โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดร้างหมายเลข 21 (นอกเมืองเชียงแสน), วัดร้างหมายเลข 21 (เมืองเชียงแสนน้อย)
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.24389 N, 100.12135 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
โบราณสถานหมายเลข 21 (นอกเมือง) ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนน้อย ริมทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 4.6 กิโลเมตร จะพบโบราณสถานหมายเลข 21 (นอกเมือง) ทางขวามือ
โบราณสถานหมายเลข 21 (นอกเมือง) เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่ไม่มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถาน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
โบราณสถานหมายเลข 21 (นอกเมือง) เป็นโบราณสถานร้างขนาดเล็กที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนน้อย ปัจจุบันอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 4.6 กิโลเมตร ห่างจากแม่น้ำโขงที่อยู่ด้านทิศเหนือประมาณ 350 เมตร ห่างจากแม่น้ำกกที่ไหลห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 700 เมตร และห่างออกไปทางทิศตะวันออกราว 1.2 กิโลเมตร
ด้านทิศเหนือติดกับโบราณสถานเป็นถนนทางหลวงหมายเลข 1129 ส่วนด้านอื่นๆ เป็นบ้านเรือนราษฎร ถัดออกไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรสำรวจและจัดทำแผนผังแนวเขตโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ขุดแต่งตามโครงการอนุรักษ์และบูรณะเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนโบราณสถานหมายเลข 21 (นอกเมือง) เป็นวัดขนาดเล็กที่อยู่ในเมืองเชียงแสนน้อยหรือเวียงเชียงแสนน้อยหรือเวียงปรึกษา
เดิมโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นดินเนินโบราณสถาน 2 เนิน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จนเมื่อ พ.ศ.2535 มีการสำรวจและจัดทำแผนผังแนวเขตโบราณสถาน พ.ศ.2548 สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ขุดแต่งตามโครงการอนุรักษ์และบูรณะเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน
หลังจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าโบราณสถานหมายเลข 21 หันหน้าไปทางทิศเหนือสู่แม่น้ำโขง ซึ่งต่างกับโบราณสถานอื่นๆ ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังการก่อสร้างเป็น เจดีย์ วิหาร และศาลา โดยวิหารและเจดีย์วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ วิหารอยู่ทางด้านหน้าและอยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ มีศาลาอยู่ทางทิศตะวันตกของเจดีย์ มีทางเดินเชื่อมต่อจากวิหารไปยังศาลา รอบฐานเจดีย์เป็นลานปูพื้นด้วยอิฐเพื่อใช้เป็นลานประทักษิณ มีแท่นบูชาขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ ส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นบันไดสำหรับให้บุคคลขึ้นสู่ฐานเขียงชั้นที่ 1 เพื่อเดินประทักษิณารอบองค์เจดีย์
ชุดฐานเจดีย์ประกอบด้วยฐานที่เป็นลานประทักษิณ 1 ฐาน ที่ลานประทักษิณติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 ของเจดีย์มีแท่นบูชา 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้นเจดีย์ ถัดขึ้นไปจึงเป็นฐานเขียง 2 ฐานรองรับฐานบัว ฐานเขียงชั้นล่างสุดนี้ทีชั้นในที่ก่อเป็นแปดเหลี่ยมก่อน แต่ชั้นนอกมาก่อเป็นสี่เหลี่ยมทับ ซึ่งสันนิษฐานได้ 2 กรณี
กรณีที่ 1 เดิมเป็นเจดีย์ที่มีฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งพบตัวอย่างที่วัดเชียงมั่น และวัดเจดีย์หลวง แต่น่าจะเป็นงานก่อพอกใหม่สมัยหลัง
กรณีที่ 2 คืออาจสร้างขึ้นในคราวเดียวกับฐานที่พอกทับ อาจเป็นการเปลี่ยนแบบหรือการก่อ 2 ชั้น เพื่อความมั่นคงแข็งแรงก็เป็นได้
ลักษณะของฐานบัวเป็นฐานบัว 2 ฐานซ้อนกันในฐานยกเก็จ ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา (แบบพระธาตุหริภุญชัย) กล่าวคือ มีฐานบัวคว่ำ-บัวหงายซ้อนกัน 2 ฐาน ที่ท้องไม้มีลูกแก้วอกไก่ประดับฐานละ 1 เส้น ส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผัง 8 เหลี่ยม เป็นชุดฐานบัว 3 ฐานในผังกลมรองรับส่วนบน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่พบมากในเมืองเชียงแสน
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 21 ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ทั้งจากแหล่งเตาพื้นเมือง แหล่งเตาล้านนา เช่น เตาสันกำแพง เวียงกาหลง เตาพาน เตาพะเยา รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานหมายเลข 21 น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22