เวียงกุมกาม


โพสต์เมื่อ 16 ม.ค. 2022

ที่ตั้ง : ต.ท่าวังตาล อ.สารภี

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.750716 N, 98.998553 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เริ่มต้นจากเมืองเชียงใหม่ ให้ใช้ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (ถนนสายต้นยางเชียงใหม่ - ลำพูน) ถึงทางแยกวัดศรีบุญเรือง ให้เลี้ยวขวาเข้ามายังบ้านเจดีย์เหลี่ยม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เมืองเวียงกุมกามในปัจจุบันมีสภาพเป็นชุมชน โดยสามารถเที่ยวชมโบราณสถานในจุดต่างๆ ได้ ซึ่งจะมีศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวเวียงกุมกาม คอยให้บริการ เปิดเวลา 08.30-17.00 น.

ค่าเข้าชมคนไทย / ชาวต่างชาติ คนละ 10 บาท นักเรียน-นักศึกษา คนละ 5 บาท

ค่าบริการรถราง คันละ 400 บาท นั่งได้ 20 คน รถราง นักเรียน-นักศึกษา คันละ 350 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลท่าวังตาล

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณ แต่มีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานหลายๆ แห่ง ทั้งภายในและภายนอกเมืองเวียง

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เวียงกุมกามเป็นเมืองโบราณที่มีแผนผังลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง 600 เมตร และยาว 850 เมตร โดยประมาณ ล้อมรอบด้วยคูเมืองและคันดิน (ปัจจุบันเหลืออยู่บางส่วน) ตั้งขนานไปตามลำน้ำปิงสายเก่า ซึ่งเรียกกันว่า ปิงห่าง แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกดังที่เป็นในปัจจุบัน

เมืองเวียงกุมกามตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้หน้าฝนจะมีน้ำท่วมทุกปี (กรมศิลปากร 2534 : 15) ในอดีตเมืองเวียงกุมกามได้ถูกน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงทำให้โบราณสถานหลายแห่งเกิดความเสียหายและถูกตะกอนพัดพากันมาทับถม โบราณสถานหลายแห่งในเมืองเวียงกุมกามจึงมีสภาพเป็นเพียงเนินดินก่อนที่จะมีการขุดค้นและขุดแต่งจากกรมศิลปากร

เมืองเวียงกุมกามในปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอสารภี ห่างจากเมืองเชียงใหม่ลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร มีสภาพเป็นชุมชน ใช้เป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ที่นา และสวนผลไม้

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

306 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : สำรวจ, ทำผัง

ผลการศึกษา :

พบศาสนสถานในพุทธศาสนา (วัดร้าง) จำนวน 25 แหล่ง ส่วนมากเป็นเนินโบราณสถานและมีเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528, พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, อนุรักษ์โบราณสถาน

ผลการศึกษา :

ได้ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถาน ได้แก่ วัดช้างค้ำกานโถม วัดธาตุน้อย วัดกุมกาม วัดอีค่าง วัดปู่เบี้ย และวัดธาตุขาว

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, อนุรักษ์โบราณสถาน

ผลการศึกษา :

ได้ดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถาน ได้แก่ วัดกู่ขาว วัดกู่ไม้ซ้ง วัดพระเจ้าองค์ดำ วัดพญามังราย และวัดหัวหนอง

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539, พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : อนุรักษ์โบราณสถาน

ผลการศึกษา :

รัฐบาลได้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อทำการบริหารจัดการอนุรักษ์พัฒนาโบราณสถาน โดยได้เริ่มที่วัดเจดีย์เหลี่ยม

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์ รวมถึงปรับภูมิทัศน์ในโบราณสถานหลายแห่งในเมืองเวียงกุมกาม โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2548

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณที่มีแผนผังลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างประมาณ 600 เมตร และยาวประมาณ 850 เมตร โดยประมาณ ล้อมรอบด้วยคูเมืองและคันดิน (ปัจจุบันเหลืออยู่บางส่วน) ตั้งขนานไปตามลำน้ำปิงสายเก่า ซึ่งเรียกกันว่า ปิงห่าง แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงมีการเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกดังที่เป็นในปัจจุบัน

กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานเมืองเวียงกุมกามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 และได้มีการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทำให้ได้ทราบข้อมูลของเวียงกุมกาม ทั้งจากเอกสารประเภทตำนาน พงศาวดาร จารึก รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดี ดังต่อไปนี้

หลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์

เกี่ยวกับการสร้างเมืองเวียงกุมกามปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับที่มีลักษณะเป็นตำนาน คือ ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารภาคที่ 61 พงศาวดารโยนก ตำนานสิบห้าราชวงศ์ จารึกวัดพระยืน เป็นต้น

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทำให้ทราบว่าเมืองเวียงกุมกามเป็นเมืองโบราณที่สร้างขึ้นโดยพญามังราย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โดยสร้างขึ้นก่อนเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถระบุปีที่สร้างอย่างชัดเจนได้ เพราะมีการระบุถึงปีที่สร้างไม่ตรงกัน

ในช่วงที่พญามังรายได้สถาปนาเมืองเวียงกุมกาม มีการกล่าวถึงการสร้างศาสนสถาน 2 แห่ง คือ วัดกู่คำ (วัดเจดีย์เหลี่ยม) และวัดกานโถม (วัดช้างค้ำ, วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์) โดยศาสนสถานอื่นๆ แทบไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสาร เว้นแต่วัดเกาะกุมกาม ซึ่งปรากฏการกล่าวถึงในช่วงรัชกาลของพระเมืองแก้ว

หลังจากที่พญามังรายได้สถาปนาเมืองเชียงใหม่แล้ว เมืองเวียงกุมกามยังคงมีการใช้งานต่อเนื่องในฐานะเมืองหน้าด่านของเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 ข้อมูลของเมืองเวียงกุมกามได้หายไปจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยมีการสันนิษฐานว่าในช่วงเวลานั้นอาจกลายเป็นเป็นเมืองร้าง

กระทั่งช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุถึงชื่อท่าวังตาลว่าอยู่ติดกับเวียงกุมกาม จึงเป็นไปได้ว่าช่วงนี้เมืองเวียงกุมกามจึงกลับมามีการใช้งานอีกครั้ง และต่อเนื่องกันมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 25 ที่มีการเข้ามาตั้งชุมชนในช่วงรัชกาลที่ 5 รวมถึงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานในเมืองเวียงกุมกามหลายแห่ง

หลักฐานทางโบราณคดี

บริเวณเมืองเวียงกุมกามปรากฏหลักฐานว่าแต่เดิมมีชุมชนที่อาศัยอยู่ก่อนการสร้างเมืองเวียงกุมกาม โดยเป็นชุมชนขนาดเล็กในวัฒนธรรมหริภุญชัย (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18) ซึ่งพบหลักฐานที่บริเวณวัดกานโถม (ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งวัดกานโถมมีชื่อว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์) อาทิเช่น ศิลาจารึกอักษรมอญ ซากโบราณสถานที่ถูกวิหารวัดกานโถมสร้างทับ และโบราณวัตถุในศิลปะหริภุญชัย โดยเฉพาะพระพิมพ์ดินเผา ทั้งนี้จากหลักฐานทางโบราณคดีมีความสอดคล้องกันกับตำนานมูลศาสนา

นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดียังพบว่าภายหลังจากที่พญามังรายได้ย้ายไปสร้างเมืองเชียงใหม่ เมืองเวียงกุมกามก็ยังมีสถานะเป็นเมืองสำคัญอยู่ ไม่ได้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างไปแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เพราะพบหลักฐานการก่อสร้างและการซ่อมเสริมภายในเวียงกุมกามต่อเนื่องกันมาจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 23

การกำหนดอายุสมัย

จากหลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่าเมืองเวียงกุมกามน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โดยก่อนการสร้างเมืองเวียงกุมกามนั้น มีลักษณะเป็นชุมชนขนาดเล็กในวัฒนธรรมหริภุญชัยมาก่อนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 และภายหลังจากที่สร้างเมืองเวียงกุมกามขึ้นมาแล้ว ก็ได้มีการใช้งานต่อเนื่องจนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 แล้วจึงถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะหนึ่ง

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1. ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงพระเจ้ามังรายได้สร้างได้สร้างนครกุมกาม เมื่อจุลศักราช 665 (พ.ศ. 1847)

2. ตำนานมูลศาสนา กล่าวถึงพระยามังรายได้มาตั้งที่กุมกาม ความว่า “...ถัดนั้นพระยามังรายออกมาตั้งที่กุมกาม แปลงบ้านอยู่ 3 แห่ง แห่ง 1 ชื่อว่าบ้านกลาง แห่ง 1 ชื่อว่าบ้านลุ่ม แห่ง 1 ชื่อว่าบ้านแหมนั้น...”

3. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงพระยามังรายสร้างเวียงกุมกาม เมื่อจุลศักราช 648 ตรงกับ พ.ศ. 1830

4. พงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวถึงพระยามังรายตั้งเวียงกุมกาม เมื่อจุลศักราช 648 ตรงกับ พ.ศ. 1830

5. พงศาวดารโยนก กล่าวถึงพระยาเมงรายมาสร้างเวียงกุมกาม ในปีจุลศักราช 648 ตรงกับ พ.ศ. 1830

6. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับวัดเมธังกราวาส จ.แพร่ คัดลอกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 กล่าวถึงพื้นที่บริเวณวัดกานโถม มีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนที่จะมีการสถาปนาเมืองเวียงกุมกาม

จารึกที่เกี่ยวข้อง : จารึกวัดพระยืน ปรากฏชื่อ “กุมกาม” ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 31 กล่าวถึงผู้คนจากเมืองหริภุญชัย เวียงกุมกาม และเชียงใหม่ มีศรัทธามาร่วมงานถวายพระอารามแก่พระสุมนเถระ 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

กรมศิลปากร. เวียงกุมกาม : รายงานการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2534.

จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม เวียงกุมกาม. เขียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี