ป้อม คูเมือง กำแพงเมืองเชียงใหม่


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เทศบาลนครเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.787774 N, 98.993222 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ป้อม คูเมือง กำแงเมืองเชียงใหม่อยู่ในตัวจังหวัดเชียงใหม่ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

1.ประตูท่าแพ จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไปอีก 180 เมตร เลี้ยงซ้ายเข้าถนนราชดำเนิน ประมาณ 550 เมตร จะถึงประตูท่าแพร

2.ประตูเชียงใหม่ จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 900 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ซอย 1 ตรงไป 110 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนราชภาคินัย ตรงไป 90 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนมูลเมือง ตรงไป120 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนนันทาราม ตรงไปประมาณ 110 เมตร จะเจอประตูเชียงใหม่

3.ประตูช้างเผือก จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไปอีก 100 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนราชวิถี ประมาณ 250 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชภาคินัย ตรงไป 500 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีภูมิ ตรงไป 350 เมตรจะถึงประตูช้างเผือก

4.ประตูแสนปรุง จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไปอีก 100 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชวิถี ตรงไป 190 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจาบาน ตรงไป 110 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอารักษ์ ตรงไป 800 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอารักษ์ ตรงไป 1 กิโลเมตร เข้าสู่ถนนบำรุงบุรี จะถึงประตูแสนปรุง

5.ประตูสวนดอก จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 100 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชวิถึ ตรงไป 190 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจาบาน ตรงไป 110 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอารักษ์ 5 ตรงไป 800 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอารักษ์ ตรงไปอีก 80 เมตร จะถึงประตูสวนดอก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ตามแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ คือ

1.ประตูท่าแพ  เปิดเป็นถนนคนเดิน เปิดเฉพาะวันอาทิตย์เวลา 17.00-22.00 น. เป็นแหล่งสินค้าและอาหารพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่

2.ประตูเชียงใหม่ บริเวณใกล้กับประตูเชียงใหม่มีถนนคนเดินวัวลาย เปิดเฉพาะวันเสาร์ เวลา 17.00-22.00 น.มีขนาดเล็กกว่าถนนคนเดินที่ประตูท่าแพ (ถนนคนเดินเชียงใหม่ ถนนคนเดินท่าแพ ถนนคนเดินวัวลาย 2559)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์, เทศบาลนครเชียงใหม่

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1.กำแพงเมือง-คูเมือง(ชั้นนอก) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 95 ตอนที่ 98 วันที่ประกาศ 19 กันยายน พ.ศ.2521

2.กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3682  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองเชียงใหม่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตก และสายน้ำแม่ปิงทางด้านทิศตะวันออก มีกำแพงเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่เป็นกำแพงอิฐรูปสี่เหลี่ยม (1,600 x 1,600 เมตร) ล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมือง คือ ประตูท่าแพ ทางด้านทิศตะวันออก ประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง ทางด้านทิศใต้ ประตูสวนดอก ทางด้านทิศตะวันตก  และประตูช้างเผือก ทางด้านทิศเหนือ

2.ส่วนกำแพงดิน รูปโค้งคล้ายวงกลม โอบล้อมมุมกำแพงอิฐด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีประตูระแกง ประตูขัวก้อม และประตูหายยา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 112-122)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

310 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19-24

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : วิชัย ตันกิตติกร, วิเศษ เพชรประดับ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ห.จ.ก.คชสารเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้าง

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 4 กองโบราณคดี และห.จ.ก.คชสารเฟอร์นิเจอร์และก่อสร้าง ขุดตรวจพบพบฐานกำแพงอิฐบริเวณประตูท่าแพ พบแนวอิฐกำหนดอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังจากนี้ แนวกำแพงที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ได้อยู่ในแนวของฐานกำแพงเดิม

ชื่อผู้ศึกษา : วรวิทย์ หัศภาค

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ขุดค้น

ผลการศึกษา :

ผลการศึกษาพบว่า กำแพงอิฐและกำแพงดินมีหน้าที่การใช้งานหลักคือ ป้องกันข้าศึกในยามสงคราม ส่วนกำแพงดินจะมีหน้าที่เพิ่มเติมคือ ใช้ป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากทางด้านทิศตะวันออกของเมือง

ชื่อผู้ศึกษา : ห.จ.ก.เฌอ กรีน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ห.จ.ก.เฌอ กรีน โดยความควบคุมของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ศึกษากำแพงเมืองเชียงใหม่พบว่า เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้ 2 ส่วน คือ กำแพงเมืองชั้นในก่อด้วยอิฐและกำแพงเมืองชั้นนอกซึ่งเป็นกำแพงดิน โดยสร้างให้กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกมีฐานรากที่ฝังลึกเพื่อรับแรงปะทะของน้ำ กำแพงด้านทิศตะวันตก ก่อเป็นกำแพงอิฐครอบแกนดิน เนื่องจากกระแสน้ำมีอัตราเร่งต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณแจ่งศรีภูมิมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ 3 ครั้ง คือ 1.ราวพ.ศ.2101-2204 ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าในสมัยรัชกาลใด 2.ช่วง พ.ศ.2344 ในสมัยพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ 3.ช่วง พ.ศ.2529 โดยหน่วยศิลปากรที่ 4 กองโบราณคดีกรมศิลปากร ครอบคลุมพื้นที่แจ่งศรีภูมิทั้งหมด ส่วนกำแพงดินด้านนอก สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่รัชกาลของพญาติโลกราชแล้ว มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

ชื่อผู้ศึกษา : หรรษลัคน์ ทนุทองโพธิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

จาก “รายงานการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงใหม่ บริเวณประตูช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่” พบว่าบริเวณประตูช้างเผือกทางด้านทิศตะวันตกสร้างทับซ้อนกัน 4 สมัย ปัจจุบันปรากฏกำแพงที่สร้างในสมัยของพระเจ้ากาวิละอย่างชัดเจน เป็นกำแพงอิฐมีแกนดิน ส่วนกำแพงด้านที่ติดกับเทศบาลมีการสร้างประตูเมืองครอบทับ ส่วนกำแพงเมืองเชียงใหม่บริเวณประตูช้างเผือกใช้เทคนิคการก่อสร้างด้วยการก่อด้วยอิฐสอดิน เรียงอิฐแบบขวางสลับยาว (English Bond) และแบบผสม การก่อกำแพงเมืองด้านนอกและด้านในใช้ดินเป็นแกนกำแพง และมีการสร้างกำแพงซ้อนทับแนวกำแพงสมัยเก่าอย่างน้อยสองสมัย (เฉพาะกำแพงอิฐ)

ชื่อผู้ศึกษา : สรัสวดี อ๋องสกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์, จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น

ผลการศึกษา :

ศึกษาเรื่อง “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน” พบว่ากำแพงเมืองเชียงใหม่ มี 2 ชั้น คือ กำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยม และกำแพงชั้นนอกหรือกำแพงดิน มีรายละเอียด ดังนี้ 1.กำแพงเมืองชั้นในสร้างในคราวเดียวกันกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทั้งวัดและวัง มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีแจ่งหรือมุมเมืองทั้ง 4 ทิศ มีประตู 5 ประตู เชื่อว่าแจ่งทั้ง 4 มีเทวดารักษา ทำหน้าที่ป้องกันศัตรู 2.กำแพงเมืองชั้นนอก หรือกำแพงดินเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวโอบล้อมกำแพงชั้นใน มีประตู 5 แห่ง คือ ประตูช้างม่อย ประตูท่าแพ หรือประตูท่าแพชั้นนอก ประตูหล่ายแคง ประตูขัวก้อม และประตูไหยา หรือหายยา

ชื่อผู้ศึกษา : ทศพร โสดาบรรลุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

เชียงใหม่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พร้อมพื้นที่โค้ง มีกำแพงเมืองมีสามชั้น มีประตูเมืองทั้งสี่ด้าน โดยประตูเวียงเชียงใหม่ระยะแรกสร้างมีประตูเวียง 12 ประตู สอดคล้องกับระยะเวลาเดินทางของพระอาทิตย์ในรอบปีที่เคลื่อนผ่าน 12 นักษัตร โดยมีศูนย์กลางสำคัญคือ เสาอินทขีลในพื้นที่กลางเวียง นอกจากนี้กำแพงเมืองเชียงใหม่ยังมีประโยชน์ในการแบ่งพื้นที่การใช้สอยภายในเมืองออกเป็นส่วนๆอีกด้วย

ชื่อผู้ศึกษา : ศศิธร อุ้ยเจริญ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ผลการศึกษาพบว่า การสร้างป้อมคูเมืองเชียงใหม่สร้างครั้งแรกในสมัยพญามังราย โดยเริ่มจากการกรุยเขตที่จะขุดคูเมืองและก่อกำแพงเมืองในปีพ.ศ.1835 แล้วเสร็จในปีพ.ศ.1839 การขุดคูเมืองเริ่มจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แจ่งศรีภูมิอันเป็นศรีพระนคร แล้วจึงอ้อมล้อมไปทางทิศใต้ แล้ววงรอบให้บรรจบกันทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมือง 4 แห่ง คือ ประตูหัวเวียง ประตูท่าแพ ประตูท้ายเวียง และประตูสวนดอกและมีการการสร้างป้อมคูเมืองเชียงใหม่มีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยหลังคือ 1.ประตูสวนแร ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกนมหาราช 2.ประตูศรีภูมิ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นประตูช้างม่อย) คติความเชื่อ และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างป้อมคูเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏมีการใช้คติแผนภาพวัสดุปุรุษมณฑล คือการวางผังเมืองเป็นรูปเรขาคณิต ความเชื่อโหราศาสตร์ทักษาและดาราศาสตร์ รวมถึงความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

มีการรวบรวมฐานข้อมูลจารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พบจารึกที่เกี่ยวข้องกับป้อม คูเมือง กำแพงเมืองเชียงใหม่ ดังนี้ 1.จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) 2.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่1 (ชม.36/1) 3.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 2 (ชม.36/2) 4.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 3 (ชม.36/3) 5.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 4 6.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 5 7.จารึกประตูสวนดอก 1 (ชม.17/1) 8.จารึกประตูสวนดอก 2 (ชม.17/2) 9.จารึกประตูสวนดอก 3 (ชม.17/3) 10.จารึกประตูเมืองเชียงใหม่ (ชม.173/1) และ (ชม.173/2) 11.จารึกประตูสวนปรุง หลักที่ 1 (ชม.174/1) และจารึกประตูสวนปรุง หลักที่ 2 (ชม.174/2)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ป้อมค่าย, เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

การสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ในครั้งแรกสร้างพร้อมกันกับการสร้างเมืองในปี พ.ศ.1835  โดยเริ่มขุดคูเมืองจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แจ่งศรีภูมิอันเป็นศรีพระนคร แล้วจึงอ้อมล้อมไปทางทิศใต้ แล้ววงรอบให้บรรจบกันทั้ง 4 ด้าน โดยใช้ดินที่ขุดคูเมืองมาถมเป็นแนวกำแพง แล้วก่ออิฐขนาบ 2 ข้าง เพื่อกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงก็ปูอิฐตลอดแนว ซึ่งกำแพงที่สร้างขึ้นในครั้งแรกนี้เป็นกำแพงเมืองชั้นใน (ศศิธร อุ้ยเจริญ 2547 : 22) มีประตู 5 แห่ง คือ

1.ประตูหัวเวียง หรือประตูช้างเผือก อยู่ทางทิศเหนือ ถือเป็นเดชเมือง มีอำนาจและความยิ่งใหญ่ กษัตริย์จะเข้าเมืองที่ประตูนี้ ประตูหัวเวียงเปลี่ยนชื่อเป็นประตูช้างเผือกเมือประมาณพุทธศตวรรษที่ 23

2.ประตูเชียงเรือก ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออก เป็นย่านชุมชนค้าขาย คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ประตูเชียงเรือกเปลี่ยนชื่อเป็นประตูท่าแพชั้นใน เพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอกในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ (พ.ศ.2416-2440)

3.ประตูเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ อดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปยังเวียงกุมกามและลำพูน

4.ประตูแสนปุง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้กับประตูเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าเจาะเพิ่งภายหลัง ด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะซึ่งมีเตาปุงไว้หล่อโลหะจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่าชื่อประตูอาจมาจากเตาปุง (เตาไฟ) ที่มากมายนี่เอง

จากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่บริเวณนี้ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงใช้เป็นประตูออกไปสู่สุสาน

5.ประตูสวนดอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นทางไปสู่อุทยานของกษัตริย์

นอกจากนี้ยังมีแจ่งหรือมุมเมืองทั้ง 4 ทิศ เชื่อว่าแจ่งทั้ง 4 มีเทวดารักษา ทำหน้าที่ป้องกันศัตรู ดังนี้

1.แจ่งศรีภูมิ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการสร้างกำแพงเมืองใน พ.ศ.1839 เริ่มที่แจ่งศรีภูมิ เนื่องจากมีต้นนิโครธที่คนพื้นเมืองเชื่อว่าเป็นสิริมงคลและมีเดชานุภาพ

2.แจ่งขะต้ำ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ขะต้ำ หมายถึง จับปลา เนื่องจากแจ่งนี้อยู่ต่ำกว่าแจ่งอื่นๆ เป็นบริเวณที่คลองส่งน้ำไหลมาบรรจบกัน ทำให้มีปลาชุมชุม

3. แจ่งกู่เฮือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณด้านหน้าแจ่งเคยเป็นที่บรรจุอัฐิหมื่นเฮือง จึงเรียก “แจ่งกู่เฮือง” ตามความเชื่อเรื่องทิศถือว่าพื้นที่ด้านนี้เป็นกาลกิณีเมือง จึงนำความไม่ดีงามมาไว้ด้านนี้

4. แจ่งหัวลิน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นบริเวณที่สูงกว่าด้านอื่น เป็นจุดที่รับน้ำเข้าเมือง แล้วจึงลำเลียงไปตามคลองส่งน้ำทั้ง 4 สาย ทั่วเวียงเชียงใหม่ 

สำหรับกำแพงเมืองชั้นนอก หรือกำแพงดินเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวโอบล้อมกำแพงชั้นใน เริ่มจากแจ่งศรีขรภูมิเลียบตามลำน้ำแม่ข่าลงมาทิศตะวันออกมาทางทิศใต้มาบรรจบที่กำแพงชั้นในที่แจ่งกู่เฮือง สำหรับประตูที่กำแพงชั้นนอกมี 5 แห่ง คือ

1. ประตูช้างม่อย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง สันนิษฐานว่าเจาะเพิ่มในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากมีประชากรหนาแน่น ต่อมาถูกรื้อทิ้งหลังพ.ศ.2447 และปรับเป็นถนน

2. ประตูท่าแพ หรือประตูท่าแพชั้นนอก อยู่ทางด้านตะวันออกของเมือง เป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นประตูท่าแพชั้นนอกค่อยๆสลายไป เหลือเพียงประตูท่าแพชั้นใน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ประตูท่าแพ

3. ประตูหล่ายแคง อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประตูที่พานักโทษออกไปแดนประหารที่สุสานท่าวังตาล

4.ประตูขัวก้อม อยู่ทางทิศใต้ ชื่อนี้ปรากฏในโคลง  มังทรารบเชียงใหม่ สันนิษฐานว่าอย่างน้อยน่าจะมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2158 แล้ว

5. ประตูไหยา หรือหายยา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นตำแหน่งกาลกิณีเมือง ใช้เป็นทางเคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่สุสานหายยามาแต่ครั้งโบราณ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ เช่น เครื่องปั้นดินเผาจากเตาเวียงกาหลง สันนิษฐานได้ว่ากำแพงเมืองชั้นนอกสร้างหลังกำแพงเมืองชั้นใน อาจราวพุทธศตวรรษที่ 22 (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 :  113-122)

กำแพงเมืองเชียงใหม่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรกประมาณ พ.ศ.2060 ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว มีการเสริมกำแพงให้กว้างขึ้นประมาณ 2 วา ครั้นถึงสมัยพระเจ้าเมกุฎิ มีการสร้างกำแพงเมืองชั้นนอก ตามคำแนะนำของขุนนางพม่า เชียงใหม่ตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลา 262 ปี ทำให้ป้อมคูเมืองเชียงใหม่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งปีพ.ศ.2339 ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ ได้กอบกู้เมืองเชียงใหม่กลับมาได้อีกครั้ง และได้บูรณปฏิสังขรณ์ป้อมปราการ รวมทั้งขุดลอกคูเมืองใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ (พระยาประชากิจกรจักร 2557 : 444)

ป้อม คูเมือง กำแพงเมืองเชียงใหมมีประโยชน์ในการป้องกันข้าศึกแล้วยังใช้ประโยชน์ในการกำหนดพื้นที่การใช้สอยของเมืองเชียงใหม่ โดยการใช้กำแพงสามชั้น หรือ “ตรีบูร” แบ่งพื้นที่ความสำคัญของเมืองออกเป็นสามส่วน คือ ชั้นกลางคือส่วนสะดือเมืองเป็นที่ตั้งของเสาอินทขีลและไม้เสื้อเมือง ถัดมาเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์ มีคูน้ำล้อมรอบกำแพงจัตุรัส บริเวณถัดมาเป็นพื้นที่อาศัยของกลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมรองลงมา ส่วนบริเวณที่เป็นเขตวงน้ำกำหนดให้เป็นป่าช้า (ทศพร โสดาบรรลุ 2546 : 149-150)

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงรายละเอียดเดือน ปี ขนาดการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่เมื่อคราวแรกสร้างในสมัยพญามังราย ในสมัยพญาแสนภู ปรากฏชื่อประตูเมืองเชียงใหม่ 3 แห่ง คือ ประตูเชียงใหม่ ประตูสวนดอก และประตูหัวเวียง (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค วัยอาจ 2543 : 46-47,59)

2.พงศาวดารโยนก กล่าวว่าเจ้าเมงรายตั้งเมืองเชียงใหม่บริเวณเชิงเขาอุสุจบรรพต คือ ป่าเลาให้เป็นชัยภูมิกลางเมือง แล้วจัดตั้งราชมณเฑียร และสร้างกำแพงเมือง (พระยาประชากิจกรจักร 2557 : 284-288)

3.ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงการขุดคลองและสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ.1869 พญาผายูโปรดให้ขุดขยายคูเมืองให้มีขนาดกว้าง 9 วา พร้อมทั้งก่อกำแพงอิฐ (ร.ต.ท.แสง มนวิทูร ผู้แปล 2518 : 108)

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

1.จารึกวัดเชียงมั่น(ชม.1) พ.ศ.2124 กล่าวถึงการสร้างกำแพงเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราชว่าสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม (กรมศิลปากร 2551 : 3)

2.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่1 (ชม.36/1) เป็นการจารึกแบบกลับข้าง กลับหัว ลักษณะคล้ายกับเงาในกระจก ด้านที่ 1 กล่าวถึงเสาอินทขิล ส่วนด้านที่ 2 เป็นการจารึกเลขดวงชะตา (กรมศิลปากร 2551 : 115-116)

3.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 2 (ชม.36/2) ด้านที่ 1 กล่าวถึงคาถาชินบัญชร คาถาหัวใจไก่เถื่อน เป็นคาถาป้องกันเพลิงและทำให้โชคดี คาถาหัวใจอริยสัจ4 และคาถาห้ามธนู ส่วนด้านที่ 2 กล่าวถึงยันต์โสฬสมหามงคล (กรมศิลปากร 2551 : 117-118)

4.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 3 (ชม.36/3) จารึกยันต์โสฬสมงคล (กรมศิลปากร 2551 : 119)

5.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 4 จารึกหัวใจพระอารย์ (กรมศิลปากร 2551 : 119)

6.จารึกประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 5 จารึกหัวใจพระอารย์ (กรมศิลปากร 2551 : 119)

7.จารึกประตูสวนดอก 1 (ชม.17/1) จารึกยันต์เหมือนกับจารึกประตูท่าแพด้านที่1 และจารึกประตูช้างเผือก (กรมศิลปากร 2551 : 129)

8.จารึกประตูสวนดอก 2 (ชม.17/2) จารึกยันต์เก้าดวง (กรมศิลปากร 2551 : 129)

9.จารึกประตูสวนดอก 3 (ชม.17/3) จารึกยันต์โสฬสมงคลและยันต์ตรีนิสิงเห (กรมศิลปากร 2551 : 129)

10.จารึกประตูเมืองเชียงใหม่ (ชม.173/1) และ (ชม.173/2) เป็นหลักเก่าและหลักใหม่ตามลำดับ โดยหลักเก่าเหมือนกับที่ประตูท่าแพ ประตูสวนดอก และประตูสวนดอก ส่วนหลักใหม่เขียนไม่ค่อยจะถูกต้องจึงไม่มีการอ่าน การถ่ายถอด (กรมศิลปากร 2551 : 148-150)

11.จารึกประตูสวนปรุง หลักที่ 1 (ชม.174/1) และจารึกประตูสวนปรุง หลักที่ 2 (ชม.174/2) (กรมศิลปากร 2551 : 151-152)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร, 2551.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.

ทศพร โสดาบรรลุ. “คติการสร้างเมืองเชียงใหม่ในวัฒนธรรมล้านนา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) [ออนไลน์].เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

พระยาประชากิจกรจักร. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

รัตนปัญญาเถระ.  ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2518.

วิชัย ตันกิตติกร และวิเศษ เพชรประดับ. กำแพงเมืองเชียงใหม่ อนุสรณ์เนื่องในพิธีเปิดและฉลองประตูท่าแพ 13 เม.ย.2529. เชียงใหม่ : ทิพย์เนตรการพิมพ์, 2528.

วรวิทย์ หัศภาค. “การศึกษาความสัมพันธ์ของกำแพงดิน และกำแพงเมืองเชียงใหม่.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.

ศศิธร อุ้ยเจริญ. “ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมือง กำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีกำแพงเมืองเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2542.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอ กรีน. รายงานการขุดค้นและบูรณะกำแพงเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ดาวคอมพิวกราฟิก, 2540.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ตรัสวิน (ซิลเวอร์บุคส์), 2543.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง