วัดปู่เปี้ย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดปู่เปี้ย (ร้าง)

ที่ตั้ง : ม.11 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.749704 N, 98.997564 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดปู่เบี้ยอยู่ในเวียงกุมกาม อยู่ถัดจากวัดพระเจ้าองค์ดำลงมาทางใต้ ระยะประมาณ 250 เมตร บริเวณหัวมุมสามแยก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดปู่เบี้ยเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม 2542 (วัดปู่เปี้ย(ร้าง))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดปู่เบี้ยเป็นโบราณสถานร้าง เดิมมีสภาพเป็นสวนลำไยของบิดานางจันดี และหลังจากที่กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี ในปี พ.ศ. 2529 ทำให้พบกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ อุโบสถ สถูปแปดเหลี่ยม และแท่นบูชา

ปัจจุบันบริเวณโบราณสถานแวดล้อมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

304 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบกลุ่มโบราณสถาน ประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร อุโบสถ สถูปแปดเหลี่ยม และแท่นบูชา

ชื่อผู้ศึกษา : ช่อฟ้าก่อสร้าง (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก.ช่อฟ้าก่อสร้าง ดำเนินการบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดปู่เปี้ย ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 - 13 กรกฎาคม 2555 ภายใต้การควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดปู่เบี้ยเป็นโบราณสถานร้าง ชื่อของวัดปู่เบี้ยมาจากการที่ชาวบ้านเรียกตามลักษณะชายชราร่างเล็กที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้ (คำว่า ปู่เบี้ย หมายถึง ปู่เตี้ย)

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดปู่เบี้ย ในปี พ.ศ. 2529 (กรมศิลปากร 2548 : 85 – 87) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

จากการขุดแต่งศึกษาพบว่าโบราณสถานวัดปู่เบี้ยประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร อุโบสถ สถูปแปดเหลี่ยม และแท่นบูชา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร คงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห้องด้านหลังมีฐานชุกชีเต็มพื้นที่ห้อง เช่นเดียวกับวัดอีต่าง วัดกู่อ้ายสี วัดกู่อ้ายหลาน และวัดพญามังราย ถัดจากห้องประดิษฐานพระประธานเป็นคูหา (ห้องคันธกุฎี) ภายในวิหารมีเสาวกอด 6 คู่มีบันไดหลักด้านหน้าและบันไดเล็กภายวิหาร 2 แห่งชั้นมีบันไดและห้องครัวหาใครวิหารห้องคันธกุฎีนั้นเชื่อมต่อกับด้านประทักษิณของเจดีย์จากการขุดแต่งพบว่าวิหารวัดปู่เปี้ยมีการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัยโดยสมัยหลังได้มีการขยายยี่ห้อเพิ่มเสาคู่นอกวิหารบริเวณผนังด้านข้างเพื่อรองรับใช้ครับปีกนกทั้ง 2 ข้างใช้เสาคู่ในและสร้างคู่หทัยวิหารห้องคันธกุฎีสร้างมุขโถงตอนหน้าสร้างบันไดทางขึ้นด้านหน้าและตกแต่งหัวเสาด้วยส่วนเหงา

2. เจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณด้านหลังวิหาร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มุมฐานประทักษิณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีบันไดทางขึ้น 1 แห่ง

รูปแบบเจดีย์เป็นทรงปราสาทยอดระฆัง ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับชั้นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมในผังยกเก็จซ้อนกัน 3 ชั้น และชุดฐานปัทม์ยกเก็จซ้อนกัน 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วย ฐานปัทม์เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น และคั่นไว้ด้วยชั้นหน้ากระดานที่ยืดสูงมาก

ส่วนตอนกลางเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม ยกเก็จล้อกับส่วนฐาน มีซุ้มจะนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน มุมเรือนธาตุตกแต่งด้วยลายกาบบน กาบล่าง ส่วนองค์เรือนธาตุตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน

เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นฐานปัทม์ลดรูป รองรับชั้นมาลัยเถาและองค์ระฆังในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งชั้นมาลัยเถาวัดปู่เบี้ยมีลักษณะไม่ตรงตามแบบแผนของเจดีย์ล้านนามากนัก เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์หลายเหลี่ยมหรืออาจเป็นบัลลังก์ทรงกลมก็ได้ ส่วนบนพังทลายไม่ทราบรูปแบบ

รูปแบบของเจดีย์วัดปู่เบี้ยมีวิวัฒนาการในด้านความสูงของชุดฐานอย่างมาก ทั้งฐานเขียงและฐานปัทม์ยกเก็จสูงซ้อนกัน 2 ชุด ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงปราสาทในระยะก่อน ดังนั้นอาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในราวครึ่งหลังปลายพุทธศตวรรษที่ 21

3. อุโบสถ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก วางผังขนานไปกับแนววิหารและเจดีย์ ตั้งบนฐานเขียงที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ผนังกำแพงมีช่องปรุรูปกากบาท มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ภายในกำแพงแก้วมีเสมาหินทรายกลมสีแดงและสีเทา อุโบสถก่ออิฐฉาบปูนขาว ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนปัทม์ ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ห้องด้านหลังเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน ภายในอาคารไม่มีเสารองรับโครงสร้างหลังคา แต่ใช้เทคนิคแบบผนังรับน้ำหนักแทน บริเวณฐานหน้ากระดานทองไม้ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปเมฆ หรือลายกรอบช่องกระจกโดยรอบ

4. สถูปแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ คงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ที่มีลักษณะเป็นบัวคว่ำ เหนือขึ้นไปเจาะช่องปรุรูปกากบาทเช่นเดียวกับผนังกำแพงแก้วของอุโบสถ ด้านละ 2 ช่อง ที่เหลือพังทลาย แต่จากการพบแผ่นทองจังโกที่ใช้ประดับส่วนปล้องไฉนในบริเวณสถูปนั้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถูปแปดเหลี่ยมที่ยอดเป็นองค์ระฆัง ปล้องไฉน และฉัตร และคงเป็นสถูปบรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญ เพราะพบหม้อดินเผาเนื้อไม่แกร่ง และเศษกระดูกข้อต่อส่วนมือหรือเท้าของมนุษย์ ด้านหน้าของสถูปแปดเหลี่ยมเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาแบบฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว พระพุทธรูปหินทราย พระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปขนาดเล็กเนื้อตะกั่วด้านหลังมีการจารึกคาถา พระพิมพ์ดินเผาประเภทพระผงและพระสิงสอง

นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง และภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย ส่วนโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้แก่ แผ่นอิฐมีลวดลาย แก้วหัวแหวนหินสี ลูกปัดหินสี ใบมีดเหล็ก และหอยเบี้ย เป็นต้น

การกำหนดอายุสมัย

จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของสถาปัตยกรรมวิเคราะห์ร่วมกับโบราณวัตถุ จึงสันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานวัดปู่เบี้ยน่าจะมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ 21 – 22

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี