วัดเชียงมั่น


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดเชียงหมั้น

ที่ตั้ง : เลขที่ 171 บ้านเชียงมั่น ถ.ราชภาคินัย ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : ศรีภูมิ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.793794 N, 98.989079 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ตรงไปตามถนนอินทรวโรรส ประมาณ 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 100 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนราชวิถี ตรงไป 250 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชภาคินัย ตรงไป 350 เมตร เลี้ยวซ้าย ตรงไปอีก 20 เมตร จะถึงวัดเชียงมั่น

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเชียงมั่นเป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน วิหารและอุโบสถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 08:00–17:00 น. นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลสลากภัตต์ หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดเชียงมั่นก่อนที่จะทำที่วัดอื่นๆต่อไป (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 1964)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเชียงมั่น, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1.การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3682 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2.การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 145 วันที่ 21 สิงหาคม 2522

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปัจจุบันวัดเชียงมั่นยังคงมีการใช้งานอยู่ มีพระสงฆ์จำพรรษา และยังคงมีการประกอบศาสนกิจเป็นประจำ ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือภายในเมืองเก่า

เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตก และสายน้ำแม่ปิงทางด้านทิศตะวันออก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

310 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ฉ่ำ ทองคำวรรณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2505, พ.ศ.2508

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฉ่ำ ทองคำวรรณ เผยแพร่คำอ่านจารึกวัดเชียงมั่น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

หน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ กล่าวถึงประวัติของวัดเชียงมั่นและข้อตกลงระหว่างหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่กับผู้รับเหมาที่จะทำการบูรณะแผ่นทองจังโก้เกี่ยวกับขั้นตอน วัสดุ รวมถึงช่างที่ปฏิบัติงานด้วย

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

มีการรวบรวมฐานข้อมูลจารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พบจารึกที่เกี่ยวข้องกับวัดเชียงมั่น คือ จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) และจารึกวัดเชียงมั่น 2 (ชม.29)

ชื่อผู้ศึกษา : นวพรรณ ภัทรมูล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยิวทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหาจารึกที่เกี่ยวข้องกับวัดเชียงมั่น คือ จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) จารึกวัดเชียงมั่น 2 (ชม.29) จารึกฐานพระพุทธรูปวัดเชียงมั่น (ชม.71) และจารึกฐานพระเสตังคมณี (ชม.63)

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเชียงมั่น เป็นวัดที่ยังคงมีการใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย เดิมคือ “เวียงเหล็ก” เป็นที่ประทับชั่วคราว (หอนอน) ของพญาเม็งรายที่บ้านเชียงมั่น เมื่อคราวที่เริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ เชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็น “เหล่าฅาสวนขวัญ” ซึ่งเป็นที่อยู่ของพญาทั้งหลายมาก่อน

สำหรับสภาพทั่วไปของวัดเชียงมั่นเดิมเป็นป่าลอมคาเป็นที่อยู่ของฟานเผือก 2 ตัว ภายนอกลอมคาเป็นทุ่งราบ (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ 2543 : 42-43)

เมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์คร่อมหอนอน หลังจากนั้นเมื่อพระองค์ทรงแปรพระราชฐานไปยังเวียงแก้ว (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้วก็จึงทรงอุทิศคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนาตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของในกำแพงเวียงเชียงใหม่ และพระราชทานนามว่า “วัดเชียงมั่น” สันนิษฐานว่าเจดีย์พังลงมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระองค์จึงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลาแลงใน พ.ศ.2014

เมื่อเมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธรรมิกราชเจ้า) โปรดฯ ให้พญาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาเสนะกำแพง และประตูโขงวัดเชียงมั่นใน พ.ศ.2101 อย่างไรก็ตามวัดเชียงมั่นก็ถูกทิ้งร้างไปในที่สุด เนื่องจากสภาวะสงคราม

เมื่อกอบกู้เอกราชกลับมาจากพม่าได้จึงมีการบูรณะวัดเชียงมั่นอีกครั้งในสมัยของพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ.2325-2356) และเมื่อพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุติกนิกายแพร่เข้ามาในล้านนาในสมัยของพระเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ.2440-2452) พระองค์ได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่นเป็นครั้งแรก ภายหลังย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับ (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 1962-1964)

สิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุที่สำคัญ

1.วิหาร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ ประดิษฐานพระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณี ซึ่งเป็นพระบูชาประจำองค์พระนางจามเทวีที่พญาเม็งรายอัญเชิญมาจากกรุงหริภุญไชย เมื่อ พ.ศ.1824 และพระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี ศิลปะคุปตะของอินเดีย

วิหารหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมหลายครั้ง แต่ยังคงรูปแบบศิลปะล้านนาโดยรวม

2.หอไตร อยู่ทางด้านทิศใต้ เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ใช้เป็นห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ของวัด ชั้นบนเป็นอาคารไม้รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา

3.อุโบสถ ตั้งอยู่ด้านใต้ของวัด รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ไม่พบว่ามีการสร้างเมื่อใด แต่ราว พ.ศ.2347 พระเจ้ากาวิละกับพระมหาสังฆราชเจ้า ได้สร้างปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดเชียงมั่น แต่จากภาพถ่ายในปัจจุบันเข้าใจว่าลายประดับหน้าแหนบ โก่งคิ้ว คงมีการซ่อมแซมขึ้นภายหลังสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ ราวพ.ศ.2416  (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 2542 : 80) ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐานศิลาจารึก หลักที่ 76  (วัดเชียงมั่น) (สำนักศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ 2536 : 1-2)

4.เจดีย์ รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1840 ครั้งสถาปนาเมืองเชียงใหม่ เป็นเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น บนฐานประดับปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัวโดยรอบ 15 เชือก ประดับช้างประจำมุมๆ ละ 1 เชือก ระหว่างช้างปูนปั้นแต่ละเชือกประดับด้วยเสาลายเป็นภาพหน้าตัดของสถาปัตยกรรมอันประกอบด้วยฐานเขียง 2 ชั้น บัวคว่ำ ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ 4 เส้น  และบัวหงายรับกับพื้นชั้นบนของฐานเขียงชั้นที่ 2

ด้านทิศตะวันออกมีบันไดนาคทอดยาวนับแต่สวนบนฐานเขียงชั้นที่ 2 ลงมาจนถึงพื้น ถัดไปเป็นฐานปัทม์ย่อเก็จ คั่นส่วนท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น รองรับองค์เรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยม เพิ่มมุมไม้ 12 องค์ องค์เรือนธาตุแต่ละด้านประดับซุ้มจรนำ ด้านละ 3 ซุ้ม ภายในประดิษฐานสิ่งสักการะ ยกเว้นซุ้มกลางด้านทิศตะวันตกซึ่งปิดทับด้วยประตูจำลองประดับลวดลายปูนปั้น ส่วนบนของซุ้มทั้ง 4 ชั้น ประดับลูกแก้วอกไก่ บัวหงาย และหน้ากระดาน รองรับจรนำของแต่ละซุ้ม องค์เรือนธาตุประดับด้วยลายปูนปั้น ถัดไปเป็นบัวถลา 2 ชั้น มาลัยเถาแปดเหลี่ยม 4 ชั้น องค์ระฆัง บัลลังค์ คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น วงฉัตรโลหะฉลุลายประดับด้วยก้านตาล ปล้องไฉน ปลียอด เม็ดน้ำค้าง (กรมศิลปากร 2559)

5.กลุ่มพระพุทธรูปในอุโบสถ ที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร มีจารึกระบุสร้างเมื่อ พ.ศ.2008 เป็นพระพุทธรูปที่มีจารึกเก่าแก่ที่สุดที่พบในเมืองเชียงใหม่ และน่าจะเป็นรูปแบบที่ปรากฏขึ้นในล้านนาก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังดินแดนใกล้เคียง พบมาในเมืองน่าน และหลวงพระบาง

6.พระพุทธรูปศิลา ข้างซ้ายมีรูปช้างนาฬาคีรี ข้างขวาเป็นรูปพระอานนท์ เป็นพระพุทธรูปในศิลปะปาละ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 มีตำนานเล่าว่าได้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาจากลังกา ผ่านศรีสัชนาลัย  ลำปาง และเชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาราว พ.ศ.2334 พระเจ้ากาวิละได้สร้างฐานพระพร้อมซุ้มทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 2542 : 80-81)

7.พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปที่แกะจากผลึกหินขาวใส ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ตามตำนานกล่าวว่าประดิษฐานที่กรุงละโว้ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวีวงศ์อัญเชิญมาที่หริภุญชัย ต่อมาเมื่อพญาเมงรายได้ครองเมืองหริภุญชัยจึงได้อัญเชิญมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ จนเมื่อสร้างวัดเชียงมั่นเสร็จจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดเชียงมั่น ต่อมาถูกอัญเชิญไปเมืองหลวงพระบางพร้อมพระแก้วมรกต และถูกอัญเชิญกลับมาเชียงใหม่อีกครั้งในสมัยพระเจ้าเมกุฏ (ไข่มุก อุทยาวลี 2542 : 4342-4343)

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงพญามังรายเมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จในปีพ.ศ.1839 แล้วจึงให้สร้างเจดีย์ขึ้นบริเวณที่เป็นหอนอนที่บ้านเชียงมั่นที่พญามังรายสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราวเมื่อครั้งเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ (อรุณรัตน์ วิเชียรแก้ว และเดวิด เค วัยอาจ 2543 : 46-47)

2.ตำนานพระศิลา วัดเชียงมั่น ตามตำนานกล่าวว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ 7 ปี 7 เดือน และ7 วัน พระเจ้าอชาตศัตตุราช มีประสงค์จะสร้างพระพุทธรูป จึงให้คนไปเอาหินพิมพกาจากมหาสมุทรมาสร้างพระพุทธรูปปางเสด็จบิณฑบาต ปรายช้างนาฬาคิรี โดยให้ช้างนาฬาคิรีหมอบอยู่ด้านวา และให้พระอานนท์ถือบาตรอยู่ข้างซ้าย พระพุทธรูปศิลาองค์นี้มาจากลังกา ผ่านศรีสัชนาลัย  ลำปาง และถึงเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช (สงวน โชติสุขรัตน์ 2515 : 54-67)

3.ตำนานเมืองเหนือ กล่าวถึงพระแก้วขาวสร้างขึ้นที่เมืองละโว้ พระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากละโว้ประดิษฐานที่หริภุญชัย ต่อมาเมื่อพระเจ้าเมงรายตีเมืองหริภุญชัยได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ในพระราชวังของพระองค์ (สงวน โชติสุขรัตน์ 2552 : 351-354)

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

1.จารึกฐานพระพุทธรูปวัดเชียงมั่น (ชม.71) พ.ศ.2008 เป็นจารึกบนฐานพระพุทธรูปอุ้มบาตร อักษรธรรมล้านนา กล่าวถึงรายนามผู้เป็นประธานในการสร้างพระพุทธรูป (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 2559)

2.จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) พ.ศ.2124 กล่าวถึงพญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วงร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่ และก่อพระเจดีย์ครอบทับหอนอนที่บ้านเชียงมั่น ให้สร้างเป็นวัด ทานแก่แก้วทั้งสาม (พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วง) และให้ชื่อว่าวัดเชียงมั่น (กรมศิลปากร 2551 : 2-10)

3.จารึกวัดเชียงมั่น 2 (ชม.29) พ.ศ.2354 ด้านที่ 1 เป็นคาถายันต์ที่สันนิษฐานว่าจะลอกมาผิด และมีคำจารึก ด้านที่2 เป็นดวงชะตา 17 ดวง สันนิษฐานว่าเป็นดวงเมืองที่เกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่ หรืออาจเป็นการก่อสร้างกำแพงเมืองหรือถาวรวัตถุที่สำคัญก็เป็นได้ และปรากฏดวงเมืองกรุงเทพฯในดวงชะตาที่4 (กรมศิลปากร 2551 : 104-111)

4.จารึกฐานพระเสตังคมณี (ชม.63) พ.ศ.2416 อักษรธรรมล้านนา กล่าวว่า พ.ศ.2416 เจ้านครเชียงใหม่ และอัครราชเทวีแม่เจ้าทิพพเกษร พร้อมด้วยราชบุตร ราชธิดาและพระญาติ ร่วมกันสร้างฐานพระเสตังคมณี หวังได้รับผลแห่งนิพพานโดยถ้วนหน้ากัน (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 2559)

http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=1424

http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=15766

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร, 2551.

กรมศิลปากร. โบราณสถานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ วัดเชียงมั่น. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 11 เมษายน. เข้าถึงได้จาก www. gis.finearts.go.th

ไข่มุก อุทยาวลี. “พระเสตังคมณี.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4341-4343.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.

โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา. “ชม. 1 จารึกวัดเชียงมั่น พ.ศ.212.” ใน จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551 : 2-10.

โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา. “บัญชีจารึก จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน.” ใน จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 : จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551 : 29-59.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “คำอ่านจารึก วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ จ.ศ.943 (พ.ศ.2124).” ศิลปากร 6, 3 (2505) : 61-70.

ฉ่ำ ทองคำวรรณ. “หลักที่ 76 ศิลาจารึก วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ จ.ศ.943 (พ.ศ.2124).” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษร และ ภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508) : 210-218.

นวพรรณ ภัทรมูล (เรียบเรียง). “จารึกฐานพระพุทธรูปวัดเชียงมั่น.” ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) . [ออนไลน์], 2556. เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก http://www.sac.or.th/databases/inscriptions

บุปผา คุณยศยิ่ง. “เชียงมั่น,วัด.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 1962-1966.

บุปผา คุณยศยิ่ง. “พระศิลาวัดเชียงมั่น.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542 : 4336-4337.

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) [ออนไลน์].เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

สงวน โชติสุขรัตน์. ตำนานเมืองเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2552.

สงวน โชติสุขรัตน์. ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม2. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2515.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

สำนักศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่. รายงานการศึกษาสภาพปัจจุบันประกอบการบูรณปฏิสังขรณ์แผ่นทองจังโก้ เจดีย์วัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา). เชียงใหม่ : สำนักศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่, 23 ธันวาคม 2536.

อรุณรัตน์ วิเชียรแก้ว และเดวิด เค. วัยกาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์ตรัสวิน, 2543.

Google Maps. วัดเชียงมั่น [ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps/place/วัดเชียงมั่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง