เจดีย์วัดหมื่นกอง


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : เจดีย์วัดหมื่นกอง (ในโรงเรียนยุพราช), วัดหมื่นกอง, วัดหมื่นคอง

ที่ตั้ง : ถ.ราชวิถี ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : ศรีภูมิ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.790927 N, 98.988526 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เจดีย์วัดหมื่นกองปัจจุบันตั้งอยู่ภายในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย บริเวณประตูทางเข้าของโรงเรียน ริมถนนราชวิถี ภายในเมืองโบราณเชียงใหม่ ใกล้กับอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์วัดหมื่นกองตั้งอยู่ภายในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากทางโรงเรียน สามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม 2524 พื้นที่ 1 งาน 48 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์วัดหมื่นกองปัจจุบันตั้งอยู่ภายในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย บริเวณประตูทางเข้าของโรงเรียน ภายในเมืองโบราณเชียงใหม่ ในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง อยู่ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันออกมาทางตะวันตกประมาณ 500 เมตร ห่างจากคูเมืองด้านทิศเหนือมาทางใต้ประมาณ 500 เมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

311 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19, พุทธศตวรรษที่ 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ธนธร เหลี่ยมวานิช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

วัดหมื่นกองเป็นวัดที่ขึ้นกับวัดอุโมงค์ ปัจจุบันเหลือเฉพาะองค์เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมันพระยาติโลกราช พ.ศ.1985 เจดีย์เป็นแบบศิลปะพม่า

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดหมื่นกองสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระยาติโลกราช พ.ศ.1985 เป็นวัดที่ขึ้นกับวัดอุโมงค์ โดยปรากฏชื่อในเอกสาร ดังนี้

1.พ.ศ.2440… “วัดหมื่นคอง ตั้งอยู่แขวงด้าวกลางเวียงเชียงใหม่ เจ้าอธิการชื่อสีวิไช เป็นนิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้อุปัชฌายะ รองอธิการชื่อ ทุสุภา จำนวนพระลูกวัดพรรษามี 2 องค์ พรรษาก่อน 2 องค์ เณรมี 4 ต้น ขึ้นกับวัดองมง (อุโมงค์ในเมือง)” (รายชื่อวัดและนิกายสงฆ์โบราณ : 4)

2.วัดหมื่นคอง สร้างขึ้นในสมัยพญาติโลกราช ประมาณ พ.ศ.1985 (ป้ายประวัติวัดหมื่นคอง) (วัดร้างในเวียงเชียงใหม่) (กรมศิลปากร 2559)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดหมื่นกองเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบศิลปะแบบพม่า ประกอบด้วยชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ยกเก็จซ้อนกันสามชั้น รับเรือนธาตุซึ่งเป็นชุดมาลัยเถาแปดเหลี่ยมสามชั้น ท้องกระดานประดับบัวลูกแก้วอกไก่ และองค์ระฆัง ปล้องไฉน ปัทมบาท ปลีและฉัตร ไม่มีบัลลังก์ ฐานบัวลูกแก้วและชุดมาลัยเถา พบร่องรอยการประดับปูนปั้นรูปดอกบัว ซึ่งเดิมน่าจะมีประดับทุกชั้น องค์ระฆังประดับกลีบบัวโดยรอบ เนื่องจากเจดีย์เป็นศิลปะทรงพม่า จึงน่าจะสร้างตั้งแต่สมัยพม่าปกครองล้านนา คือตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ลงมา

สำหรับแผนผังการวางตัวของเจดีย์และวัดยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากวัดศิลปะพม่าในเชียงใหม่บางวัดสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกด้วย เช่น วัดป่าเป้า เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามเจดีย์องค์นี้วางตัวในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก (ธนธร เหลี่ยมวานิช 2553 : 83 - 84)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “แหล่งโบราณคดีล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ วัดหมื่นคอง (ในโรงเรียนยุพราช).” ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์).  เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.go.th

จังหวัดเชียงใหม่. แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

ธนธร เหลี่ยมวานิช. รายงานการสำรวจวัดร้างเมืองเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2553.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

Google Maps. วัดหมื่นกอง. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559.เข้าถึงได้จาก https://www.google.co.th/maps/place/วัดหมื่นกอง7854195!4d98.9808858?hl=th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี