โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : หมู่บ้านสีวลี ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่
ตำบล : สุเทพ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.756615 N, 98.95148 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 100 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชวิถี ตรงไป 190 เมตร เลี้ยงซ้ายเข้าถนนจาบาน ตรงไป 110 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนอารักษ์ 5 ตรงไป 800 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนอารักษ์ ตรงไป 400 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนบุญเรืองฤทธิ์ ตรงไป 350 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุเทพ ตรงไป 1.8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 121 ตรงไป 4.4 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยหมู่บ้านสีวลีคลองชลประธาน ตรงไป 470 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไป 270 เมตร แล้วเลี้ยวขวาประมาณ 80 เมตร จะถึงหมู่บ้านสีวลี เจดีย์กุดจะตั้งอยู่กลางทะเลสาบของโครงการหมู่บ้านสีวลี
วัดเจดีย์กุด (ร้าง) อยู่ภายในโครงการหมู่บ้านสีวลี ซึ่งเป็นที่ดินเอกชน
โครงการหมู่บ้านสีวลี, กรมศิลปากร
วัดเจดีย์กุดเป็นวัดที่ตั้งนอกเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ห่างจากคูเมืองกำแพงเมืองไปประมาณ 3.9 กิโลเมตร ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สภาพเดิมของเจดีย์กุด (ร้าง) โดยรอบเป็นพื้นที่ทุ่งนา จนกระทั่งราวปีพ.ศ.2547 ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรร (โครงการหมู่บ้านสีวลี) และมีการขุดพื้นที่รอบเจดีย์กุดให้กลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ โดยเว้นพื้นที่เจดีย์กุดเอาไว้ ขนาด 80x80 เมตร มีลักษณะเกาะกลางทะเลสาบ (ตระกูล ร้อยแก้ว และสรธัช โรจนารัตน์ 2556 : 133)
แม่น้ำปิง
สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)
ชื่อผู้ศึกษา : ธนธร เหลี่ยมวานิช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เจดีย์กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง มีเรือนธาตุเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มจระนำด้านละสามช่อง ปรากฏมาลัยเถาทรงแปดเหลี่ยม สันนิษฐานว่ามีอายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 21ชื่อผู้ศึกษา : ตระกูล ร้อยแก้ว, สรธัช โรจนารัตน์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556
ผลการศึกษา :
ปรากฏเนินโบราณสถาน 2 เนิน คือ บริเวณที่เป็นเกาะกลางสระน้ำ และเนินที่ 2 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโบราณสถานเนินที่ 1 ภายหลังการขุดแต่งพื้นที่ทั้งหมดแล้วพบสิ่งก่อสร้างอันประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป(?) กำแพงแก้ว(?) กุฏิ(?)ชื่อวัดเจดีย์กุดไม่ปรากฏชื่อวัดเจดีย์กุด ในเอกสารตำนานพงศาวดาร แต่จากการสำรวจ ขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีสามารถสันนาฐานได้ว่าวัดเจดีย์กุด(ร้าง)และโบราณสถานภายในพื้นที่ที่ขุดแต่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาของชุมชนชาวเชียงใหม่ที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 อาจสร้างขึ้นในช่วงที่พระสุมนเถระขึ้นมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1915 เนื่องจากขุดพบเศียรพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบสุโขทัย
สำหรับโบราณสถานและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธาน เป็นทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง ด้านบนเรือนธาตุอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปรากฏร่องรอยของซุ้มจรนำ ด้านละ 3 ซุ้ม สันนิษฐานว่าประดิษฐานพระพุทธรูป มีร่องรอยปูนฉายอยู่ชัดเจน แต่ไม่พบร่องรอยของปูนปั้นประดับ เหนือเรือนธาตุขึ้นไปพังทลาย แต่บางด้านยังปรากฏรอยของชั้นฐานเขียงแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2-3 ชั้น เพื่อไปรองรับส่วนต่อไปขององค์เจดีย์ซึ่งอยู่ในผังวงกลม (ตระกูล ร้อยแก้ว และสรธัช โรจนารัตน์ 2556 : 133-134)
นอกจากนี้จากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุทำให้เห็นลักษณะการก่ออิฐของเจดีย์ประธานว่ามีการพอกทับปูนฉาบของเจดีย์อีกองค์หนึ่งซึ่งถูกหุ้มไว้อยู่ด้านใน สันนิษฐานว่ามีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เทียบเคียงได้กับเจดีย์ประธานวัดบุปผาราม (สวนดอก)
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเจดีย์ในเมืองเชียงใหม่พบว่ามีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเจดีย์วัดร่มโพธิ์(ร้าง) คือ มีลักษณะร่วมในด้านการวางลำดับชั้นฐานรองรับเรือนธาตุ และใกล้เคียงกับเจดีย์วัดป่าแดง(ร้าง) คือ การทำซุ้มจระนำในตัวเรือนธาตุ ประดับซุ้มเรียงกันในผังสี่เหลี่ยมไม่มีการยกเก็จ (ตระกูล ร้อยแก้ว และสรธัช โรจนารัตน์ 2556 : 123-130)
กรมศิลปากร. “โบราณสถานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์กุด.” [ออนไลน์]. ระบบภูมิสารสนเทศ GIS กรมศิลปากร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559. เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.co.th
ตระกูล ร้อยแก้ว และสรธัช โรจนารัตน์. รายงานการขุดแต่ง-ขุดค้นทางโบราณคดี วัดเจดีย์กุด (ร้าง) ตำบลแม่เหี้ยะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), พฤษภาคม 2556.
ธนธร เหลี่ยมวานิช. รายงานการสำรวจวัดร้างเมืองเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), มิถุนายน 2553.
แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561) [ออนไลน์].เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th
สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.