วัดช้างค้ำ(กานโถม)


โพสต์เมื่อ 20 พ.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดช้างค้ำกานโถม, วัดกานโถม, วัดการโถม, วัดกาดโถม, วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์

ที่ตั้ง : ม.11 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.747925 N, 99.001853 E

เขตลุ่มน้ำรอง : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

โบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถม (วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์) ตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานวัดธาตุน้อย จากถนนมหิดล ให้เข้าทางมหิดล ซอย 6 ตรงมาตามทางระยะประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางบ้านเสาหิน ซอย 10 ตรงไปจนสุดทาง โบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถมจะอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

โบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถม ตั้งอยู่ในวัดกานโถมกุมกามภิรมณ์ ซึ่งเป็นวัดที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์, เทศบาลตำบลท่าวังตาล

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 127ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 (วัดช้างค้ำค้ำ(กานโถม))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถม เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดกานโถม ตั้งอยู่ในเขตของวัดช้างค้ำ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์)

ตัวโบราณสถานแต่เดิมนั้นถูกฝังอยู่ใต้ดินในบริเวณสนามหญ้าของโรงเรียนวัดช้างค้ำ ซึ่งปัจจุบันสนามหญ้านั้นได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

ปัจจุบันโบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถมอยู่ในการปกครองของวัดกานโถมกุมกามภิรมณ์ (วัดช้างค้ำ) ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางของเมืองเวียงกุมกาม และมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

สภาพแวดล้อมทั่วไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ เป็นเขตบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างค่อนข้างหนาแน่น ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นเขตที่ลุ่มต่ำใช้ทำนามาแต่เดิม ปัจจุบันพบว่าเริ่มมีการเข้าไปก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และมีโครงการก่อสร้างบ้านและที่ดินจัดสรร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

305 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 19

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานในส่วนที่เป็นวัดกานโถมเดิม และพบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญชัย

ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก.เฌอกรีน บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดช้างค้ำ ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 - 13 กรกฎาคม 2555 ภายใต้การควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดช้างค้ำกานโถม เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน ในส่วนของโบราณสถานนั้น เดิมมีชื่อว่า วัดกานโถม แต่เนื่องจากอยู่ในเขตของวัดช้างค้ำในปัจจุบัน จึงเรียกชื่อรวมกันว่า วัดช้างค้ำกานโถม (ปัจจุบันวัดช้างค้ำมีชื่อเป็นทางการว่า วัดกานโถมกุมกามภิรมณ์)

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถม ในปี พ.ศ.2527 (กรมศิลปากร 2548 : 76 – 78) พบข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

ชื่อของโบราณสถานวัดกานโถมปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก ซึ่งมีบันทึกถึงการสร้างวัดโดยพญามังรายโปรดให้สร้าง เสร็จเมื่อจุลศักราช 652 (พ.ศ.1833) ในครั้งนั้นพญามังรายให้หล่อพระพุทธปฏิมากร 5 องค์ เป็นพระนั่ง 3 องค์ พระยืน 2 องค์ มีขนาดเท่าพระองค์ แล้วจึงโปรดให้นายช่างกานโถมหรือกาดโถม สร้างวิหารคลุมพระพุทธรูป

จากการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดช้างค้ำกานโถม พบว่าโบราณสถานประกอบด้วย วิหาร มณฑปท้ายวิหาร และเจดีย์ (ซึ่งมีการซ่อมในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. เจดีย์ ในพงศาวดารโยนกบันทึกว่า ในปี พ.ศ. 1834 พญามังรายโปรดให้สร้างเจดีย์กว้าง 6 วา สูง 4 วา มีซุ้มจระนำ 2 ชั้น ชั้นล่างมีพระพุทธรูปประทับนั่ง 4 องค์ ชั้นบนไว้พระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง แล้วสร้างรูปพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอินทร์ และนางธรณี ไว้คอยรักษาพระพุทธรูป ต่อมาได้มีการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 2 องค์ไว้ภายใน

เจดีย์องค์ดังกล่าวที่ระบุในพงศาวดารโยนก อาจถูกซ่อมโดยการก่อทับมาตั้งแต่สมัยพญามังราย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 68) และการซ่อมเจดีย์วัดกานโถมครั้งสุดท้าย น่าจะเกิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยผลของการซ่อมทำให้รูปแบบเจดีย์ประธานวัดช้างค้ำกานโถมในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นแบบเจดีย์พม่า

2. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันตก ปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐาน จากการขุดแต่งพบร่องรอบการสร้างวิหารทับซ้อนกัน 2 ครั้ง ลักษณะวิหารมีการยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน พื้นที่ยกเก็จด้านหลังไม่มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ทำเป็นทางเชื่อมต่อกับมณฑปท้ายวิหารแบบวิหารทรงปราสาท

3. มณฑปท้ายวิหาร ภายในมณฑปท้ายวิหารมีฐานปัทม์ก่ออิฐรูปแปดเหลี่ยม เหนือฐานปัทม์น่าจะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูงเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ

โบราณวัตถุที่พบ

การขุดแต่งศึกษาวัดช้างค้ำกานโถมเมื่อปี พ.ศ. 2527 พบพระพิมพ์ดินเผาแบบหริภุญชัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดี พบว่ากลุ่มพระพิมพ์ดินเผาดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อน และไม่มีความสัมพันธ์กับการก่อสร้างกานโถม นอกจากนี้ยังพบคนโทดินเผาเนื้อหยาบ มีลายขูดขีดแบบหริภุญชัย ซึ่งภายในมีอัฐิบรรจุอยู่ พระพุทธรูปบุทองคำทรงเทริดแบบหริภุญชัย ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น หม้อดินเผาสีน้ำตาล เนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาลจากแหล่งเตาสันกำแพง ภายในบรรจุแหวนทองคำประดับอัญมณี และเงินขาคีมหรือเงินเจียง ซึ่งเป็นเงินโบราณล้านนา ประทับอักษร “หม” หมายถึง “เชียงใหม่” ทุกก้อน

นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนศิลาจารึกจำนวน 5 ชิ้น จารึกเป็นอักษรมอญ อักษรฝักขาม และอักษรรูปแบบผสมระหว่างอักษรไทยและมอญ ทั้งนี้ ดร.ฮันส์ เพนธ์ วิเคราะห์ว่าน่าจะอยู่ในหลักเดียวกัน แต่จารึกคนละสมัย โดยมีจารึกอักษรมอญเป็นการจารึกที่เก่าที่สุด กำหนดอายุราว พ.ศ. 1750 – 1850 จารึกอักษรรูปแบบผสมระหว่างอักษรไทย – มอญ กำหนดอายุราว พ.ศ. 1750 – 1850 ส่วนจารึกอักษรฝักขามกำหนดอายุราว พ.ศ. 1940

การกำหนดอายุสมัย

จากหลักฐานทางโบราณคดีประกอบกับศิลาจารึก แสดงให้เห็นว่าก่อนที่พญามังรายจะทรงสร้างวัดกานโถม (สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19) บริเวณนี้มีชุมชนในวัฒนธรรมแบบหริภุญชัยมาก่อนแล้ว ซึ่งพญามังรายคงสร้างวิหารวัดกานโถมทับบนวัดโบราณ หลังจากนั้นวัดกานโถมก็ได้รับการทำนุบำรุงโดยกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏหลักฐานในตำนานโบราณล้านนาหลายฉบับ

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :

1. พงศวดารโยนก กล่าวถึงการสร้างของวัดกานโถมโดยพญามังราย เสร็จเมื่อจุลศักราช 652 (พ.ศ. 1833)

2. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับวัดเมธังกราวาส จ.แพร่ คัดลอกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 กล่าวถึงพื้นที่บริเวณวัดกานโถม มีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนที่จะมีการสถาปนาเมืองเวียงกุมกาม

3. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงในรัชกาลพญามังราย มีการส้างวิหารขึ้นหลังหนึ่ง โดยมีช่างกานโถมเป็นผู้ประกอบโครงสร้างม้าต่างไหมมาจากเมืองเชียงแสน

จารึกที่เกี่ยวข้อง :

จารึกวัดกานโถม เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2042 ในรัชกาลของพระเมืองแก้ว กล่าวถึงนางบุญยวงได้สร้างพระพุทธรูปสำริดประดิษฐานในวัดกานโถม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี