เจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ถ.ถนนพระปกเกล้าซอย 2 ต.พระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : พระสิงห์

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.782184 N, 98.988447 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อยตั้งอยู่ใกล้กับประตูเชียงใหม่ ประตูด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ริมถนนพระปกเกล้า ซอย 2 โดยเข้าจากปากซอยด้านถนนพระปกเกล้าเข้าไปประมาณ 30 เมตร ด้านหลังของตลาดบำรุงบุรีกาดหมออินทร์หรื ตลาดประตูเชียงใหม่

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

แม้ว่าเจดีย์วัดฟ่อนสร้อยจะยังไม่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดฟ่อนสร้อย, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 103ง วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2543

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อยตั้งอยู่ภายในกำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ในพื้นที่ด้านทิศใต้ของเมือง ใกล้กับประตูเชียงใหม่ ประตูเมืองด้านทิศใต้ (เจดีย์ตั้งอยู่ห่างจากประตูไปทางทิศเหนือประมาณ 80 เมตร) ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นด้านหลังของตลาดประตูเชียงใหม่หรือตลาดบำรุงบุรีกาดหมออินทร์ ติดถนนพระปกเกล้าซอย 2 ห่างจากที่ตั้งวัดฟ่อนสร้อยปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 10 เมตร โดยรอบเจดีย์แวดล้อมไปด้วยชุมชนหนาแน่น บางส่วนของเจดีย์ถูกบ้านเรือนราษฎรสร้างทับ ยังไม่ได้รับการปฏิสังขรณ์

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

310 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21-23

อายุทางตำนาน

ก่อนพุทธศตวรรษที่ 21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, สุรพล ดำริห์กุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ฝ่ายวิจัยล้านนา สถาบันวิจัยสังคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อุดหนุนงบประมาณในการวิจัย, สหวิทยาลัยล้านนาวิทยาลัยครูเชียงใหม่, กรมศิลปากร, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่

ผลการศึกษา :

ทำการศึกษาวัดร้างในเชียงใหม่ โดยทำการสำรวจวัดฟ่อนสร้อย(ร้าง) พบเจดีย์ร้าง 1 องค์และสืบค้นข้อมูลพบเอกสารเก่าพวกตำนานที่กล่าวถึงวัดฟ่อนสร้อย (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและสุรพล ดำริห์กุล 2539 : 136-138)

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ขุดแต่งเพื่อศึกษารูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์และเทคนิคในการก่อสร้าง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ เสริมความมั่นคงโดยเทคานคอนกรีตและเสริมเหล็กรัดรอบฐาน และตอนกลาง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

นักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ บูรณะ เสริมสร้างความมั่นคง และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ

ชื่อผู้ศึกษา : ธนธร เหลี่ยมวานิช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สันนิษฐานว่าวัดฟ่อนสร้อยมีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 21

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อยตั้งอยู่ภายในเมืองเชียงใหม่บริเวณหลังตลาดประตูเชียงใหม่ติดถนนพระปกเกล้าซอย 2 หรือห่างจากวัดฟ่อนสร้อยปัจจุบันไปทางทิศใต้    ประมาณ 10 เมตร ปัจจุบันเป็นเจดีย์ร้างไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเก่าที่มีความสำคัญมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 21   

ชื่อของวัดฟ่อนสร้อยปรากฏในเอกสารโบราณหลายฉบับทั้งในโครงนิราศหริภุญชัย ตำนานพระธาตุจอมทอง ตำนานวัดบุบฝารามสวนดอกไม้ ตำนานพระธาตุดอนศรีคำ (ห้วยอ้อ) อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นต้น ในโครงนิราศหริภุญไชย (แต่งเมื่อประมาณ พ.ศ.2060) กล่าวว่าเป็นวัดที่สวยงามและประดิษฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ต่อมาชื่อวัดฟ่อนสร้อยปรากฏในตำนานวัดต่างๆในช่วง พ.ศ. 2105-2144ว่าเป็นวัดที่มีพระเถระผู้ใหญ่จำพรรษาอยู่โดยเป็นวัดที่ขึ้นอยู่กับวัดพันเตา  จากหลักฐานดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่าวัดฟ่อนสร้อยมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 21 และน่าจะถูกทิ้งร้างไปในช่วงสงครามขับไล่พม่าตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาได้มีการสร้างวัดฟ่อนสร้อยขึ้นมาใหม่โดยสร้างห่างจากวัดฟ่อนสร้อยเดิม ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 10 เมตร

หลักฐานทางด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับวัดฟ่อนสร้อยเดิม (บริเวณเจดีย์ร้างวัดฟ่อนสร้อย) ปัจจุบันเหลือเพียงตัวเจดีย์ กรมศิลปากรได้มีโครงการขุดแต่งเจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อยใน พ.ศ.2542 และมีการเสริมสร้างความมั่นคงของเจดีย์ ในปี พ.ศ.2545 และ 2546 พบหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจ ดังนี้ (ธนธร เหลี่ยมวานิช 2546 : 1-14)

เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงล้านนา สร้างด้วยอิฐ ส่วนฐานมีขนาดกว้าง 8 x 8 เมตร ตัวเจดีย์สูงประมาณ 8.7 เมตร ลักษณะทางสถาปัตยกรรมฐานเป็นฐานบัวประดับลูกแก้วอกไก่ 2 ชั้นรองรับเรือนธาตุสูงประดับซุ้มพระ 4 ด้าน เหนือขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา มีองค์ระฆังขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านบน ส่วนยอดพังทลาย จากการขุดค้นทางโบราณคดีทางบริเวณมุมฐานเจดีย์ทางด้านทิศใต้พบว่ามีการปรับพื้นการใช้งานมาแล้ว 2 สมัยโดยระดับแรกลึกลงไปประมาณ 80 เซนติเมตรจากระดับผิวดินและสมัยที่สองในระดับ 50 เซนติเมตรจากระดับผิวดิน

ฐานอาคาร พบจากการขุดแต่งฐานเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออกห่างจากตัวเจดีย์ประมาณ 1.20 เมตร มีลักษณะเป็นชุดฐานบัวคว่ำสันนิษฐานว่าเป็นวิหารของวัดฟอนสร้อยเดิม ปัจจุบันไม่เห็นร่องรอยของตัววิหารเนื่องจากมีตึกแถวสร้างคร่อมทับด้านบน

โบราณวัตถุ จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น พระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์ดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น เม็ดพระศก  เศษลายปูนปั้นประดับองค์เจดีย์และเศษแผ่นทองจังโก

 

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1.       โครงนิราศหริภุญไชย

-          ฉบับเชียงใหม่

21      

    มรรคาทวารต่อตั้ง             อาราม นึ่งแม่
    เป็นปิ่นบุรีนาม                 ฟ่อนสร้อย
    ดวงเดียวนึ่งนิดยาม            สนิทเช่น ชินเอ่
    ปลอมแปลกนุชเนื้อน้อย      เลิศผู้ผิดองค์

-          ฉบับหอสมุดฯ

    มรรคาทวารทอดตั้ง          อาราม หนึ่งแม่
    เป็นปิ่นบูรีนาม                 ฟ่อนสร้อย
    ดวงเดียวหนึ่งนิศยาม          สนิทเชฐ์ ชิดแฮ
    ปอมแปกนุชเนื้อน้อย          เลิศผู้ผิดองค์

แปล ตามทางเดินมีอารามหนึ่งตั้งต่ออยู่กับประตู ชื่ออารามฟ่อนสร้อย เป็นเครื่องประดับเมืองชั้นยอด มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งทำให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ภาพนางเข้ามาปนอยู่ด้วย งามวิเศษกว่าผู้อื่น (ประเสริฐ ณ นคร 2546 : 101)

2. ตำนานพระธาตุจอมทอง เชียงใหม่

"พ.ศ.2144 ...ตำนานฉบับนี้ได้แต่เมืองนันทบุรี มาแล พระกุล เทโวภิกษุ ลิขิต เมื่ออยู่บ้านหลวงกลาง แคว้นจอมทองแก้ว ญาณวรปัญโญภิกขุ ฟ่อนสร้อยลิขิตสืบมา เมื่อสถิตอยู่บ้านหลวงใหม่ทีแรกแคว้นจอมทองอาณารังครัฎฐะแล (สงวน โชติรัตน์ 2515 : 277)

3. ตำนานวัดบุปผารามสวนดอกไม้

"พ.ศ.2105 มีพิธีอุปสมบทที่วัดสวนดอกไม้ พระภิกษุที่ร่วมพิธีด้วยมี "มหาสวามีเจ้า วัดฟ่อนสร้อย" ร่วมด้วย (สงวน โชติรัตน์ 2515 : 204)

4. ตำนานพระธาตุศรีดอนคำ(ห้วยอ้อ) อำเภอลอง จังหวัดแพร่

"...เมื่อจุลศักราชได้ 961 ตัว (พ.ศ.2142) ยังมีพระมหาสังฆราชองค์หนึ่งอยู่วัดฟ่อนสร้อย นครเชียงใหม่ กาลยามนั้นข้าวแพงนักเกิน หาบิณฑิบาตรเจ้ามารอดแช่ฟ้า..." (สงวน โชติรัตน์ 2515 : 381)

5.รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณในเชียงใหม่  

 วัดฟ่อนสร้อยตั้งอยู่แขวงด้าวประตูช้างใหม่ ในเวียงเชียงใหม่ เจ้าอธิการชื่อว่าปัญญา นิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็นอุปัชฌาย รองอธิการชื่อทุอินทา จำนวนพระลูกวัดในพรรษานี้ 3 องค์ พรรษาก่อน 2 องค์ เณร 9 ตน ขึ้นแก่วัดพันเท่า (พันเตา) (ภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา 2518 : 6)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

เพลงเมธา ขาวหนูนา, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “โบราณสถานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์ (ร้าง) วัดฟ่อนสร้อย.” (ออนไลน์). ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.co.th

จังหวัดเชียงใหม่. แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

โบราณนุรักษ์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานการบูรณะเสริมความมั่นคงและปรับปรับปรุงภูมิทัศน์                     เจดีย์วัดฟ่อนสร้อย ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2546.

ประเสริฐ ณ นคร. โครงนิราศหริภุญชัย. กรุงเทพฯ : พัฒนาการศึกษา, 2546.

ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ภาคปริวรรตลำดับที่ 7. เชียงใหม่ : ภาควิชาฯ, 2518.

สงวน โชติรัตน์. ประชุมตำนานลานนาไทย เล่ม 2. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2515.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

ธนธร เหลี่ยมวานิช. รายงานการสำรวจศึกษาวัดร้างเมืองเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2553.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และสุรพล ดำริห์กุล. วัดร้างในเวียงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: โอเอสพริ้นติ้งเฮ้าท์, 2539.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี