า ปัจจุบันบนอาคารมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ รวมทั้งมีผู้นำศาลพระภูมิที่ไม่ใช้แล้วมาวางอยู่บนอาคาร

ด้านหน้าสุดของพื้นที่วัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ โดยรอบต้นโพธิ์มีไม้ง่ามค้ำอยู่จำนวนมาก มีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทางด้านหน้า

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี