วัดอาทิต้นแก้ว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ถ.สาย 2 ต.เวียง (เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน) อ.เชียงแสน

ตำบล : เวียง

อำเภอ : เชียงแสน

จังหวัด : เชียงราย

พิกัด DD : 20.280325 N, 100.085771 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดอาทิต้นแก้ว ตั้งอยู่บริเวณทางตอนเหนือภายในเมืองเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ริมถนนสาย 2 ฝั่งด้านตะวันออก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดอาทิต้นแก้วเป็นโบราณสถานในเมืองเชียงแสนที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว มีการปลูกหญ้าคลุมดิน แต่ขณะสำรวจหญ้าและวัชพืชอื่นๆ ขึ้นค่อนข้างสูง ทั้งยังขึ้นที่ตัวโบราณสถานด้วย ภายในพื้นที่โบราณสถานมีป้ายระบุชื่อและข้อมูลโบราณสถานสำหรับผู้เยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน, อำเภอเชียงแสน

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดอาทิต้นแก้วได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอนที่ 10 วันที่ 24 ตุลาคม 2523 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดอาทิต้นแก้ว เป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการขุดแต่ง บูรณปฏิสังขรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว ตั้งอยู่บริเวณทางตอนเหนือภายในเมืองเชียงแสน ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนและตัวอำเภอเชียงแสน ริมถนนสาย 2 ฝั่งด้านตะวันออก ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศตะวันตกประมาณ 270 เมตร

พื้นที่ด้านทิศเหนือและใต้ของวัดเป็นบ้านเรือนราษฎร ด้านทิศตะวันออกเป็นสวน (กล้วย) ของชาวบ้าน ทิศตะวันตกเป็นถนนสาย 2 โบราณสถานสำคัญของวัด ได้แก่ วิหาร อุโบสถ และเจดีย์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

377 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง

สภาพธรณีวิทยา

เมืองเชียงแสนตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ในที่ราบลุ่มเชียงแสนซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา โดยเฉพาะกรวดทราย ในยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21, พ.ศ.2049 หรือ พ.ศ.2058

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดอาทิต้นแก้วสร้างโดยพระเมืองแก้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งเสด็จยังเมืองเชียงแสนเมื่อ พ.ศ.2049 (หรือ พ.ศ.2058) ซึ่งตรงกับสมัยของหมื่นมณีครองเมืองเชียงแสน และเป็นวัดที่พระเมืองแก้วใช้เป็นที่ประชุมภิกษุสงฆ์ 3 ฝ่าย ใน พ.ศ.2058 เพื่อลดความขัดแย้งและประนีประนอมระหว่างสงฆ์สำนักต่างๆ และเป็นองค์ประธานในการบวชกุลบุตรเชียงแสนในสำนักสงฆ์เหล่านั้นสามารถทำพิธีกรรมร่วมกันได้

กล่าวตามพงศาวดารโยนกว่าวัดอาทิต้นแก้วสร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อจุลศักราช 877 (พ.ศ.2058) “....เริ่มลงมือขุดรากในวันศุกร์ เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุนถึง ณ วันศุกร์ เดือน 5 แรม 1 ค่ำ ก่อฐานเจดีย์กว้าง 15 วา สูง 1 เส้น 5 วา แล้วให้ผูกเรือขนานในแม่น้ำของ ชุมนุมพระสงฆ์ 108 รูป มีพระราชาคณะวัดโพธารามเมืองเชียงใหม่เป็นประธานกระทำสังฆกรรม แล้วบวชภิกษุอื่นอีกต่อไป รวมเป็นภิกษุบวชใหม่ 1010 รูป แล้วเสด็จจากเมืองเชียงแสนมาประทับเมืองเชียงราย....”

นอกจากในพงศาวดารโยนกแล้ว ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ก็ยังปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับวัดอาทิต้นแก้วว่า “พระเมืองแก้วลูกพระเมืองยอด ได้กินเมืองเชียงใหม่ได้ 2 แล้ว ท่านก็เสด็จขึ้นมาอยู่กระทำบุญให้ทานยังเมืองเงินยางเชียงแสนที่นี้แล ท่านก็มีปราสาทสัทธาในบวรพุทธศาสนามากนัก

ศักราชได้ 876 ตัวปีกาบเสด (พ.ศ.2057) ท่านสร้างวัดหลังหนึ่งในเวียงเชียงแสนที่นั้น วิหารกว้าง 7 วา สูง 9 วา สร้างเจดีย์กว้าง 4 วา สูง 12 วา บรรจุธาตุย่อย 868 พระองค์ สร้างธรรมปิฏก 84,000 พระธรรมขันธ์สำเร็จแล้วบริบูรณ์ จึงใส่ชื่อวัดอาทิตย์แก้วนั้นแล”

โบราณสถานสำคัญของวัด ได้แก่ วิหาร อุโบสถ และเจดีย์

วิหารตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือทางทิศตะวันออกของเจดีย์ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน ผนังสูง หลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง วิหารหลังนี้สร้างทับวิหารหลังเดิม มีบันไดตัวเหงาอยู่ทางทิศใต้ เชื่อมต่อกับทางเดินไปอุโบสถขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์

เจดีย์วัดอาทิต้นแก้วเป็นเจดีย์ก่ออิฐ พบว่ามีการก่อซ้อนกัน 2 องค์ โดยองค์นอกสร้างทับองค์ในไว้ กรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนเจดีย์องค์นอกออกบางส่วน เพื่อแสดงให้เห็นเจดีย์องค์ใน

สำหรับรูปแบบเจดีย์องค์นอกเป็นทรงระฆังแบบล้านนาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวสูง 3 ฐาน ประดับลูกแก้ว 2 รองรับองค์ระฆังอยู่ในฐาน 8 เหลี่ยม คล้ายเจดีย์วัดแสนเมืองมา วัดพระธาตุสองพี่น้อง และวัดพระยืน ซึ่งเป็นรุปแบบที่นิยมสร้างและพบมากที่สุดในเมืองเชียงแสนช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21

ส่วนรูปแบบเจดีย์องค์ใน เป็นเจดีย์ยอดดอกบัวตูม ที่มีฐานสูง (สำหรับฐานที่สูงนั้น อาจมีลักษณะเป็นเรือนธาตุ คล้ายเจดีย์องค์ในของวัดพระบวช ที่ปรากฏเรือนธาตุอยู่ต่ำเกือบติดพื้น โดยมีฐานเตี้ยๆ รองรับก็ได้) คล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย แต่มีการปรับแบบไม่ให้มีเรือนธาตุ จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์ในนี้ได้รับอิทธิพลศิลปะสุทัยในระยะแรกๆ โดยที่ล้านนาได้รับอิทธิพลสุโขทัยอย่างมากในสมัยพระเจ้ากือนา ที่ให้อัญเชิญพระสุมนเถรจากสุโบทัยขึ้นมาทำสังฆกรรมพระภิกษุล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (พ.ศ.1913) จึงคาดว่าเจดีย์องค์ในคงสร้างในสมัยพระเจ้ากือนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20

เหตุผลในการก่อครอบเจดีย์วัดอาทิต้นแก้วนั้น เชื่อว่ากระทำขึ้นเพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่ก่อครอบเจดีย์วัดพระบวช หรืออาจมีผลมาจากการขัดแย้งระหว่างนิกายทางศาสนา คือ นิกายฝ่ายสวนดอกกับนิกายฝ่ายป่าแดงหลวง

สำหรับโบราณวัตถุที่ขุดพบเมื่อ พ.ศ.2538 ส่วนใหญ่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 ร่วมสมัยกับเจดีย์องค์นอก เช่น พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยที่ได้รับอิทธิพลสุโขทัยแล้ว เศียรพระพุทธรูปสำริด และเศียรพระพุทธรูปหินทราย เป็นต้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี