โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021
ที่ตั้ง :
ตำบล : ศรีเทพ
อำเภอ : ศรีเทพ
จังหวัด : เพชรบูรณ์
พิกัด DD : 15.46627 N, 101.144085 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก, ลพบุรี
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำเหียง
การเดินทางจากเมืองศรีเทพ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 (สระบุรี-หล่มสัก) ถึงกิโลเมตรที่ 102 สี่แยกศรีเทพ (ใกล้ที่ว่าการอำเภอศรีเทพ) เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 2211 ไปอีกราว 10 กิโลเมตร ถึงทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้องอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ฯ
ปรางค์สองพี่น้องตั้งอยู่ภายในเมืองศรีเทพ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท รถยนต์คันละ 50 บาท สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยาย ติดต่อโดยตรงได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 67170 โทร. 0 5679 9466, 0 5655 6555
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2475
ปรางค์สองพี่น้องได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพดี และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
แม่น้ำป่าสัก ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร และลำน้ำเหียง เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก อยู่ทางตอนใต้ของเมืองศรีเทพประมาณ 8 กิโลเมตร
ปรางค์สองพี่น้องอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งอยู่ในเขตที่สูงภาคกลาง ลักษณะทั่วไปมีเทือกเขาสลับซับซ้อน วางตัวในแนวยาวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ สระบุรี และทางใต้ของนครราชสีมา มีเนินเขาต่อเนื่องคล้ายลูกคลื่นสลับกับเขาสูง เทือกเขาสำคัญได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์ อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองศรีเทพ
ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2447
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงสำรวจเมืองศรีเทพและทรงลงความเห็นว่าเมืองศรีเทพคงเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทยชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2475
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : Quaritch Wales
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2481
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, จารึก
ผลการศึกษา :
ดอกเตอร์ ควอริทช์ เวลส์ (Dr.Quaritch Wales) เขียนถึงปรางค์สองพี่น้องในบทความเรื่อง The Exploration of Sri Deva an ancient city in Indochina หนังสือ Indian art and letter vol.X No.2 ให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า จากโครงสร้างสถาปัตยกรรมเชื่อว่าเป็นสิ่งก่อสร้างของชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองศรีเทพในยุคแรกๆ และเป็นอาคารทางศาสนาพราหมณ์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินโดจีน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 แต่ถ้าศึกษาจากประติมากรรมและจารึกโบราณ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างเขมรรุ่นเก่า ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13ชื่อผู้ศึกษา : ฌอง บวสเซอลีเย่
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเย่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพว่าได้รับอิทธิพลศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย และเขมร ซึ่งเป็นแนวทางให้เกิดเป็นสกุลช่างลพบุรี และให้ความเห็นว่าโบราณสถานเป็นสิ่งก่อสร้างอย่างเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16ชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอข้อคิดเห็นใน “การกำหนดอายุปรางค์ที่เมืองศรีเทพ” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 กำหนดอายุปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องในพุทธศตวรรษที่ 17 และมีเทคนิคการก่อสร้างแบบสกุลช่างเขมรชื่อผู้ศึกษา : สุภัทรดิศ ดิศกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2522
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เผยแพร่บทความ “โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ.” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 อ้างถึงความเห็นของ ศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลีเย่ ที่คัดค้านแนวความคิดของดอกเตอร์ ควอริทช์ เวลส์ และให้ข้อสังเกตว่าปรางค์สองพี่น้องควรมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยดูจากแผนผังที่มีการเพิ่มมุมเป็นอย่างมากชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรคิดจะจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : อรนุช แสงจารึก
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, จารึก, ศึกษาความเชื่อ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
อรนุช แสงจารึก ทำสารนิพนธ์เสนอคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องคติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ เสนอว่าการแพร่หลายของไศวนิกายที่เมืองศรีเทพคงเกิดจากการขยายดินแดนของเจนละชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528, พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2527-2529 กรมศิลปากรจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และดำเนินการขุดแต่งปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพด้านทิศตะวันออกชื่อผู้ศึกษา : อนุวิทย์ เจริญศุภกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
รศ.อนุวิทย์ เจริญศุภกุล เสนอว่าวิธีการก่อสร้างและขนาดของวัสดุของศาสนสถานที่เมืองศรีเทพไม่ใช่วิธีแบบเขมร แต่เป็นเทคนิควิธีการแบบเดียวกับของทวารวดีภาคกลาง ในบทความเรื่อง “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการ อนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530, พ.ศ.2531, พ.ศ.2532, พ.ศ.2533, พ.ศ.2534, พ.ศ.2535, พ.ศ.2536, พ.ศ.2537, พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ขุดตรวจ, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2530-2543 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจัดทำแผนแม่บทเมืองศรีเทพ และดำเนินงานทางโบราณคดีโบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานขนาดเล็กในเมืองและนอกเมืองรวม 40 แห่ง สระน้ำ 19 สระ และขุดลอกคูเมืองโดยรอบ บูรณะปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรตีพิมพ์หนังสือเรื่อง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ รวบรวมและสรุปข้อมูลทางวิชาการจากผลการศึกษาที่ผ่านมาปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่กลางเมืองศรีเทพ แรกสร้างคงเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกาย สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดในพุทธศาสนา และต่อมาคงถูกทิ้งร้างไปพร้อมๆกับเมืองศรีเทพในระยะใกล้เคียงกันนี้
ที่มาชื่อปรางค์สองพี่น้องเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเนื่องจากมีปราสาทสององค์ตั้งอยู่ด้วยกัน
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทเขมร ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน มีร่องรอยปูนฉาบที่ผนังด้านนอก แผนผังประกอบด้วยปราสาทสองหลังตั้งอยู่ใกล้กันในแนวเหนือ-ใต้บนฐานไพทีเดียวกัน ปราสาททั้งสองหลังหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยปราสาทหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทองค์เล็กมีแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม มีมุขยื่นออกมาทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นช่องประตูทางเข้า อีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ที่ด้านหน้ามุขปราสาทมีฐานศิลาแลงรูปกากบาท (สันนิษฐานว่าเป็นฐานของมณฑป กรมศิลปากร, 2550, 98)
ส่วนหลังคาพังทลายจนไม่เห็นรูปทรง แต่จากการขุดแต่งพบกลีบมะเฟืองประดับหลังคาสลักจากศิลาแลง (อรนุช แสงจารึก, 2527, 6-7) จึงสันนิษฐานว่าส่วนบนคงทำเป็นเรือนซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยนาคปักจนถึงส่วนยอดที่เป็นกลศ รูปทรงโดยรวมของส่วนบนคงเป็นทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทหินพิมาย พนมรุ้ง อันเป็นพัฒนาการของปราสาทเขมรที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16
ภายในปราสาท มีการเจาะช่องซุ้มที่ผนังปราสาททั้งสามด้าน อาจเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพหรือเครื่องบูชา หรือเครื่องให้แสงสว่าง และยังพบแท่นศิลาแลงสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ (กรมศิลปากร, 2550, 97)
ส่วนปราสาทหลังเล็กทางด้านทิศใต้ แต่เดิมเหลือเพียงส่วนของเรือนธาตุช่วงล่างแต่ได้ซ่อมแซมต่อเติมขึ้นไปเพื่อติดตั้งทับหลังที่พบในบริเวณเดียวกัน (กรมศิลปากร, 2550, 100) วัสดุ และรูปทรงโดยรวมเหมือนกับปราสาทองค์ใหญ่ แต่ได้ลดความซับซ้อนของส่วนฐานและการซ้อนชั้นของเรือนธาตุลง และไม่ได้ก่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบบริเวณปรางค์สองพี่น้อง ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานโยนิ และโคนนทิ ฝังอยู่ใต้ดินในระดับฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่าเดิมปรางค์สองพี่น้องคงเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ซึ่งอาจกำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 จากทับหลังและเสาประดับกรอบประตูรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวนที่พบจากการขุดแต่ง
จากการขุดแต่งปรางค์สองพี่น้องยังพบว่า และทางเดินศิลาแลงบริเวณทางขึ้นด้านทิศใต้ของปราสาทองค์เล็ก กลุ่มอาคารที่สร้างพร้อมทางเดินศิลาแลงนี้ซึ่งอาจสันนิษฐานว่าเป็นศาลาที่พัก หรือเป็นอาคารที่เรียกว่าบรรณาลัย นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อแนวศิลาแลงเพื่อปรับพื้นองค์ปรางค์ให้เท่ากับโบราณสถานที่มีการสร้างเพิ่มเติมในภายหลัง โดยสันนิษฐานว่าการปรับปรุงพื้นที่บริเวณปรางค์สองพี่น้องคงทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากการขุดแต่งบริเวณรอบปราสาทพบชั้นดินที่แสดงลักษณะการแช่ขังของน้ำ (อรนุช แสงจารึก, 2527, 6-7)
หลักฐานอื่นที่น่าสนใจพบบริเวณปรางค์สองพี่น้อง ได้แก่ การพบเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ สลักจากศิลาทราย ที่บริเวณฐานศิลาแลงรูปกากบาท กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 13 (กรมศิลปากร, 2550, 103) เมื่อรวมกับที่เคยพบมาแล้ว 5 องค์ ทำให้มีการค้นพบรูปพระสุริยเทพที่เมืองศรีเทพรวม 6 องค์ กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 12-13 (ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จำนวน 3 องค์ พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐอเมริกา จำนวน 1 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ลพบุรี 1 องค์ และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ 1 องค์) ถึงแม้ว่าสุริยเทพที่พบที่ปรางค์สองพี่น้องอาจถูกนำมาจากที่อื่น เช่นเดียวกับอัฒจรรย์ศิลาวางอยู่ที่หน้าทางเข้าห้องครรภคฤหะของปราสาทหลังใหญ่ แต่ก็ถือเป็นหลักฐานสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงลัทธิการนับถือพระสุริยะที่เมืองศรีเทพ อันเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากเมืองทวารวดีอื่นๆที่เจริญอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
กนกวลี สุริยะธรรม. "ร่องรอยหลักฐานการนับถือศาสนาพราหมณ์ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ที่พบบริเวณชุมชนเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์" สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2550.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. “โบราณวัตถุที่ถูกลักลอบจากเมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ. ปีที่ 6, ฉบับที่ 1 (ต.ค.-พ.ย. 2522) : 41-50.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เกษมการพิมพ์, 2533.
อรนุช แสงจารึก. “คติการนับถือศาสนาพราหมณ์ลิทธิไศวนิกายที่เมืองศรีเทพ” สารนิพนธ์ (ศศ.บ. (โบราณคดี)) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมเพื่อการ อนุรักษ์ : สรุปผลการสำรวจและแนวความคิดเบื้องต้น” เมืองโบราณ. ปีที่ 13, ฉบับที่ 1 (ม.ค. - มี.ค. 2530) : 10-19.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “การกำหนดอายุปรางค์ที่เมืองศรีเทพ” เมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 4 (เมษายน-มิถุนายน 2522) : 85-104.
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร. เอกสารนำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. เอกสารอัดสำเนา. มปท. มปป.