ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เตาสังคโลกหมายเลข 61, เตาสังคโลกหมายเลข 42, เตาสังคโลกหมายเลข 123, เตาสังคโลกบ้านเกาะน้อย, เตาทุเรียง

ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย

ตำบล : ศรีสัชนาลัย

อำเภอ : ศรีสัชนาลัย

จังหวัด : สุโขทัย

พิกัด DD : 17.467572 N, 99.759816 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือ ทางประตูเตาหม้อไปถึงบ้านเกาะน้อยประมาณ 6.5 กิโลเมตร จะเห็นซากเตาเผาโบราณเรียงรายอยู่โดยทั่วไป ลงมาที่บ้านเกาะน้อย จะเห็นอาคารศูนย์ฯ อยู่ทางซ้ายมือ

จากอำเภอศรีสัชนาลัย โดยทางหลวงหมายเลข 101 (ศรีสัชนาลัย - สวรรคโลก) ประมาณ 11 กิโลเมตร แยกขวามือข้ามแม่น้ำยมประมาณ 100 เมตร แยกขวามือเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แล้วไปอีกประมาณ 6.5 กิโลเมตร

จากอำเภอเมืองสุโขทัย มาตามทางสาย 101 ที่ไปสวรรคโลก ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะตรงเข้าสู่อำเภอศรีสัชนาลัย 

            อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยสามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้

            1. รถโดยสารประจำทาง  โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต) ทุกวัน

            2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง

            3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว

            4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101  เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19  เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5  กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68  กิโลเมตร หรือ  หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2  กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

            อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท (สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42 ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)

            ทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  64130 โทร 0-5567-9211

            สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น

            - ลานจอดรถ

            - ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

            - เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง

            - ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ

            - จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน)

*จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง  โดยโบราณสถานวัดชมชื่น เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้)

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย พร้อมด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 574 จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม พ.ศ.2534 ณ กรุงคาร์เทจ สาธารณรัฐตูนิเซีย

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข 42และหมายเลข 61 อยู่นอกเมืองศรีสัชนาลัยทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะน้อย ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย 5 กิโลเมตร พบหลักฐานตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม โดยกระจายทั่วไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เท่าที่สำรวจแล้วมีประมาณ 200 เตา โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ที่อาคารศูนย์ศึกษา อนุรักษ์เตาสังคโลก จัดแสดงเตาสังคโลกที่ยังมีภาชนะประเภทไหขนาดใหญ่ ชาม และ เครื่องสังคโลกที่ได้มาจากสถานที่อื่นๆ นักโบราณคดีและกรมศิลปากรได้ขุดค้นและนำส่วนประกอบมาต่อกัน ตั้งแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยว นักศึกษา และผู้สนใจประวัติศาสตร์ได้เข้าชม กลุ่มเตาที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มเตาเผาหมายเลข 42 พบเตาสังคโลกซ้อนทับกันถึง 19 เตา เผาภาชนะเครื่องถ้วยชามทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ เตาสังคโลกบ้านเกาะน้อยผลิตสังคโลกส่งขายไปที่ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  กลุ่มเตาหมายเลข 61 มีเตาใต้ดิน 4 เตา ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำและของแห้ง

ที่ตั้งอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก ที่จัดแสดงเตาสังคโลกหมายเลข 61 ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำยมห่างจากแม่น้ำประมาณ 100 เมตรโดยมีอาณาเขตดังนี้

             ทิศเหนือ ตั้งอยู่ใกล้คลองโบราณชื่อว่า คลองบอนซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพตื้นเขิน

ทิศตะวันออก ติดกับถนนระหว่างเมืองโบราณศรีสัชนาลัย-บ้านป่ายาง-บ้านเกาะน้อยและบ้านเรือนของประชาชน

             ทิศใต้ ติดกับถนนทางลัดไปออกทางหลวงหมายเลข 1201 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 8

             ทิศตะวันตก ติดกับบ้านเรือนประชานซึ่งเป็นด้านหลังอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์ฯ

ถัดจากอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข 61 ไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข 42

             ทิศเหนือ ติดถนนทางหลวงหมายเลข 1201

             ทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่ทำเกษตรกรรมของประชาชน

             ทิศใต้ ติดกับพื้นแหล่งเตาสังคโลกบ้านเกาะน้อย

             ทิศตะวันตก ติดกับถนนระหว่างเมืองโบราณศรีสัชนาลัย-บ้านป่ายาง-บ้านเกาะน้อย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

57 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำยม

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย มีลักษณะทางธรณีวิทยาเป็นหินเชล (Shale) สี Olive หรือสี Grey จนถึงสี Dark Grey พบเป็นผืนใหญ่ตั้งแต่พื้นที่ ส่วนเหนือบนสุดลงไป ถึงส่วนล่างสุดและจากส่วนตะวันออกไปยังแนวเขตอุทยานฯ ด้านตะวันตก ครอบคลุม ทั้งพื้นที่ทิวเขาของอุทยานฯ กว้างขวางมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานฯ และพบว่ามีลักษณะ ของหินปูน (Limestone) สีจาง เนื้อละเอียดแทรกอยู่บริเวณตอนกลางของต้นน้ำห้วยแม่สาน 2 แห่ง

ลักษณะทางปฐพีวิทยา ลักษณะทางปฐพีวิทยานั้น เป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ (Residual soil) เกือบทั้งสิ้น เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่มีความลาดชัน จึงจัดหน่วยของดินนี้ไว้เป็นที่ลาดเชิงซ้อน (Slope complex) ดินที่เกิดขึ้นจึงเป็นดินที่เกิดอยู่กับที่ที่มีการพัฒนาดินไปได้ค่อนข้างดี ดินเหล่านี้ มีป่าเบญจพรรณขึ้น ปกคลุมโดยทั่วไป มีความชื้นค่อนข้างสูง

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

ราวพุทธศตวรรษที่ 20-22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2503

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร


ชื่อผู้ศึกษา : สรวิทย์ จำปาเรือง

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สรวิทย์ จำปาเรือง ศึกษาภาชนะดินเผาประเภทตลับจากแหล่งเตาสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย

ชื่อผู้ศึกษา : ปิยะวดี ลิมปะพันธุ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ปิยะวดี ลิมปะพันธุ์ ศึกษารูปแบบเตาเผาสังคโลก

ชื่อผู้ศึกษา : บจ.นอร์ทเทิร์นซัน (1935)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ขุดค้น, ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรจัดทำโครงการอนุรักษ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข 61 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีบริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งผลิต

สาระสำคัญทางโบราณคดี

บ้านเกาะน้อย เป็นที่ตั้งแหล่งเตาสังคโลกที่เคยผลิตกันเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตและทำต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จากการสำรวจพบจำนวนเตาประมาณ 500 เตา และพบว่า มีเตาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ  ตั้งอยู่เป็นแนวยาวตามริมแม่น้ำยม รูปแบบของเตาบ้านเกาะน้อยมีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามการใช่งานและการควบคุมอุณหภูมิในการเผา ลักษณะของเตาสังคโลกบ้านเกาะน้อย พบเป็น 2 แบบ โดยแบ่งตามทางเดินของลมร้อน คือ

1. เตาเผาชนิดชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวนอน  เตาชนิดเป็นเตาที่มีรูปแบบยาวขนานไปกับพื้นดิน หรือลาดเอียงไปตามพื้นดิน หลังคาโค้งโดยตลอดจนถึงส่วนที่เป็นปล่องไฟ เป็นเตาที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง สามารถเผาได้อุณหภูมิสูงถึง 1200 C (เสริมศักดิ์ นาคบัว 2516 : 22) เตาเผาชนิดนี้แบ่งส่วนต่างๆได้ 3 ส่วน คือ

ส่วนหน้า เป็นส่วนของห้องเผาไหม้ เป็นส่วนที่อยู่ต่ำสุดของเตา เป็นห้องสำหรับบรรจุเชื้อเพลิงระหว่างการเผา ด้านหน้าของห้องเผาไหม้ใส่ไฟที่เป็นช่องโค้ง ส่วนมากมักเจาะเป็นช่องโค้งเกือกม้า เป็นช่องสำหรับลำเลียงภาชนะเข้าเตาเผา

ส่วนที่สองเป็นห้องบรรจุภาชนะ เป็นห้องที่วางภาชนะที่ต้องการเผา เป็นห้องที่มีความกว้างและยาวมากที่สุด ห้องวางภาชนะนี้มักยกระดับให้สูงขึ้นจากส่วนของห้องเผาไหม้ ในระหว่างห้องเผาไหม้กับห้องวางภาชนะมีคันกั้นไฟ เพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงเข้าไปสัมผัสกับภาชนะ

ส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่สูงที่สุดของเตา คือส่วนปล่องไฟหรือปล่องระบายควัน  ปล่องควันช่วยทำหน้าที่ควบคุมทางเดินของลมร้อนให้ระบายความร้อนได้ทั่วเตา ตัวปล่องควันจึงเป็นส่วนสำคัญของเตาที่มีผลต่ออุณหภูมิที่เกิดขึ้น คือ ถ้าปล่องไฟมีขนาดใหญ่ก็สามารถดูดความร้อนได้ดีกว่า ปล่องไฟมักมีรูปแบบกลมขนาดของปล่องไฟจะสัมพันธ์กับขนาดของเตา

เตาแบบระบายความร้อนผ่านแนวนอนจะมีความลาดเอียงจากห้องเผาไหม้ขึ้นไปสู่ปล่องไฟความร้อนจะไหลจากส่วนห้องเผาไหม้เข้าสู่ห้องวางภาชนะและระบายออกไปทาวปล่องไฟตามแนวนอน การทำพื้นที่ลาดเยงจะทำให้การไหลของความร้อนดีขึ้น เตาระบายความร้อนแบบนี้เป็นที่นิยมใช้ในการเผาภาชนะในแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย

2. เตาเผาชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวขึ้น เตาเผาชนิดนี้มักมีรูปแบบกลม หรือบางครั้งเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นเตาที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงที่มีการออกแบบการก่อสร้างแบบง่ายๆ เป็นเตารุ่นแรกที่พบว่ามีการทำขึ้นใช้โดยทั่วไปในพื้นที่ส่วนต่างๆของโลก  เตาชนิดนี้เผาได้ในอุณหภูมิไม่สูงนักแต่ก็สามารถเผาเคลือบอุณหภูมิต่ำได้ เผาได้อุณหภูมิไม่เกิน 900 องศาเซลเซียส (สีหวัฒน์ แน่นหนา 2526 : 40)

เตาระบายความร้อนผ่านในแนวขึ้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนห้องวางภาชนะและห้องเผาไหม้ ระหว่างสองห้องมีตะกรับเตากั้นอยู่ ตะกรับเตา นับเป็นสิ่งสำคัญมากของเตาชนิดนี้ เพราะเป็นแผ่นที่ทำให้ห้องเผาไหม้และห้องวางภาชนะแยกออกจากกัน โดยวางภาชนะที่ต้องการเผาลงบนแผ่นตะกรับ เตาแบบระบายความร้อนผ่านในแนวขึ้นเป็นเตาที่ไม่มีปล่องไฟช่วยในการระบายความร้อน ซึ่งตัวตะกรับจะแทนปล่องไฟโดยเป็นตัวเฉลี่ยความร้อนให้กระจายได้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งเตา เตาชนิดนี้ไม่มีปล่องควันเพื่อระบายความร้อนและไม่มีหลังคาเตาในระหว่างการเผาจึงใช้เศษภาชนะแตกๆสุมลงบนส่วนของเตาคลุมภาชนะให้มิดเพื่อเก็บความร้อนได้ดีขึ้น

วิธีสร้างเตาเผาระบายความร้อนผ่านในแนวนอนมีหลายแบบ วัสดุก่อสร้างและวิธีการก่อสร้างมีแตกต่างกันออกไป คือ

1. เตาใต้ดิน เป็นเตาที่สร้างขึ้นโดยการขุดเข้าไปจากริมฝั่งแม่น้ำ เชิงเขาหรือเนินดิน ซึ่งการสร้างเตาชนิดนี้แบ่งย่อยออกไปได้ 2 แบบ คือ

     1.1 เตาขุดหรือเตาอุโมงค์ เป็นเตาดินทำเลที่เหมาะสมคือเชิงเขาหรือชายฝั่งแม่น้ำหรีออาจจะเป็นเนินดินที่ทำขึ้นแล้วขุดเป็นเตา รูปแบบของเตามักคล้ายประทุนหรือหลังเต่า การขุดเตาส่วนสูงสุดคือปล่องไฟ แล้วลาดเอียงไปทางช่องใส่ไฟ แล้วใช้ดินโดยรอบเป็นผนังเตา  ก่อนการใช้เตาขุดเผาภาชนะต้องมีการสุมไฟในตัวเตาก่อนเพื่อไล่ความชื้นและทำให้ผนังเตาแข็งตัวทำให้โครสร้างเตามีความแข็งแรง การสร้างเตาชนิดนี้มักมีปัญหาเรื่องความชื้นสูงจึงต้องใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก หรือเมื่อเกิดน้ำท่วมเตาอาจเกิดความเสียหาย เตาขุดสามารถใช้เผาเคลือบได้เนื่องจากให้อุณหภูมิในการเผาสูง เตาขุดที่พบในบริเวณแหล่งเตาสังคโลกบ้านเกาะน้อยมีมากกว่า 10 แห่งโดยมีขนาดความยาวเฉลี่ย 3-5 เมตร กว้าง 2-3 เมตร  จากการขุดค้นเตาสังคโลกหมายเลข 42 ซึ่งตั้งอยู่บนเนินดินที่สูง ได้พบเตาแบบระบายความร้อนผ่านในแนวนอน  เป็นเตาก่ออิฐซึ่งก่อทับกันมา 6 เตา และลึกลงไปจากเตาอิฐพบเตาที่ 6 และลึกลงไป 1 เมตร ได้พบเตาขุดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เตามอญ (เตาหมายเลข 110) เตานี้เป็นเตาดิน ขุดเข้าไปจากริมฝั่งแม่น้ำ ภายในผนังเตาใช้ดินเหนียวทา สามารถใช้เผาภาชนะชนิดเคลือบได้โดยที่ผนังเตามีน้ำยาเคลือบติดอยู่

     1.2 เตาใต้ดินผนังทาดินเหนียว เป็นเตาที่ขุดเข้าไปในเนินดินแล้วใช้ดินเหนียวทาที่ผนังโดยรอบ การใช้ดินเหนียวทาผนังเตาขุดทำให้โครงสร้างของเตามีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถขยายขนาดของเตาได้ใหญ่กว่าเตาขุดแบบธรรมดา สำหรับเตาใต้ดินผนังทาดินเหนียวที่เห็นได้ชัดเจนและที่ยังมีความสมบูรณ์คือเตาหมายเลข 61 เป็นเตาที่ขุดเข้าไปใต้พื้นดินของชั้นดินปนทรายบริเวณริมฝั่งคลองซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำยมประมาณ 120 เมตร เป็นเตาที่มีรูปทรงคล้ายประทุนเรือตามแบบเตาระบายความร้อนผ่านในแนวนอน ขนาดของเตายาวประมาณ 8 เมตร กว้างประมาณ 4 เมตร ภายในเตาหมายเลข 61 โดยรอบทาพอกดินเหนียวหนาประมาณ 10 เซนติเมตร เว้นส่วนพื้นและปล่องไฟเท่านั้น ลักษณะเตาเผามีเพียงห้องเดียวเป็นห้องบรรจุภาชนะ ยังไม่มีการสร้างห้องเผาไหม้ พื้นที่ใส่เชื้อเพลิงแยกออกต่างหาก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เตานี้ใช้เผาภาชนะที่มีขนาดใหญ่ เช่น ไหต่างๆ การที่มีคันกั้นไฟทำให้วางภาชนะไม่สะดวกหรือเตานี้อาจเป็นเตาแบบแรกๆที่เทคนิคการสร้างยังไม่มีการพัฒนา (สีหวัฒน์ แน่นหนา 2527 : 31-32)

2. เตาเผาภาชนะที่สร้างบนดิน  มี 2 แบบ คือ

     2.1 เตาบนดินผนังทาดินเหนียว เป็นเตาที่สร้างขึ้นบนเนินดิน โดยมีโครงสร้างที่ก่อด้วยดิน ภายในเตาทาด้วยดินเหนียว ในการก่อสร้างเตา คงใช้ไม้ไผ่ผูกด้วยตอกทำเป็นโครงให้โค้งเป็นรูปคล้ายหลังเตาแล้วใช้ดินเหนียวพอกทับตามรูปทรงไม้ไผ่แล้วสุมไฟเผาให้เตามีความแข็งแรง โดยมีการพบรอยไม้ไผ่สานติดอยู่ในส่วนใต้ของตะกรับ (สีหวัฒน์ แน่นหนา 2527 : 20)

     2.2 เตาที่ก่อด้วยอิฐ เนื่องจากเทคนิคในการก่อสร้างเตาดินมีข้อบกพร่องหลายประการ จึงมีการคิดใช้อิฐก่อสร้างเตาขึ้น เตาอิฐสามารถสร้างให้ใหญ่และเก็บความร้อนได้มากกว่า มีการพบเตาอิฐเป็นจำนวนมากในแหล่งเตาสังคโลกบ้านเกาะน้อย เตาอิฐสร้างขึ้นบนเนินดินถม ก่ออิฐเป็นรูปเตาโดยมีการปรับพื้นที่ให้มีการลาดเอียง โดยส่วนมากมีความลาดเอียง 10-30 องศา ลักษณะโครงสร้างคล้ายกับเตาแบบระบายความร้อนผ่านในแนวนอน คือมีรูปทรงคล้ายประทุนหรือหลังเต่า มีห้องเผาไหม้อยู่ในส่วนต่ำสุดและลาดขึ้นมาเป็นที่บรจจุภาชนะ แล้วสูงขึ้นไปเป็นปล่องไฟ

การสร้างเตาอิฐนั้น ตัวเตาบริเวณด้านข้างหรือผนังเตาและหลังคาก่อด้วยอิฐ บริเวณปล่องไฟและห้องเผาไหม้ก่อด้วยอิฐ ตี่บางเตาที่ก่อด้วยกี๋ท่อ ในการก่อสร้างใช้ดินเป็นตัวเชื่อมระหว่างแผ่นอิฐเรียกว่า การสอ ดินที่ใช้สอหนาประมาณ 2 เซนติเมตร

อาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกที่จัดแสดงเตาสังคโลกหมายเลข 61 สร้างขึ้นเพื่อผลิตภาชนะดินเผา โดยในพื้นที่เดียวกันนี้มีเตาเผาจำนวน 4 เตา คือ เตาหมายเลข 61 เตาหมายเลข 176  เตาหมายเลข 177 และเตาหมายเลข 178 มี 3 เตาที่เป็นเตาเผาชนิดใต้ดิน คือ เตาหมายเลข  เตาหมายเลข 176 และเตาหมายเลข178 และเตาเผาชนิดบนดินคือ เตาหมายเลข 177

วัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างใช้ดินเป็นวัสดุในการก่อสร้างทั้งหมด การก่อสร้างเตาขุดนั้นสามารถสร้างได้โดยไม่ต้องตระเตรียมวัสดุแต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ไม่สามารถก่อสร้างเตาที่มีขนาดใหญ่มากได้ ตัวดินที่เป็นผนังเตาไม่สามารถรับน้ำหนักได้เตาจึงพังทลายลงมาได้ง่าย ดินเก็บความร้อนได้ไม่ดีนัก เมื่อเผาได้ 2-3 ครั้งผนังอาจแตกร้าว ตัวดินมีความชื้นมากในการเผาภาชนะแต่ละครั้งต้องมีการสุมไฟภายในเตาก่อนเพื่อให้ความชื้นลดลง ผลผลิตได้จำนวนน้อย ลักษณะเตาสังคโลกทั้ง 4 เตาในพื้นที่ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกนั้น แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. เตาเผาชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวนอน เป็นเตาที่มีรูปแบบยาวขนานไปกับพื้นดินหลังคาโค้งโดยตลอดจนถึงส่วนที่เป็นปล่องไฟ ใช้ฟื้นเป็นเชื้อเพลิง สามารถเผาได้ที่อุณหภูมิ 1200 c เตาแบบนี้ ปรากฏในเตาสังคโลกหมายเลข 61 เตาหมายเลข 176 และเตาหมายเลข 178 เตาสังคโลกทั้ง 3 เตานี้ เป็นเตาที่สร้างขึ้นโดยขุดเข้าไปจากริมแม่น้ำ เชิงเขาหรือเนินดิน ซึ่งเนินดินนี้อาจจะเป็นเนินดินธรรมชาติหรือเนินดินที่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง

2. เตาเผาชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวตั้ง  เตาเผาชนิดนี้มีลักษณะกลมบางครั้งก็เป็นสี่เหลี่ยม เป็นเตาที่ใช้ฟื้นเป็นเชื้อเพลิงที่มีการก่อสร้างแบบง่ายๆ สามารถเผาได้อุณหภูมิไม่เกิน 900C  โดยปรากฏในเตาสังคโลกหมายเลข 177

เตาสังคโลกหมายเลข 61 มีการใช้เผาภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง ทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ ทั้งนี้การเคลือบเป็นการเคลือบใสบางๆ เนื่องจากเตาเผายังไม่สามารถให้ความร้อนเพียงพอเผาเคลือบแบเซลาดอนได้

            ประเภทของภาชนะดินเผา แบ่งเป็น

1.       ชามทรงสูง ผนังด้านนอกเรียบ ผนังด้านในมีลายขูดขีดเป็นเส้นวงกลมซ้อนกันและลายขูดเส้นคู่ตามแนวตั้ง

2.       ขวดทรงลูกแพร์ คอยาวปากผายออก เคลือบใสภายนอกและเคลือบดำ ตกแต่งด้วยลวดลายปั้นแปะบริเวณส่วนไหล่ของภาชนะ

3.       ไหทรงสูง พบทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ประดับด้วยลายขูด ขูดขีดและปั้นแปะ

4.       ไหปากกว้าง พบทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบประดับด้วยลายขูด ขูดขีด กดประทับและปั้นแปะ

5.       ไหขนาดเล็ก เคลือบน้ำตาลหรือเขียวขี้ม้า ปั้นแปะหูจับ

6.       ครกไม่เคลือบ มีทั้งตกแต่งและไม่ตกแต่งลวดลายขูดรอบปากภาชนะ

7.       จานเชิงสูงปากผาย ผนังด้านในมีลายขูดขีดเป็นรูปกลีบบัวหงายขนาดใหญ่ อยู่บนลายวงกลมคู่ขนานและก้นจานมีลวดลายขูดขีดเส้นคู่ในแนวตั้ง

8.       กี๋ท่อดินเผาเนื้อแกร่งมีร่องรอยการเคลือบซึ่งติดมาจากการเผาในเตาเผา

9.       แวดินเผา

การศึกษาทางด้านโบราณคดีแหล่งเตาเผาสังคโลกบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบการสร้างเตาที่มีวิวัฒนาการเป็นขั้นเป็นตอนมาเป็นลำดับ จนกระทั่งมีวิวัฒนาการขั้นสูงสุดเป็นเตาอิฐที่พบทั่วไปขั้นตอนของวิวัฒนาการนั้นใช้ระยะเวลายาวนานเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าช่างเมืองศรีสัชนาลัยได้ผลิตภาชนะดินเผามาอย่างต่อเนืองยาวนาน

จากหลักฐานที่พบนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า เครื่องปั้นดินเผาในระยะเริ่มแรกนั้น น่าจะผลิตขึ้นมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง ต่อมาในช่วงสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท คงเริ่มมีการผลิตภาชนะดินเผาที่เป็นลักษณะของการอุตสาหรรมขนาดใหญ่ในเขตตอนเหนือของเมืองศรีสัชนาลัย คือในบริเวณที่เป็นบ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อยเพื่อเป็นสินค้าส่งออก ต่อมาเมื่อสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ในระยะนี้อุตสาหกรรมการผลิตภาชนะดินเผาสังคโลกของเมืองศรีสัชนาลัยได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง มีการปรับปรุงวิธีการผลิตสังคโลกและเทคนิคการทำเตาเผาให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องสังคโลกมีลักษณะเฉพาะตัวแม้ว่าโดยทั่วไปจะดูเหมือนจะมีอิทธิพลของเครื่องถ้วยจีนและเวียดนาม แต่สินค้าสังคโลกก็เป็นสินค้าสำคัญในสมัยนั้นโดยมีการส่งออกทั้งทางน้ำและทางบก มีการส่งออกไปขายทั่วทั้งเอเชียโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีการขุดค้นพบเศษเครื่อง    สังคโลกของเมืองศรีสัชนาลัยอยู่เสมอในแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณ การค้าเครื่องสังคโลกน่าจะเริ่มขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22 จึงได้สิ้นสุดลง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเตาเผาสังคโลกหมายเลข 61. โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2530.

นอร์ทเทิร์นซัน (1935), บจ. รายงานการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี : โครงการองานอนุรักษ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข 61 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. สุโขทัย : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด, 2555.

ปิยะวดี ลิมปะพันธ์. “รูปแบบและวิวัฒนาการเตาเผาสังคโลกบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527.

สรวิทย์ จำปาเรือง. “ศึกษา: ตลับจากแหล่งเตาสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540.

สหวัฒน์ แน่นหนา. เครื่องสังคโลกและเตาเผาศรีสัชนาลัย. เอกสารทางวิชาการงานจัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยปี 2527. กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี