โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดโศก
ที่ตั้ง : ถ.ทัพม่าน ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.269341 N, 100.080927 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดอโศก ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ตั้งอยู่ติดกับวัดช้างค้ำ ล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนราษฎร ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากริมถนน แต่สามารถเข้าได้ทางถนนทัพม่าน (มีป้ายบอกทางเข้าที่ริมถนน) โดยจำเป็นต้องเดินผ่านที่ดินรกร้างของเอกชน มีกำแพงและประตูรั้วกั้น
วัดอโศกเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว แต่พื้นดินโดยรอบโบราณสถานมีวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก มีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม แต่ป้ายตั้งอยู่ใกล้และหันหน้าออกสู่กำแพง ทำให้ไม่สามารถอ่านได้สะดวกนัก
นอกจากนี้ โบราณสถานวัดช้างค้ำและวัดอโศกที่ตั้งอยู่ติดกัน เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่และสำคัญของเมืองเชียงแสน แต่ถูกล้อมรอบด้วยบ้านเรือนราษฎร ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นโบราณสถานได้จากริมถนน แม้ว่าจะมีป้ายบอกทางเข้าอยู่ริมถนน แต่เนื่องจากทางเดินเข้าเป็นพื้นที่รกร้างของเอกชน มีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นสูง มีกำแพงและประตูรั้วกั้น จึงไม่สะดวกในการเข้าชม
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 เรื่อง การกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ
วัดอโศกเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงแสนทางด้านทิศตะวันตกใกล้กับประตูทัพม่านและวัดช้างค้ำ และอยู่ด้านหลังของบ้านเรือนราษฎร จึงไม่สามารถมองเห็นได้จากถนน (แต่มีป้ายบอกทางเข้าที่ริมถนน) การเข้าสู่โบราณสถานจำเป็นต้องเดินผ่านพื้นที่ของเอกชนซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างและมีกำแพงและประตูรั้ว
เดิมเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ อยู่ในบ้านราษฎร ต่อมา พ.ศ.2529-2530 กรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจและจัดทำรายงานการสำรวจโบราณสถานเมืองเชียงแสน ระบุว่าเนินดินดังกล่าวน่าจะเป็นวิหาร ขนาดประมาณ 7x18 เมตร มีชิ้นส่วนอิฐกระจาย และมีร่องรอยว่าเคยมีเสาอยู่บนเนินวิหาร
แม่น้ำโขง
เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี
เดิมบริเวณวัดอโศกเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเตี้ยๆ อยู่ในบ้านราษฎร ต่อมา พ.ศ.2529-2530 กรมศิลปากรเข้าทำการสำรวจและจัดทำรายงานการสำรวจโบราณสถานเมืองเชียงแสน ระบุว่าเนินดินดังกล่าวน่าจะเป็นวิหาร ขนาดประมาณ 7x18 เมตร มีชิ้นส่วนอิฐกระจาย และมีร่องรอยว่าเคยมีเสาอยู่บนเนินวิหาร
เนินโบราณสถานวัดอโศก มีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ประกอบด้วยเนินดินทั้งหมด 3 เนิน ผิวดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวร่วน สีน้ำตาล ปกคลุมด้วยวัชพืชและกอไผ่ทั่งทั้งบริเวณ พื้นที่ด้านทิศตะวันตก ตะวันออก และใต้ ติดกับบ้านเรือนราษฎร ส่วนทิศเหนือติดกับวัดช้างค้ำ
จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบอาคารจำนวน 4 หลัง ดังนี้
อาคารหมายเลข 1 ฐานก่ออิฐ วางตัวแนวยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็นวิหาร ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลดมุขด้านหน้าอาคาร 1 ครั้ง โดยก่อขอบอิฐกั้นระหว่างห้องโถงภายในอาคารและมุขหน้า ฐานอาคารที่พบพังทลายลง เหลือพื้นอาคาร พบว่ามีการดาดปูนเป็นพื้นอาคาร โดยรองพื้นด้วยดินอัดแน่นเท่านั้น ไม่พบอิฐปูรองพื้นดาดปูนแต่อย่างใด พบบันไดทางขึ้นอาคาร 3 แห่ง โดยบันไดหลักอยู่ด้านทิศตะวันออก (ด้านหน้า) และมีบันไดขนาดเล็กด้านข้างใกล้กับฐานชุกชีทั้งสองข้าง ฐานชุกชีและฐานอาคารพบการก่อสร้างต่อเติมถึง 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายยังมีการปักเสมาหินรอบอาคารจึงสันนิษฐานว่าในสมัยหลังอาจมีการปรับวิหารเป็นอุโบสถ ทั้งนี้ บนฐานชุกชีปรากฏชิ้นส่วนพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
อาคารหมายเลข 2 จากการขุดแต่งพบฐานอาคารก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลดมุขด้านหน้า (ด้านตะวันออก) รูปแบบและขนาดอาคาร เป็นอาคารรูปทรงเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 15 เมตร ในแนวทิศเหนือ-ใต้ และยาว 17 เมตร ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งไม่ค่อยพบในโบราณสถานเมืองเชียงแสน ตกแต่งเป็นชุดฐานหน้ากระดานรองรับบัวคว่ำและผนังที่ล้มลงในอาคาร มีบันไดด้านหน้า มีการต่อเติมอาคารเช่นเดียวกับอาคารหมายเลข 1 หรือวิหาร ทั้งยังมีทางเดิมเชื่อมระหว่างอาคารนี้กับวิหาร ส่วนท้ายอาคารพบส้วม
จากการศึกษารายละเอียดแล้วสามารถแบ่งส่วนประกอบของอาคารหมายเลข 2 นี้ได้เป็น 3 อาคารย่อย คือ อาคารด้านทิศใต้ อาคารด้านทิศเหนือ และทางเดินหรือระเบียงล้อมรอบ
อาคารหมายเลข 3 เป็นทางเดินยกสูงที่เชื่อมต่อระหว่างด้านทิศเหนือของอาคารหมายเลข 1 กับมุขหน้าด้านทิศใต้ของอาคารหมายเลข 2 (อาคารด้านทิศใต้) มีขนาดกว้าง 3เมตร ยาว 9 เมตร สูงประมาณ 1-1.5 เมตร โดยสูงเท่ากับพื้นด้านบน ของอาคารหมายเลข 1 และอาคารหมายเลข 2 พื้นทางเดินปูอิฐตลอดแนว
อาคารหมายเลข 4 ในบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของอาคารหมายเลข 1 ใกล้กับกำแพงคอนกรีต พบขอบฐานก่ออิฐขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 6 เมตร ไม่พบร่องรอยใดๆ ที่จะสามารถบ่งบอกหน้าที่การใช้งานของแนวอาคารอิฐดังกล่าว ซึ่งจากการขุดตรวจชั้นดินทางโบราณคดี ไม่พบร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงชั้นดิน เป็นไปได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจถูกรบกวนไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีต ทำให้พบหลักฐานปรากฏอยู่เท่านี้
โบราณวัตถุสำคัญที่พบในเขตโบราณสถานส่วนมากเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผา โดยเฉพาะที่ผลิตจากแหล่งเตาล้านนา ได้แก่ แหล่งเตาเวียงกาหลง (พุทธศตวรรษที่ 20 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 22) แหล่งเตาพาน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21) และแหล่งเตาสันกำแพง (พุทธศตวรรษที่ 19 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ 23 นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทราย สกุลช่างเมืองพะเยา แม้ว่าจะไม่พบเศียรที่มีพระพักตร์ แต่สามารถกำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22
โบราณสถานวัดอโศก น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 และใช้งานเรื่อยมาจนเมืองเชียงแสนเสียแก่ทัพพม่าในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 แล้วจึงทิ้งร้างไปในช่วงเวลานี้ หรืออาจจะหลังจากนี้ไม่นาน