โพสต์เมื่อ 19 ก.ย. 2021
ชื่ออื่น : วัดพระธาตุเจดีย์หลวง, วัดเจดีย์หลวง เชียงแสน, วัดพระธาตุเจดีย์หลวง เชียงแสน
ที่ตั้ง : ม.3 บ้านเวียง
ตำบล : เวียง
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.273152 N, 100.080312 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดเจดีย์หลวงเป็นวัดสำคัญของเมืองเชียงแสน โบราณปูชนียสถานภายในวัดเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่นิยมและสำคัญมากแห่งหนึ่งของเมืองเชียงแสน ทั้งยังตั้งอยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงเสน
สามารถเข้าสักการะหรือเยี่ยมชมได้ทุกวัน ตามเวลาการเปิด-ปิดของทางวัด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดเจดีย์หลวง โทร.053-777-044 หรือองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง โทร.053-650-803
วัดเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ภายในตัวอำเภอเชียงแสน ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน
วัดเจดีย์หลวง, กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 หน้า 3673 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 74 ตอน 96 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 97 ตอน 10 วันที่ 20 มกราคม 2532
บริเวณเมืองเชียงแสนที่ตั้งของวัดเจดีย์หลวงเป็นที่ราบลุ่มซึ่งเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านจึงมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยวัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงแสน ด้านทิศตะวันตกห่างจากประตูเชียงแสน (ป่าสัก)ประมาณ 150 เมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจรดถนนพหลโยธิน ทิศใต้จรดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ทิศตะวันออกจรดหมู่บ้าน และทิศตะวันตกจรดถนนสาธารณะ
แม่น้ำโขง, แม่น้ำรวก, แม่น้ำคำ
มีลักษณะการทับถมของตะกอนกรวดทรายยุคควอร์เทอร์นารี โดยมีธรณีสัณฐานโดยรอบเป็นหินแกรนิต พอพิรี และแกรโนไดโอไรท์ เป็นดินชุดธาตุพนม การระบายน้ำดี การกัดเซาะของผิวหน้าดินเป็นไปได้น้อย
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2500, พ.ศ.2501
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเมืองเชียงแสนขุดลอกชั้นดินที่ทับถมส่วนฐานเจดีย์หลวงออก พบฐานเขียงด้านล่างที่ก่อติดกับฐานของเจดีย์มุม ซึ่งฐานเขียงนี้อาจเป็นการก่อทับภายหลังชื่อผู้ศึกษา : คงเดช ประพัฒน์ทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม, ขุดทดสอบ
ผลการศึกษา :
การขุดหลุมทดสอบชั้นดินที่วัดเจดีย์หลวง (และที่บริเวณเยื้องกับวัดพระเจ้าล้านทอง 1 หลุม เยื้องวัดปงสนุกอีก 1 หลุม) พบร่องรอยดินทรายจากแม่น้ำโขงทับถมประมาณ 2 ครั้ง ชั้นบนสุดสันนิษฐานว่าเป็นชั้นดินน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2509 ชั้นน้ำท่วมล่างสุดอายุประมาณ 50 ปีมาแล้วชื่อผู้ศึกษา : เสนอ นิลเดช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
ศึกษารูปแบบเจดีย์หลวง และจัดให้อยู่ในกลุ่มเจดีย์แบบที่ 4 คือเจดีย์ที่มีลักษณะฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองชั้นยกเก็จ ตั้งบนฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองชั้น โดยประว้ติการสร้างวัดปรากฏว่ามีมาเก่าก่อนแต่รูปแบบเป็นสมัยต่อมาซึ่งคงถูกแปลงไปเพราะคติการเสริมสร้างถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวล้านนาชื่อผู้ศึกษา : บุษบา ไชยเสโน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เมื่อศึกษาร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ที่ปรากฏในรูปของโบราณวัตถุที่พบในชั้นดิน พบว่าสภาพความเป็นอยู่ที่เมืองเชียงแสนมีความรุ่งเรืองมาก มีการดำรงชีพด้วยการเกษตรกรรม การจับสัตว์น้ำ มีความรู้ด้านโลหวิทยา มีการทอผ้าใช้เองในชุมชน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันประเภทภาชนะดินเผามีรูปแบบคล้ายกับที่พบในเมืองโบราณที่มีอายุสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา และในชั้นดินล่างสุดพบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาในภาคเหนือ และแหล่งผลิตในประเทศจีน อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 จึงกำหนดอายุได้ว่าเมืองเชียงแสนเริ่มมีหลักฐานอาศัยอยู่อย่างเด่นชัดตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา และมีการอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันชื่อผู้ศึกษา : จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม
ผลการศึกษา :
เจดีย์หลวงจัดอยู่ในเจดีย์แปดเหลี่ยม อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ภายหลังการขุดลอกชั้นดินทับถมที่ฐานแปดเหลี่ยมในปี พ.ศ.2500-2501 สันนิษฐานว่าฐานแปดเหลี่ยมคงมาเสริมภายหลังชื่อผู้ศึกษา : พรอนันท์ก่อสร้าง (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาสถาปัตยกรรม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ขุดค้นจำนวน 3 หลุม สรุปว่าหลักฐานการสร้างวัดอยู่บนชั้นดินที่ไม่มีการอยู่อาศัยมาก่อน ในชั้นดินภายหลังจากมีการปรับพื้นสร้างวัดได้พบหลักฐานที่สำคัญต่อการกำหนดอายุ คือ เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาภาคเหนือ คือเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง เตาพาน และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงแสน เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองเชียงแสน ปัจจุบันวัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน แผนผังเจดีย์หลวงเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ฐานกว้างด้านละ 9.50 เมตร สูงประมาณ 35.50 เมตร ตามประวัติกล่าวว่า สร้างโดยพระเจ้าแสนภู ซึ่งพระเจ้าแสนภูเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ามังรายที่เสด็จมาจากเมืองเงินยางมาสร้างเมืองเชียงรายและยึดเมืองหริภุญชัยราวปี พ.ศ.1836 (แสง มนวิทูร [ผู้แปล], 2501, 93-94) โดยพระเจ้าแสนภูสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นราว พ.ศ.1871 เมืองเชียงแสนจึงเป็นที่ประทับของกษัตริย์สลับกับเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นมา (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 62)
ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่าเดิมชื่อวัดพระหลวง พระเจ้าแสนภูได้สร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เดิมที่สร้างขึ้นโดยพญาศิริอโศกธรรมราช หลังจากนั้นอีก 3 ปี ทรงเล็งเห็นว่าวัดพระหลวงเป็นวัดเค้าเมือง เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้ามาก่อน พระองค์จึงมีศรัทธาให้สร้างวิหารหลวง กว้าง 8 วา ยาว 17 วา และเจดีย์สูง 29 วา ตรงกับปี พ.ศ.1833 (กรมศิลปากร, 2516, 148-149) ซึ่งศักราชอาจคลาดเคลื่อน เนื่องจากในปีพ.ศ.1833 พระเจ้าแสนภูยังไม่ได้มาครองเมืองเชียงแสน (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2551, 119) ทั้งนี้หลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับอายุของเจดีย์หลวงคือในพงศาวดารโยนก กล่าวว่าพระเจ้าแสนภูทรงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสนภายหลังทรงครองเมืองเชียงแสนได้ 3 ปี โดยเจดีย์มีขนาดกว้าง 28 เมตร สูง 58 เมตร
ต่อมาเจดีย์องค์นี้คงได้รับการซ่อมแซมสมัยพระเมืองแก้วที่โปรดให้ช่างขุดเจดีย์องค์เดิมแล้วก่อพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ตรงกับพ.ศ.2058 (แสง มนวิทูร [ผู้แปล], 2501, 139-140 ; ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2551, 119)
โดยจากรูปแบบและวิวัฒนาการของเจดีย์หลวงจัดเป็นเจดีย์ที่มีวิวัฒนาการในช่วงหลังแล้ว (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2547, 49) ควรจัดอยู่ในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 (สันติ เล็กสุขุม, 2538, 119) โดยเจดีย์หลวง เป็นเจดีย์ที่จัดรูปแบบอยู่ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยม แต่มีข้อแตกต่างกับเจดีย์องค์อื่นๆทั้งในแบบแผนศิลปกรรมล้านนาและศิลปกรรมอื่นๆ กล่าวคือ มีฐานเขียงยกสูง 1 ฐานรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายที่มีส่วนของบัวคว่ำสองฐานซ้อนกันอยู่ ท้องไม้ยืดสูง การประดับบัวลูกแก้วอกไก่ก็ไม่ชัดเจน อาจเกิดจากการซ่อมในรุ่นหลัง ส่วนนี้แต่เดิมน่าจะเป็นลูกแก้วอกไก่สองเส้น ส่วนที่เป็นบัวหงายและหน้ากระดานของบัวหงายก็ไม่ชัดเจน ส่วนฐานเขียงขึ้นไปจนถึงส่วนรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัว 3 ฐานประดับท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น อยู่ในผังแปดเหลี่ยม และตั้งแต่ส่วนนี้ขึ้นไปจนถึงปล้องไฉนจะมีรูปแบบเหมือนกับเจดีย์ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังแปดเหลี่ยมนี้ทั้งหมด (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 25551, 120) กล่าวคือ ต่อจากชุดฐานบัวคว่ำบัวหงายมีลูกแก้วอกไก่ขึ้นไปคือองค์ระฆังในผังกลม และบัลลังก์ในผังแปดเหลี่ยมก่อนจะถึงปล้องไฉนและปลียอด
ทั้งนี้หากศึกษาผลการขุดแต่ง บูรณะเจดีย์หลวงในปี พ.ศ.2500-2501 พบว่าภายหลังการขุดลอกชั้นดินทับถมที่ฐานแปดเหลี่ยมพบฐานเขียงด้านล่างก่อติดกับฐานของเจดีย์มุม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าฐานส่วนนี้ของเดิมน่าจะเป็นฐานบัว 2 ชั้นซ้อนกันที่นิยมราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21 (จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา, 2539, 37) ตรงกับหลักฐานที่ว่าเจดีย์หลวงได้รับการซ่อมแซมสมัยพระเมืองแก้วข้างต้น
ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 17 เมตร ยาว 39 เมตร ก่อด้วยอิฐ มีเสากลม ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐาน ผนังด้านหลังพระพุทธรูป และเสากลมด้านหน้าหนึ่งต้น
พบรูปปูนปั้นที่วัดเจดีย์หลวง สันนิษฐานว่าใช้เป็นส่วนประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งมีทั้งรูปปูนปั้นซึ่งเป็นรูปพระพุทธรูป และบุคคลสวมศิราภรณ์ อาจเป็นเศียรเทวดา (บุษบา ไชยเสโน, 46) ดังนั้นเดิมคงมีประติมากรรมปูนปั้นเป็นงานประดับเจดีย์หลวงแห่งนี้
กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61. พระนคร : กรมศิลปากร, 2516.
กองพุทธศาสนสถาน. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 8. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การพระศาสนา, 2525.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2542.
จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา. พระเจดีย์เมืองเชียงแสน. เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, 2539.
บุษบา ไชยเสโน. “การศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีจากการขุดค้นบริเวณที่อยู่อาศัยในบริเวณเมืองโบราณเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะเมืองเชียงแสน : วิเคราะห์งานศิลปกรรมร่วมสมัยกับหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. เอกสารคำสอน รายวิชา 317 405 ศิลปะในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19-21. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.
สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะภาคเหนือ : หริภุญชัย-ล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.
แสง มนวิทูร [ผู้แปล]. ชินกาลมาลีปกรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2501.
เสนอ นิลเดช. ศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2526.