โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : พระธาตุเมืองพิณ, ธาตุเมืองพิณ, วัดนนทวราราม
ที่ตั้ง : ม.7 บ้านโนนธาตุ ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง
ตำบล : ฝั่งแดง
อำเภอ : นากลาง
จังหวัด : หนองบัวลำภู
พิกัด DD : 17.214305 N, 102.232738 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำพะเนียง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยอาฮีน
ถนนเส้นทางสายอุดร - เลย หมายเลข 210 ห่างจากที่ว่าการอำเภอนากลางประมาณ 12 กม.เส้นทางแยกหน้าโรงเรียนไทยรักไทย หรือแยกศาลาแดง -ศรีบุญเรือง
พระธาตุเมืองพิณเป็นพระธาตุสำคัญของจังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งอยู่ภายในวัดธาตุเมืองพิณ พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าสักการะได้ทุกวัน จะมีพิธีสมโภชองค์พระธาตุเป็นประจำทุกปีในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 129ง ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2545
พระธาตุเมืองพิณได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ตั้งอยู่ภายในวัดธาตุเมืองพิณ ริมห้วยอาฮีน ลำน้ำสาขาของลำพะเนียง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ใช้เป็นที่ตั้งชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม วัดพระธาตุเมืองพิณ ด้านทิศใต้ของวัดเป็นห้วยอาฮีน ซึ่งจะไหลไปรวมกับลำพะเนียงที่อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร
ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินน้ำพอง กลุ่มหินโคราช
ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ไพรลดา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551, พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรจัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดธาตุเมืองพิณ โดยว่าจ้าง หจก.ไพรลดา เป็นผู้ดำเนินการระหว่างเดือนกันยายน 2551- มีนาคม 2552ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : วัดธาตุเมืองพิณ
ผลการศึกษา :
ทางวัดธาตุเมืองพิณได้บูรณะเมื่อ พ.ศ.2520 เนื่องจากรูปแบบดั้งเดิมพังทลาย การบูรณะในครั้งนี้ได้ก่องพระธาตุเป็นรูปทรงตรงเรียวยาว ทำให้มีรูปแบบที่ผิดแผกไปจากรูปทรงดั้งเดิม ส่วนอุโบสถและจารึกยังคงอยู่ในสภาพและตำแหน่งเดิมชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : วัดธาตุเมืองพิณ
ผลการศึกษา :
สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น โบราณสถานวัดพระธาตุเมืองพิณ ได้รับการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อจะได้ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานที่ขุดค้นพบ จากแหล่งโบราณคดีกุดกวางสร้อยกุดค้อเมย เป็นต้น
ประมาณ พ.ศ.1100 - พ.ศ. 1500 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้ค้นพบวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมา ที่ภูน้อย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเถอนากลาง และวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรรคูหา
พ.ศ.1500 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ใบเสมาหินทราย วัดพระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และใบเสมาหินทรายวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น เมื่อสิ้นสมัยทวารวดี วัฒนธรรมเขมรเริ่มเข้ามามีอิทธิพลสืบแทน (ประมาณ พ.ศ.1500 - พ.ศ.1700) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุสมัยเขมร เช่น ฐานวิหารศิลาแลง ศิลาจารึก พระธาตุเมืองพิณ อำเภอนากลาง และจารึกอักษรขอมวัดป่าโนนคำวิเวก อำเภอสุวรรณคูหา เป็นต้น จึงสันนิษฐานว่า ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและสมัยวัฒนธรรมเขมร ชุมชนโบราณในเขตพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ยังไม่มีลักษณะเป็นชุมชนเมือง แต่คงเป็นชุมชนเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เมื่อสิ้นสมัยวัฒนธรรมขอม พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ปลอดจากอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง และวัฒนธรรมล้านช้างหรือวัฒนธรรมไทย-ลาว ได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาแทน
พระธาตุเมืองพิณเป็นสิ่งก่อสร้างก่ออิฐสอปูน รูปทรงดั้งเดิมพังทลายไปมากโดยเฉพาะส่วนฐานทำให้ไม่ทราบรูปทรงแน่ชัดส่วนกลางเป็นทรงแปดเหลี่ยมสอบขึ้นด้านบน (ทรงบัวเหลี่ยม)ส่วนยอดทรงเรียวแหลม อุโบสถ (สิม) คงเหลือเฉพาะส่วนฐานซึ่งก่อด้วยศิลาแลงและอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 9 x 12 เมตร ด้านหน้ามีศิลาจารึกหินทรายปักอยู่1หลัก(จารึกนันทอาราม) และที่ด้านข้าง (ทิศเหนือ) มีใบเสมาขนาดเล็กฝังอีก 1 ใบ
ข้อความในจารึกนันทอารามกล่าวถึงพระยาอะรินสามหมื่นให้สร้างวิหารชื่ออนันทอารามขึ้นระบุปีจุลศักราช1014ตรงกับพ.ศ.2195เป็นหลักฐานแสดงถึงประวัติความเป็นมาการก่อสร้างตรงกับสมัยพระยาสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งอาณาจักรล้านช้างและตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
ตำนานการสร้างวัดนนทวรารามหรือวัดพระธาตุเมืองพิณนั้น กล่าวว่าสร้างขึ้นโดยพญาวารินสามหมื่นผู้ศรัทธาด้วยปรารถนา นิพพาน ปจโย โหตุ ฯ จากหลักฐานที่ถูกบันทึกในใบเสมาศิลาว่า "สังกาสได เดือน 4 แฮม 5 ค่ำ วัน 6 มื้อคัดเฮ้า (กัดเส้า) ฤกษ์ 9 ลึก ปีเต่าสี พญาวรินสามหมื่นสร้างวิหารหลังนี้ชื่อ นนทวราราม ตามอยู่เทศแต่เขตุสองห้อง กว้างแต่เสาทวน กำบ้านเมือง ระเบียงนิพพาน ปจโย โหตุ" จากคำที่จารึกไว้ในใบเสมาดังกล่าวนี้พอสรุปได้ว่า ผู้สร้างวิหารหลังนี้ (คงรวมทั้งองค์พระธาตุ) คือพญาวรินสามหมื่น โดยสร้างเมื่อวันแรม 5 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันศุกร์ ตอนเช้าเวลา 9 นาฬิกา ปี เต่าสี(?) ปีเต่าสี คงเป็นสร้างขึ้นนั้นเอง ด้วยปรารถนาถึงพระนิพพาน ฯ
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ ฐานสิมโบราณ อยู่ข้างพระธาตุ เหลือเฉพาะส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีจารึกหินทรายตัวอักษรธรรมอีสานระบุศักราช 14 (หมายถึงจุลศักราช 1014 ตรงกับ พ.ศ.2195 )
องค์พระธาตุทางวัดได้ทำการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2520 เนื่องจากรูปแบบดั้งเดิมพังทลายจึงทำให้ทางวัดบูรณะรูปทรงพระธาตุก่อตรงเรียวยาวซึ่งทำให้มีรูปแบบที่ผิดแผกไปจากรูปทรงดั้งเดิม อุโบสถยังคงสภาพเดิมมิได้มีการก่อสร้างต่อเติมศิลาจารึกปักไว้ในตำแหน่งดั้งเดิม
พ.ศ.2551 มีการตั้งวัดธาตุเมืองพิณขึ้นที่บริเวณที่ตั้งของพระธาตุ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย
ในปีงบประมาณ 2553 สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์พระธาตุเมืองพิณ จนแล้วเสร็จ
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 01 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดหนองบัวลำภู. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพเอกสารทางประวัติศาสตร สํานักนายกรัฐมนตรี. ประชุมจารึก ภาคที่ 1. โรงพิมพสํานักนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพฯ : 2521.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู. วัดพระธาตุเมืองพิณ. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.m-culture.go.th/nongbualamphu