โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดบ้านฉาง, ศิลาจารึกวัดบ้านฉาง, จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านฉาง ต.เขาน้อย อ.ลำสนธิ
ตำบล : เขาน้อย
อำเภอ : ลำสนธิ
จังหวัด : ลพบุรี
พิกัด DD : 15.101471 N, 101.391288 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองลำพญากลาง
จากตัว อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2256 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก (ผ่านตัว ต.เขาน้อย อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี) ประมาณ 32.5 กิโลเมตร จะเห็นวัดบ้านฉางประชานิมิตรอยู่ทางขวามือ
ปัจจุบันศิลาจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับการเคารพสักการะของชาวบ้านในละแวกนั้น ตั้งอยู่ในศาลาข้างหอระฆัง สามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน
วัดบ้านฉางประชานิมิตร
วัดบ้านฉางประชานิมิตร ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 2256 สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขา โดยทั่วไปจัดอยู่ในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย บริเวณที่เป็นแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือเทือกเขาที่แบ่งระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช
พื้นที่ตั้งของวัดอยู่ติดกับที่ราบสูงโคราช โดยอยู่ในพื้นที่ระหว่างเทือกเขา 2 แนวที่ทอดตัวจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ เทือกเขาทางตะวันออกคือพื้นที่สูงของที่ราบสูงโคราช บริเวณเชิงเขานี้มีคลองลำพญากลางที่อยู่ห่างจากวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ด้านทิศใต้ของวัดอยู่ติดกับทางน้ำโบราณที่เป็นสาขาของคลองลำพญากลาง และมีลำน้ำสาขาของคลองลำพญากลางอีกสายหนึ่ง ห่างจากวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 180 เมตร
คลองลำพญากลาง, แม่น้ำป่าสัก
อยู่ในเขตพื้นที่ที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนตะพักลำน้ำและตะกอนเศษหินเชิงเขา
ชื่อผู้ศึกษา : วินัย พงศ์ศรีเพียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์, ศึกษาเอกสาร/จารึก
ผลการศึกษา :
เผยแพร่บทอ่านและถ่ายถอดจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ และนำไปแปลความ-ตีความทางประวัติศาสตร์วัดบ้านฉางประชานิมิตร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.2482 ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 2256 สภาพพื้นที่โดยทั่วไปจัดอยู่ในเขตที่สูงตอนกลางของประเทศไทย บริเวณที่เป็นแนวขอบของเทือกเขาที่แบ่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือเทือกเขาที่แบ่งระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช ที่ตั้งของวัดยังอยู่ไม่ไกลจากช่องเหวตาบัว ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อของคนระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงโคราชมาตั้งแต่สมัยโบราณ
วัดบ้านฉางประชานิมิตรเป็นสถานที่เก็บ “ศิลาจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ” จารึกหลักนี้ ตามประวัติวัดกล่าวว่าชาวบ้านคนหนึ่งพบบริเวณจารึกนี้เชิงเขาเหวตาบัว (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านภูผาทอง ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ติดกับบ้านฉางทางทิศตะวันออก) เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ก่อนจะนำไปเก็บไว้ที่บ้านแล้วเจออาถรรพ์ จึงนำมาไว้ที่วัดบ้านฉางประชานิมิตรในที่สุด
จากการสำรวจเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 พบว่าจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพตั้งอยู่ภายในศาลาข้างหอระฆัง โดยศาลาดังกล่าวเป็นศาลาปูนซีเมนต์ขนาดเล็ก ยกพื้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ หลังคาจั่วมุงกระเบื้องลอน ประตูทำเป็นลูกกรงเหล็กมีกุญแจล็อก ผนังด้านบนเป็นซี่ลูกกรงไม้ ภายในศาลานอกจากจารึกแล้ว ยังประดิษฐานประติมากรรมปูนปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) และมีเครื่องสักการะตั้งอยู่ที่ด้านหน้าพระรูป
ศิลาจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ มีรูปทรงแบบเสมา จารึกมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นอักษรไทย ภาษาไทย อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรขอม ภาษาบาลี (วินัย พงศ์ศรีเพียร 2552 : 106) โดยด้านที่เป็นอักษรไทยตั้งหันหน้าออกหน้าศาลา (หันไปทางทิศเหนือ) สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนด้านที่เป็นอักษรเขมรตั้งหันหน้าไปทางด้านหลังศาลา (หันไปทางทิศใต้) สภาพชำรุด ผิวหน้าศิลาจารึกผุกร่อน
ส่วนฐานจารึกถูกหล่อฝังติดแน่นไปกับพื้นซีเมนต์ของศาลา โดยจุดที่จารึกถูกฝังอยู่นั้น ห่างจากผนังศาลาด้านหลังประมาณ 50 เซนติเมตร
เนื้อหาในจารึกโดยสังเขปเกี่ยวกับเหตุการณ์ยกทัพไปตีเมืองเขมรในรัชสมัยเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยกล่าวถึงสมเด็จพระอินทราบรมจักรพรรดิธรรมิกราชเป็นเจ้า ซึ่งน่าจะหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเอกมนตรีพิเศษและขุนนางทั้งหลายยกทัพไปตีเมืองพิมาย พนมรุ้ง ฯลฯ จนราบคาบแล้วถอยทัพกลับคืนมา (การอ่าน-ถ่ายถอดจารึก และแปลความทางประวัติศาสตร์ ดูรายละเอียดใน วินัย พงศ์ศรีเพียร 2552 : 101-109)
ครั้นเมื่อมาถึงบริเวณเขาเหวตาบัว (บริเวณที่พบจารึกหลักนี้) จึงได้ทำศิลาจารึกไว้ที่นั้นเมื่อวัน 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน ศานติ ภักดีคำ (2557 : 69) สันนิษฐานว่าซึ่งน่าจะได้แก่ปีกุน ตรีศก พ.ศ.1974 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เสด็จไปตีเมืองพระนครหลวงนั่นเอง
วินัย พงศ์ศรีเพียร. อาจารยบูชา (Acaryapuja) : สรรพสาระ ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.
ศานติ ภักดีคำ. ยุทธมรรคา : เส้นทางเดินทัพไทย-เขมร. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2557.