วัดจามเทวี


โพสต์เมื่อ 15 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดกู่กุด, วัดกู่กุฏิ, วัดมหาพล

ที่ตั้ง : เลขที่ 1 ถ.จามเทวี

ตำบล : เหมืองง่า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ลำพูน

พิกัด DD : 18.581582 N, 98.996351 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำกวง, แม่น้ำทา, แม่น้ำลี้

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดจามเทวีตั้งอยู่บนถนนสายลำพูน-สันป่าตอง (ถนนจามเทวี) ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตก 1.5 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณปูชนียสถานภายในวัดจามเทวีเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ตามทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดจามเทวี, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3698 วันที่ 8 มีนาคม 2478

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 167 วันที่ 25 กันยายน 2522 

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบหุบเขาและพื้นที่ภูเขา ทางตะวันตกมีที่ราบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำกวง แม่น้ำลี้ แม่น้ำทา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

290 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง, แม่น้ำกวง, แม่น้ำลี้, แม่น้ำทา

สภาพธรณีวิทยา

เป็นพื้นที่ราบ และมีความลาดเอียงบ้าง ได้รับอิทธิพลของแม่น้ำบริเวณนี้จึงมีการสะสมของตะกอนลำน้ำสายต่างๆ โดยมีน้ำท่วมตามริมฝั่งระหว่างแม่น้ำปิงกับแม่น้ำกวงทุกปีที่ทำให้ตะกอนขนาดใหญ่ตกจมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ทำให้มีลักษณะเป็นคันดินธรรมชาติแคบๆขนานไปกับลำน้ำ มีพื้นที่สูงกว่าที่ราบต่ำเล็กน้อย 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหริภุญชัย

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 17

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 13

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2480

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

เจดีย์กู่กุดมีรูปแบบเป็นแบบละโว้ คงสร้างโดยชาวละโว้ในสมัยพระนางจามเทวี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสั่งให้เปลี่ยนชื่อจากวัดกู่กุดที่ชาวบ้านเรียกกันเป็น วัดจามเทวี

ชื่อผู้ศึกษา : R. Halliday

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ศึกษาจารึกที่พบที่เมืองลำพูน 7 หลัก พบว่าใช้ตัวอักษรที่มีรูปร่างคล้ายกับแบบที่ใช้ในสมัยพระเจ้ากยันชิตถา ที่เมืองพุกามในประเทศพม่า (พ.ศ.1628-1656) แต่มีการใช้ตัวสะกดผิดแผกจากกันบ้าง คือจารึกภาษามอญมีความใกล้เคียงกับภาษามอญในสมัยปัจจุบันมากกว่า ซึ่งพบบ้างในจารึกภาษามอญในประเทศพม่าในพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้การใช้ตัวสะกดซ้อนกัน 2 ตัวทำให้นึกถึงจารึกไทยในสมัยสุโขทัย ซึ่งไม่เคยพบการใช้พยัญชนะลงท้ายแบบนี้ในภาษามอญในพม่า

ชื่อผู้ศึกษา : เสนอ นิลเดช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

เจดีย์กู่กุดในวัดจามเทวีกำหนดอายุในสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศิลปะแบบละโว้หริภุญชัย เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิพระนางจามเทวี ส่วนรัตนเจดีย์กำหนดอายุในช่วงเดียวกัน เป็นศิลปะละโว้หริภุญชัยเช่นเดียวกัน

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2504, พ.ศ.2517

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

บูรณะฐานล่างเจดีย์กู่กุด และโครงสร้างเจดีย์ทั้งหมดคงเหลือแต่ปูนปั้นประดับพระเจดีย์ ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมไม่แข็งแรง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2534

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

ตั้งโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมติดที่ เพื่อศึกษาแบบศิลปกรรม และปฏิบัติงานอนุรักษ์ประติมากรรมให้อยู่ในสภาพสวยงามมั่นคง พบร่องรอยการซ่อมบูรณะพระพุทธรูปในซุ้มจระนำเจดีย์กู่กุด และเจดีย์แปดเหลี่ยมหลายครั้ง

ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (บจ.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บูรณะเจดีย์กู่กุด และกุฏิครูบาศรีวิชัย ภายในวัดจามเทวี

ชื่อผู้ศึกษา : พิริยะ ไกรฤกษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

วัดจามเทวี คือวัดมหาพล ตามชื่อหมู่บ้านที่วัดตั้งอยู่ เป็นเจดีย์ที่ปรากฏตามตำนานชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่าผู้ครองแคว้นกัมโพชได้ยกทัพกระทำสงครามกับพญาอาทิตตราช กษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนถึง 3 ครั้ง ในครั้งที่ 2 จับเชลยชาวกัมโพชได้เป็นจำนวนมาก จึงให้เชลยสร้างเจดีย์มหาพลขึ้น และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.1761 อยู่ในสมัยพญาสวาธิสิทธิ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดจามเทวี เป็นวัดเก่าแก่สามารถกำหนดอายุจากหลักฐานศิลปกรรม โบราณวัตถุ โบราณสถาน และศิลาจารึกที่พบภายในวัดว่าคงเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 สมัยหริภุญชัย ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมเก่าที่เป็นที่สนใจ คือ เจดีย์สี่เหลี่ยม “กู่กุด” และเจดีย์แปดเหลี่ยม

สำหรับชื่อวัดจามเทวีนั้น เป็นชื่อในทะเบียนวัดของทางราชการ เช่นปรากฏในประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 9 ของกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าชื่อนี้มีที่มาอย่างไร (กรมศาสนา, 2533, 731) แต่อาจมาจากตำนานท้องถิ่นที่เชื่อว่าเจดีย์สี่เหลี่ยมของวัดเป็นที่บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ที่ได้รับการอัญเชิญมาจากเมืองละโว้ (พระโพธิรังสี, 2520, 10-12) นอกจากนี้มีเรียกว่า วัดกู่กุฏิ หรือกู่กุฏ (กรมศิลปากร, 2516) คงเรียกตามเจดีย์ทรงปราสาทที่ประดิษฐานพระพุทธรูปในซุ้มจระนำ ซึ่งมีส่วนยอดหักหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกของชาวบ้านว่า กู่กุด มีความหมายว่าเจดีย์ยอดด้วน

ประวัติการสร้างวัดจามเทวี ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด ส่วนใหญ่เป็นการสันนิษฐานจากเอกสารชั้นหลังประกอบตำนาน ซึ่งกล่าวกันว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือ พระเจ้ามหันตยศ และพระเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อถวายพระเพลิง แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ

            ... ครั้นถวายพระเพลิง (พระนางจามเทวี) แล้วก็แห่พระอัฐิพระนางเลียบมาหนตะวันตกเวียง (พระมหันตยศ) ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ใต้เวียงหริภุญไชย พระเจดีย์องค์นี้มีชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ (พระพุทธรักขิต-พระพุทธญาณ, 2519, 153)

และที่ปรากฏในหนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงชาวละโว้ยกกองทัพขึ้นมารบกับพระเจ้าทิตตะราชแห่งเมืองหริภุญชัย ราวปี พ.ศ.1616 แต่กองทัพละโว้พ่ายแพ้ จึงถูกเกณฑ์ให้สร้างเจดีย์องค์หนึ่งเรียกชื่อว่า “เจดีย์มหาพล” ของวัดทุ่งมหาพล (แสง มนวิทูร [ผู้แปล], 2501, 87) ดังปรากฏข้อความดังนี้  แสง มนวิทูร [ผู้แปล], 2501, 88, 91)

            ... พระเจ้าทิตตะ... ประทานอภัยเชลยทั้งหลายเหล่านั้น

            และตรัสสั่งให้เชลยเหล่านั้น สร้างเจดีย์มหาพล...

ซึ่งเข้าใจว่าวัดทุ่งมหาพลคือวัดจามเทวี (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 29) โดยสันนิษฐานจากศิลาจารึกที่พบที่ฐานด้านทิศตะวันออกของเจดีย์กู่กุด อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ระบุถึงพระเจ้าสววาสิทธิโปรดให้สร้าง (หรือปฏิสังขรณ์) เจดีย์ซึ่งพังทลายลงเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหว อันอาจเป็นเจดีย์กู่กุดองค์นี้ (จารึกในประเทศไทย เล่ม 2, 2529, 123-126) มีข้อความสำคัญระบุถึงเจดีย์องค์นี้ว่า                       

            ... แก้วอันประเสริฐซึ่งเป็น...

            เจดีย์องค์นี้ (รัตนเจดีย์) ซึ่ง... ของข้าพเจ้าผู้มีนามว่า

            พระจันทร์เสวยฤกษ์ปิยะ (?) ข้าพเจ้าได้บูรณะแก้วอันประเสริฐ คือ

            “เจดีย์องค์นี้ในปัจจุบัน” (อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, 2537, 228-229)

รูปแบบของเจดีย์กู่กุดในปัจจุบัน ควรเป็นงานในรัชกาลของพระเจ้าสววาธิสิทธิ (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 29) โดยเป็นเจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง ทรงปราสาทที่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุทำซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประดิษฐานพระพุทธรูปอิริยาบถยืนอยู่ภายในซุ้มจระนำซุ้ม ด้านละ  3 องค์ จึงมีชั้นละ 12 องค์ ทั้งหมดมี 5 ชั้น ดังนั้นจึงมีพระพุทธรูปประดับทั้งหมด 60 องค์ ที่มุมเจดีย์ในแต่ละชั้นมีการประดับเจดีย์จำลองขนาดเล็กเรียกว่าสถูปิกะ เป็นยอดบริวาร ซึ่งช่วยให้เกิดความต่อเนื่องและความกลมกลืนระหว่างชั้นต่อชั้น แต่ทางด้านความหมายยังไม่ทราบกันในปัจจุบัน (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 30) ส่วนยอดประธานที่หักหายไป อยู่ในทรงกรวมสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยชั้นคล้ายลูกแก้วอกไก่ซ้อนเป็นชุด และคั่นจังหวะของชุดด้วยแถวกลีบบัวหงาย ซึ่งมีผู้เสนอว่ายอดของเจดีย์กู่กุดคงเป็นรูปดอกบัวตูม เนื่องจากได้พบพระพิมพ์พบที่ลำพูนมีสถาปัตยกรรมมียอดดอกบัวตูม ซึ่งสืบทอดจากสถาปัตยกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่ปรากฏในใบเสมาพบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง (พิริยะ ไกรฤกษ์, 2528, 148-147) แต่สถาปัตยกรรมในพระพิมพ์คล้ายกับศิขระในประเทศพม่า ในขณะที่อาจเทียบได้กับสุวรรณเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งที่เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาทรูปแบบเดียวกันที่ยังปรากฏยอดอยู่ด้วย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2547, 9)

สำหรับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในจระนำทั้ง 60 องค์ของเจดีย์กู่กุด  อาจหมายถึงอดีตพุทธที่ทรงตรัสรู้แล้วในโลกมนุษย์ในอดีต หรืออาจหมายถึงปัจเจกพุทธที่มีมากมายนับไม่ถ้วน (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 30) อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านเสนอว่าอาจหมายถึงพระอรหันต์ทั้ง 60 องค์ที่ปรากฏตามพุทธประวัติตอนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าได้เทศนาสั่งสอนเบญจวัคคีย์ทั้ง 5  พระยศกุลบุตร 1 กับพระสหายอีก 54 คน รวมเป็น 60 องค์พอดี ซึ่งช่างหริภุญชัยได้สร้างความแตกต่างกับพระพุทธเจ้าด้วยการทำเป็นพระพุทธรูปมีพระมัสสุดังที่ปรากฏ (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2538, 112-115)

สำหรับสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในวัดจามเทวี คือเจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบหริภุญชัย เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ อยู่ภายในวัดจามเทวี ซึ่งไม่มีการสืบประวัติความเป็นมามากนัก ปัจจุบันมีการเรียกชื่อสับสนกับเจดีย์กู่กุด เนื่องจากไม่มีข้อสรุปแน่นอนว่ารัตนเจดีย์ที่พระเจ้าสววาสิทธิสร้างหรือบูรณะคือองค์ใดแน่ (พระพุทธรักขิต-พระพุทธญาณ, 2519, 180) โดยเจดีย์องค์นี้นับเป็นตัวอย่างเจดีย์ในสมัยหริภุญชัยที่มีรูปแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2547, 9) เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังแปดเหลี่ยมตั้งแต่ฐานจนถึงชั้นหลังคา คือประกอบด้วยฐานเขียง 2 ฐานรองรับส่วนฐานบัวคล้ายกับฐานบัววลัยของเจดีย์แบบทวารวดี ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุที่ประดับจระนำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ภายในทั้ง 8 ด้าน ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มฝักเพกาแบบพม่า (clec) มีปลายซุ้มเป็นรูปมกรคายช่อดอกไม้ เป็นมกรแบบศิลปะทวารวดี ซึ่งพบในศิลปะพุกามด้วย (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 37) เหนือส่วนเรือนธาตุเป็นชั้นคล้ายกับชั้นของหลังคาเอนลาด เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีฐานแปดเหลี่ยมเจาะช่องประดับพระพุทธรูปนั่งทั้ง 8 ด้านรองรับเจดีย์ทรงระฆังกลม ส่วนยอดสุดของเจดีย์หักหายไป

รูปแบบเช่นนี้คงสัมพันธ์กับเจดีย์บางกลุ่มในศิลปะทวารวดี เช่น เจดีย์หมายเลข 13 ที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2547, 10) นอกจากนี้ปรากฏในกลุ่มเจดีย์สมัยหลัง ได้แก่ วัดพระแก้วเมืองสรรค์ จังหวัดชัยนาท วัดพระรูปจังหวัดสุพรรณบุรี และอาจสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมเจดีย์แปดเหลี่ยมด้วย

พระพุทธรูปภายในจระนำอาจแบ่งได้เป็น 2 รุ่น คือ รุ่นแรก ส่วนเศียรทำจากดินเผาถอดพิมพ์ ลำพระองค์เป็นปูนปั้น พระหัตถ์ยกขึ้นทั้งสองข้าง เห็นแกนไม้ภายในเชื่อมส่วนพระหัตถ์ซึ่งอาจเป็นปางแสดงธรรมทั้งสองข้าง หรือยกขึ้นแบบปางห้ามสมุทร ส่วนรุ่นที่สอง พระเศียรและลำพระองค์เป็นปูนปั้นทั้งสิ้น แต่ส่วนพระรัศมีและเม็ดพระศกเป็นดินเผา รุ่นนี้คงเกิดจากการซ่อมบูรณะในสมัยหลัง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าพระพุทธรูปรุ่นนี้ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในซุ้มของเจดีย์กู่กุด (เด่นดาว ศิลปานนท์, 2534, 136)

พระพุทธรูปทั้งที่เจดีย์กู่กุด และเจดีย์แปดเหลี่ยม พบว่าเคยมีการซ่อมบูรณะมาแล้วหลายครั้ง เห็นได้จากปูนขาวที่ทาทับประติมากรรมเดิมนับสิบชั้น หรือปั้นซ่อมส่วนที่ชำรุดหักหายไปทั้งสององค์ แต่เจดีย์แปดเหลี่ยมมีการซ่อมแซมน้อยกว่า (เด่นดาว ศิลปานนท์, 2534, 135.)

สันนิษฐานว่าวัดจามเทวีคงถูกทิ้งร้างไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ.2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาศรีวิชัยมาช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิ ตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานสำคัญของวัด แล้วสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นใหม่ มีภิกษุจำพรรษา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2480 มีชื่อว่า วัดจามเทวี จนทุกวันนี้ (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 105)

 

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๒ (วัดกู่กุด)

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 9. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การพระศาสนา, 2533.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถาน เล่ม 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการ ทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.

จารึกในประเทศไทย เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.

เด่นดาว ศิลปานนท์. “หลักฐานใหม่จากวัดกู่กุด.” เมืองโบราณ 17, 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2534) : 133 – 137.

พระพุทธรักขิต-พระพุทธญาณ. ตำนานมูลศาสนา. หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2519.

พระโพธิรังสี. คำแปลจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญชัย. พระนคร : กรมศิลปากร, 2510.

พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พระมีหนวด.” ศิลปวัฒนธรรม 16/7 (พฤษภาคม 2538) : 112-115.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. เอกสารคำสอน รายวิชา 317 405 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-21 ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.

แสง มนวิทูร [ผู้แปล]. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2501.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. “ทางเปิดเพื่อการศึกษาพระเจดีย์ทรงปราสาท ณ จังหวัดลำพูน.” วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร 14 (มิถุนายน – พฤษภาคม 2537) : 226-235.