เมืองเชียงใหม่


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่,นพบุรี,เวียงเชียงใหม่, รัตนติงสาอภินวบุรีเชียงใหม่

ที่ตั้ง : ต.พระสิงห์ ต.ศรีภูมิ (เทศบาลนครเชียงใหม่) อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : พระสิงห์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.788371 N, 98.985296 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำข่า

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

1.ทางรถยนต์ มี 2 เส้นทาง คือ

- เส้นทางสายเก่า ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (เส้นทางจากจังหวัดตาก) ถึงอำเภอเถิน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 106 ผ่านอำเภอลี้ อำเภอป่าซาง อำเภอเมืองลำพูนจังหวัดลำพูนถึงเชียงใหม่

- เส้นทางสายใหม่ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถึงลำปางแล้วเลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ผ่านอำเภอห้างฉัตร อำเภอแม่ทา อำเภอเมืองลำพูน อำเภอสารภี ถึงตัวเมืองเชียงใหม่

2.ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดบริการรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

3.ทางอากาศ สนามบินดอนเมือง,สนามบินสุวรรณภูมิ-เชียงใหม่ (สุดารา สุจฉายา 2543 : 451-454)

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เมืองเชียงใหม่ปัจจุบันเป็นตัวจังหวัดเชียงใหม่ มีภสาพเป็นเมือง

เชียงใหม่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น

1.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังและงานปูนปั้นอีกด้วย เปิดเวลา 08.00-17.00 น.

2.วัดสวนดอกวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ “พระมหาสุมนเถระ” จำพรรษา และเป็นสุสานของราชตระกูล ณ เชียงใหม่ สร้างขึ้นโดยเจ้าดารารัศมี เปิดเวลา 08.00-17.00 น.

3.วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเม็งราย เปิดเวลา 08.00-17.00 น.

4. ถนนคนเดินเชียงใหม่วันอาทิตย์ ถนนท่าแพ ตลาดนัดยอดนิยมที่สุดในเชียงใหม่ เปิดเวลา 08.00-17.00 น.

5.ถนนคนเดินเชียงใหม่วันเสาร์วัวลาย เป็นตลาดเครื่องเงินเก่าแก่ เน้นขายสินค้าพวกเครื่องเงิน และสิ้นค้าพื้นเมือง เปิดทุกๆวันเสาร์ เวลา 17.00-22.00 น. 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลนครเชียงใหม่, กรมธนารักษ์, จังหวัดเชียงใหม่

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

(ไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณ แต่มีการขึ้นทะเบียนป้อมและกำแพงเมือง รวมถึงโบราณสถานอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกเมือง

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองเชียงใหม่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตก และสายน้ำแม่ปิงทางด้านทิศตะวันออก มีกำแพงเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่เป็นกำแพงอิฐรูปสี่เหลี่ยม (1,600 x 1,600 เมตร) ล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมือง คือ ประตูท่าแพ ทางด้านทิศตะวันออก ประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง ทางด้านทิศใต้ ประตูสวนดอก ทางด้านทิศตะวันตก  และประตูช้างเผือก ทางด้านทิศเหนือ

2.ส่วนกำแพงดิน รูปโค้งคล้ายวงกลม โอบล้อมมุมกำแพงอิฐด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีประตูระแกง ประตูขัวก้อม และประตูหายยา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 112-122)

เมืองเชียงใหม่ปัจจุบันเป็นตัวจังหวัดเชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ มีสภาพเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีอาคารสิ่งก่อสร้างทั้งที่เป็นบ้านเรือน บริษัทห้างร้าน รวมทั้งหน่วยงานภทั้งภาครัฐและเอกชน ปลูกสร้างอยู่อย่างหนาแน่น

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

310 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง, แม่น้ำข่า

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

แอ่งเชียงใหม่เป็นที่ราบล้อมรอบ กลุ่มทิวเขาที่ล้อมรอบที่ราบเชียงใหม่ มีดังนี้

ทางด้านฝั่งตะวันตก มีทิวเขาดอยสุเทพ-ปุยประกอบด้วยหินแปรหลายชนิด และหินอัคนีชนิดหินแกรนิตซึ่งชื่อทางธรณีวิทยาเรียกว่า “กลุ่มหินฐานซับซ้อน” และสันนิษฐานว่ามีอายุถึงมหายุคพรีแคมเบรียน มีอายุประมาณ 600 ล้านปีมาแล้ว หินกลุ่มนี้ ได้แก่ หินไนส์ หินชีสต์ หินแคลซิลิเกต หินอ่อนโดยมีหินแกรนิตและหินเพกมาไทต์แทรกบริเวณฐานและแก่นกลางของทิวเขามีหินควอตไซต์อายุแคมเบรียนและหินปูน อายุออร์โดวิเชียนวางซ้อนทับบริเวณทางตอนใต้ของดอยสุเทพและถ้ำบริจินดาเชิงดอยอินทนนท์

ทางด้านฝั่งตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นหินแปรจำพวกหินฟิลไลต์ หินควอร์ตไซต์ และหินชนวนอายุไซลูเรียน-ดิโวเนียน หินทราย หินดินดานและหินภูเขาไฟยุคคาร์บอนิฟอรัสและหินปูนยุคเพอร์เมียนโดยมีมวลหินแกรนิตอายุไทรแอสซิกเป็นแกนกลางทิวเขาแทรกอยู่ด้านล่าง หินแกรนิตประมวลความยาวได้ประมาณ 300 กิโลเมตรวางตัวในแนวเหนือ-ใต้จากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผ่านแม่สรวย สันกำแพง ขุนตานจนถึงจังหวัดตาก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สรัสวดี อ๋องสกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์, จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มูลนิธิโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น

ผลการศึกษา :

ศึกษาเรื่อง “ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน” พบว่ามีชุมชนโบราณกระจายตัวอยู่ในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แบ่งตามยุคสมัยของชุมชนโบราณได้ ดังนี้ 1.ชุมชนโบราณสมัยแคว้นหริภุญไชย อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14-19 ปรากฏชุมชนที่มีคูน้ำคันดินแล้ว 2.ชุมชนโบราณสมัยล้านนา อายุตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 19-พุทธศตวรรษที่ 21ปรากฏที่มีคูน้ำคันดินและไม่มีคูน้ำคันดิน ที่สำคัญคือ เมืองเชียงใหม่ 3. ชุมชนโบราณสมัยพระเจ้ากาวิละ อายุต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ปรากฏชุมชนโบราณเพิ่มขึ้น 2 แห่ง

ชื่อผู้ศึกษา : ทศพร โสดาบรรลุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

ผู้ศึกษาได้ศึกษาเรื่อง “คติการสร้างเมืองเชียงใหม่” มีการผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม คือ ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ผสมกับความเชื่อที่รับมาจากอินเดียและเขมร ทำให้เชียงใหม่มีผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส รวมถึงการสร้างกำแพง 3 ชั้น หรือ “ตรีบูร” และมีจัดสรรพื้นที่ความสำคัญของเมืองอย่างเป็นสัดส่วน

ชื่อผู้ศึกษา : ศศิธร อุ้ยเจริญ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ประวัติศาสตร์

ผลการศึกษา :

ผู้ศึกษาได้จัดทำสารนิพนธ์เรื่อง “ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมือง กำแพง และประตูเมืองเชียงใหม่”ตามหลักสูตรปริญาญาศิลปศาสตรบัณฑิต (บค.) ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลการศึกษาพบว่า พญาเม็งรายได้ขยายอาณาจักรล้านนาให้กว้างขวาง และได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพในปี พ.ศ.1835 ปรากฏความเชื่อเกี่ยวกับชัยภูมิมงคล 7 ประการ ความเชื่อเกี่ยวกับคติภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คติต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเกี่ยวเสาอินทขีล คติแผนภาพวัสดุปุรุษมณฑล หรือแผนภูมิศาสตร์จักรวาล และความเชื่อเกี่ยวกับโหราศาสตร์ทักษาและดาราศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการขุดเมือง และวางดวงชะตาเมือง เป็นต้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

มีการรวบรวมฐานข้อมูลจารึกในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน พบจารึกที่เกี่ยวข้องกับเมืองเชียงใหม่ คือ จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) กล่าวถึงดวงชะตาเมืองเชียงใหม่ และเหตุการณ์ที่พญาเม็งราย พญางำเมือง และพญาร่วง ร่วมกันสร้างหอนอนบริเวณที่เป็นชัยภูมิเมือง สร้างวัดเชียงมั่น

ชื่อผู้ศึกษา : สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ผลการศึกษา :

ศึกษาเรื่อง “เมืองโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน” ผลการศึกษาพบว่าผู้ปกครองในเมืองโบราณล้านนาไทเป็นผู้มีมีความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ รู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากกายภาพของธรรมชาติ นิยมตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ คือ น้ำแม่สาย น้ำแม่กก และน้ำแม่ปิง เช่น เมืองเชียงใหม่ที่อยู่ติดแม่น้ำปิง มีทางระบายน้ำที่ดี ระบบชุมชนล้านนาไทในระดับเมืองเป็นความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของกษัตริย์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

พญาเม็งรายผู้ครองนครหิรัญเงินยางได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นบริเวณเชิงดอยสุเทพ มีดวงเมืองตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.1839

เมืองเชียงใหม่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบระหว่างแนวเทือกเขาด้านตะวันตก และสายน้ำแม่ปิงทางด้านทิศตะวันออก มีกำแพงเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.ส่วนที่เป็นกำแพงอิฐรูปสี่เหลี่ยม (1,600 x 1,600 เมตร) ล้อมรอบด้วยคูเมืองทั้ง 4 ด้าน มีประตูเมือง คือ ประตูท่าแพ ทางด้านทิศตะวันออก ประตูเชียงใหม่และประตูสวนปรุง ทางด้านทิศใต้ ประตูสวนดอก ทางด้านทิศตะวันตก  และประตูช้างเผือก ทางด้านทิศเหนือ

2.ส่วนกำแพงดิน รูปโค้งคล้ายวงกลม โอบล้อมมุมกำแพงอิฐด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีประตูระแกง ประตูขัวก้อม และประตูหายยา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 112-122)

การสร้างเมืองเชียงใหม่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางภูมิศาสตร์และความเชื่อ คือ เมืองเชียงใหม่มีชัยภูมิที่ดีตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มน้ำปิง โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง เพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือตอนบน ทางทิศเหนือมีหนองน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงชาวเมืองเชียงใหม่รวมถึงเวียงบริวารที่อยู่โดยรอบ (สรัสวดี อ๋องสกุล 2552 : 122-125) สัมพันธ์กับความเชื่อคติภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คือ มีภูเขาล้อมรอบเมือง และใกล้กับแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำข่าโอบตัวเวียงป้องกันน้ำหนุนจากแม่น้ำปิง อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นทางระบายน้ำ ทั้งน้ำดีและน้ำเสียออกจากเมืองให้ไหลสู่แม่น้ำปิง อีกทั้งแม่น้ำปิงนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการเดินทางเป็นเสมือนชุมทางสำคัญที่ควบคุมเส้นทางการขนส่ง การเดินทางระหว่างแคว้น (สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ 2552 : 97) ทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศํกยภาพจนกลางเป็นศูนย์กลางการค้า

นอกจากการเลือกชัยภูมิที่ดีแล้วยังใช้ความเชื่อสร้างความชอบธรรมแก่พื้นที่ด้วย ที่สำคัญ คือ ความเชื่อเรื่องนิมิตการสร้างเมือง และความเชื่อเรื่องนิมิตเห็นพญาหนูเผือกและบริวาร 4 ตัว ในการกำหนดพื้นที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 98) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเรื่องเสาอินทขีล ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ทักษาและดาราศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการขุดเมือง และวางดวงชะตาเมือง เป็นต้น (ศศิธร อุ้ยเจริญ 2547 : 87-88)

สำหรับพระพุทธศาสนาในเชียงใหม่นั้นเข้ามาประดิษฐานตั้งแต่สมัยของพญามังราย นับแต่นั้นมากษัตริย์ทุกพระองค์ก็นับถือสืบมา จนกระทั่งในสมัยของพญากือนา (พ.ศ.1910-1931) พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยเข้ามาในนครเชียงใหม่และในไม่ช้าเชียงใหม่ก็กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาในอาณาจักรล้านนา จนมีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกที่เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อ จ.ศ.839 (พ.ศ.2020) (มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ 2542 : 4717)

เมืองเชียงใหม่เจริญรุ่งเรื่องสืบมาจนกระทั่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า (พ.ศ.2101-2317) ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างเมืองเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม และทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างในที่สุด จนเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 24 พระเจ้ากาวิละรับตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2325) และได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 155) และพัฒนาต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1.ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึงพญามังรายเสด็จไปยังตีนดอยอุจฉุบรรพต กว้างงามมากนัก ใคร่ตั้งเมืองขึ้นที่นี้  จึงให้อำมาตย์ทั้งหลายพิจารณาหาวันยามนันขตฤกษ์อันเป็นมงคล ก็จึดพิธีขึ้นสู่เรือนหลวง และตั้งชื่อเมืองว่าเชียงใหม่ (กรมศิลปากร 2513 : 221)

2.ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงพญามังรายทรงสร้างนครเชียงใหม่ในท้องที่ระหว่างภูเขาอุจฉุคิรี (ดอยสุเทพ) กับแม่น้ำพิงค์ (ม้ำปิง)  (รัตนปัญญาเถระ 2518 : 104-105)

3.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงการใช้ดอยเป็นศูนย์กลางในการสร้างเมืองเชียงใหม่ โดยใช้ดอยจอมทองเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังกล่าวถึงชัยภูมิและนิมิตที่ดี เหมาะแก่การตั้งเมืองเชียงใหม่ (อรุณรัตน์ 2547 : 41-43)

4.ตำนานสุวรรณคำแดงหรือตำนานเขาอินทขีล กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของเสาอินทขีล (สงวน โชติสุขรัตน์ 2515 : 153-154)

5.ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของเสาอินทขีล ให้ประชาชนเคารพ กราบไหว้อย่าได้ขาด (ลมูน จันทร์หอม 2547 : 21-34)

6.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ 700 ปี กล่าวถึงเทคนิคการสร้างเมืองเชียงใหม่ (คณะอนุกรรมการฯ 2538 : 34)

7.พงศาวดารโยนก กล่าวว่าเจ้าเมงรายตั้งเมืองเชียงใหม่บริเวณเชิงเขาอุสุจบรรพต คือ ป่าเลาให้เป็นชัยภูมิกลางเมือง แล้วจัดตั้งราชมณเฑียร และสร้างกำแพงเมือง (พระยาประชากิจกรจักร 2557 : 284-288)

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

จารึกวัดเชียงมั่น (ชม.1) พ.ศ.2124 กล่าวถึงดวงชะตาเมืองเชียงใหม่ และเหตุการณ์ที่พญาเม็งราย พญางำเมือง และพญาร่วง ร่วมกันสร้างหอนอนบริเวณที่เป็นชัยภูมิเมือง สร้างวัดเชียงมั่น (กรมศิลปากร  2551 : 2-6)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ตำนานมูลศาสนา. เชียงใหม่ : นครพิงค์การพิมพ์,2513.

กรมศิลปากร. จารึกล้านนา ภาค 2 เล่ม 1 จารึกจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง  ลำพูน และแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กรมศิลปากร, 2551.

คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.  ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ศูนย์วัตนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538.

แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). [ออนไลน์].เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

ทศพร โสดาบรรลุ. “คติการสร้างเมืองเชียงใหม่ในวัฒนธรรมล้านนา.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

พระยาประชากิจกรจักร. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557.

รัตนปัญญาเถระ.  ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2518.

ลมูน จันทร์หอม. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ปางเดิม. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่ : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2547.

ศศิธร อุ้ยเจริญ. “ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมือง กำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่.” ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สงวน โขติสุขรัตน์. ประชุมตำนานล้านนาไทย เล่ม1. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2515.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552.

สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ. เมืองโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. เชียงใหม่ : ธารปัญญา, 2552.

สุดารา สุจฉายา. เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2543.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2547.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง