เนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : เนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดง (ร้าง)

ที่ตั้ง : ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : สุเทพ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.787205 N, 98.956824 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดงหลวงจะอยู่ก่อนถึงวัดอุโมงค์ 500 เมตร แยกออกไปทางทิศตะวันออก ใกล้กับอาคารเฮือนป้อเลี้ยง ซึ่งเป็นที่ดินของประชาชน หรืออยู่ระหว่างซอยบ้านหลิ่งห้า 7 และซอยบ้านหลิ่งห้า 9

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดงเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่นอกเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตก อยู่ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกไปประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบเนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดงเป็น “เฮือนป้อเลี้ยง” ซึ่งเป็นที่ดินของประชาชน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

310 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20–21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : ขุดตรวจ

ผลการศึกษา :

สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ขุดตรวจบริเวณฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พบว่าโบราณวัตถุส่วนใหญ่ประกอบด้วยโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ได้แก่กระเบื้องดินขอและเศษอิฐ ส่วนโบราณวัตถุประเภทอื่น ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาชนิดเนื้อเครื่องดิน (Earthenwares) พบจำนวนน้อยมาก

ชื่อผู้ศึกษา : ธนธร เหลี่ยมวานิช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ขุดตรวจ, ประวัติศาสตร์, สถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

พบว่าเป็นซากเจดีย์ยังไม่ได้รับการบูรณะ จากการขุดตรวจเนินดินพบฐานพระเจดีย์มีลักษณะ 8 เหลี่ยม

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เนินโบราณสถานเจดีย์วัดป่าแดงหลวงเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในบริเวณเขตที่ดินของประชาชน ติดอาคาร “เฮือนป้อเลี้ยง” ลักษณะเป็นเนินขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 เมตร มีดินปกคลุมทั้งเนิน มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมเนินโบราณสถาน

สภาพทั่วไปถูกปรับปรุงให้เป็นสวน ล้อมรอบด้วยลวดหนาม ไม่พบลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์เจดีย์ คงเหลือเพียงฐาน 8 เหลี่ยมเท่านั้น (กรมศิลปากร 2559 ; ธนธร เหลี่ยมวานิช 2553)

ตามประวัติในเอกสารสันนิษฐานระบุว่าวัดนี้น่าจะเป็นวัดป่าแดงหลวง เป็นวัดเข้าสำนักพุทธศาสนานิกายป่าแดง มีสิ่งก่อสร้างกระจายเป็นบริเวณกว้าง แต่ปัจจุบันถูกรบกวนจากสิ่งก่อสร้างระยะหลัง (ธนธร เหลี่ยมวานิช 2553 : 291) ปรากฏหลักฐานในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า พญาติโลกราช (พ.ศ.1985-2031) สร้างวัดป่าแดงหลวงขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิพระราชบิดา (พญาสามฝั่งแกน) และพระราชมารดา ซึ่งในระยะนั้นสภาพการณ์พุทธศาสนาครั้งนั้น ในเมืองเชียงใหม่ได้เกิดกลุ่มพระภิกษุสงฆ์นิกายใหม่ เรียกกันว่านิกายสิงหล ที่มีพระมหาธรรมคัมภีร์ ผู้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากเมืองสิงหลในชมพูทวีป อันมีแนวทางการปฏิบัติที่ต่างออกไปจากพระสงฆ์นิกายรามัญวัดสวนดอก (บุปผาราม)แต่เดิม ที่พระสุมนเถระจากแคว้นสุโขทัยเดินทางมาเผยแผ่ไว้ในสมัยพญากือนา (พ.ศ.1910-1931) ซึ่งศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายใหม่นิกายสิงหลนี้ตั้งอยู่ที่วัดป่าแดงหลวง ที่เรียกกันว่าสำนักวัดป่าแดง นอกจากนี้ได้พบคติการสร้างวัดชื่อป่าแดงในเขตหัวเมืองสำคัญๆของแคว้นล้านนา เช่นที่เมืองพะเยา เมืองเชียงราย และเมืองเชียงแสน เป็นต้น (กรมศิลปากร 2559)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทรัพย์อนันต์ ซื่อสัตย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. “เนินโบราณสถานใกล้วัดป่าแดง”. ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์).  เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.gis.finearts.go.th

จังหวัดเชียงใหม่. แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ 4 ปี (พ.ศ.2558-2561). (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก www.chiangmai.go.th

ธนธร เหลี่ยมวานิช. รายงานการสำรวจวัดร้างเมืองเชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2553.

สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่. รายงานการขุดตรวจศึกษาเนินเจดีย์ร้างวัดป่าแดงหลวง ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่. (เอกสารอัดสำเนา), 2540.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี