โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดต้นตอง, วัดต้นต้อง
ที่ตั้ง : ถ.พหลโยธิน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.274234 N, 100.082061 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดมุงเมือง ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1016) ฝั่งด้านทิศเหนือ ตรงข้ามฝั่งถนนกับวัดพระบวช
วัดมุงเมืองเป็นโบราณสถานในเมืองเชียงแสนที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว สภาพทั่วไปร่มรื่น มีการปลูกต้นไม้และหญ้าคลุมดิน มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
วัดมุงเมืองได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน 3 ครั้ง คือ
1. ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
2. ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 เรื่อง การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ
3. ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 10 วันที่ 24 มกราคม 2523 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
วัดมุงเมืองเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่กลางเมืองเชียงแสน ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1016) ฝั่งทิศเหนือ แวดล้อมไปด้วยชุมชน
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
วัดมุงเมืองไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารโบราณ คนท้องถิ่นเรียก “วัดต้นตอง” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระบวช (ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนพหลโยธิน) สันนิษฐานว่าแต่เดิมอาจเป็นวัดเดียวกัน แต่ภายหลังมีถนนพหลโยธินตัดคั่นกลาง ทำให้วัดแยกออกเป็น 2 ส่วน ?
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ประธานตั้งอยู่ด้านหลังวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ ด้านทิศใต้ของวิหารมีอุโบสถและวิหารขนาดเล็กอีกอย่างละ 1 หลัง
เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกสูงซ้อนกัน 3 ฐาน กว้างด้านละ 7 เมตร รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่และส่วนเรือนธาตุที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมยกเก็จ มีซุ้มจรนำสี่ด้านประดับลายปูนปั้น ส่วนล่างเป็นฐานบัวคว่ำ ส่วนบนเป็นบัวหงาย ที่ผนังมีการประดับบัวคว่ำและบัวหงายเส้นเล็กๆ ส่วนล่างและบนประดับลูกแก้วอกไก่แทรกระหว่างบัว ส่วนยอดเป็นฐานแปดเหลี่ยม 1 ฐาน ที่มุมฐานทั้ง 4 มุมประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากฐานแปดเหลี่ยมเป็นบัวปากระฆัง องค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็กสูง และบัลลังก์ตามลำดับ (เหนือขึ้นไปจากนี้หักหายไป)
วิหารของวัดมุงเมือง ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 14 เมตร ยาว 20 เมตร หันหน้าปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าเป็นห้องเปิดโล่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังก่อทึบ ประกอบด้วยฐานชุกชีหรือแท่นแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านทิศใต้มีบันไดเชื่อมต่อกับทางเดินไปยังอุโบสถและวิหารเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารและเจดีย์
อุโบสถ มีขนาดเล็ก ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หรือหันหน้าไปชนกับวิหารเล็ก ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใกล้เคียงกับอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ประตูโขงหรือประตูหลักของวัดอยู่บริเวณกำแพงแก้วด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันออก (หน้าวิหาร) ก่อด้วยอิฐถือปูน
จากองค์ประกอบเจดีย์ในส่วนต่างๆ สันนิษฐานว่าเจดีย์วัดมุงเมืองมีอายุช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 20 โดยมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากพระธาตุสองพี่น้องและเจดีย์วัดป่าสัก