โพสต์เมื่อ 17 พ.ย. 2020
ชื่ออื่น : วัดกู่คำ
ที่ตั้ง : ม.1 ถ.สายเกาะกลาง-หนองหอย
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.753976 N, 98.995725 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากถนนมหิดล ให้เข้าทางถนนที่ทางเข้ามีป้ายบ้านเกาะกลาง ไปตามระยะทางประมาณ 650 เมตร วัดเจดีย์เหลี่ยมจะอยู่ทางซ้ายมือ สามารถเห็นเจดีย์ได้อย่างเด่นชัด
วัดเจดีย์เหลี่ยมเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ บริเวณวัดมีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีร้านค้าขายของที่ระลึกตั้งอยู่หลายร้าน นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
กรมศิลปากร, วัดเจดีย์เหลี่ยม
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 41 วันที่ 14 มีนาคม 2523 (วัดเจดีย์เหลี่ยม)
วัดเจดีย์เหลี่ยมเป็นวัดที่ยังมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันและมีพระสงฆ์จำพรรษา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งทิศตะวันออก ภายในบริเวณวัดมีร้านค้าของชุมชน
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539, พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์, อนุรักษ์โบราณสถาน
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและเสริมความมั่นคงโบราณสถานวัดเจดีย์เหลี่ยม และทำการขุดค้นเพื่อศึกษาชั้นดินบริเวณลานประทักษิณ พบว่ามีการสร้างทับซ้อนกันถึง 7 สมัยชื่อผู้ศึกษา : สามเพชร (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หจก. สามเพชร ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดเจดีย์เหลี่ยม ระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2545 - 20 กันยายน 2545ชื่อผู้ศึกษา : เจติยาราคอนสตรัคชั่น (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หจก.เจติยาราคอนสตรัคชั่น บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดเจดีย์เหลี่ยม 24 มกราคม 2555 - 6 กันยายน 2555วัดเจดีย์เหลี่ยม ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีร้านค้าอยู่มากภายในบริเวณวัด จุดเด่นของวัดคือการที่มีเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สภาพสมบูรณ์ตั้งอยู่
วัดเจดีย์เหลี่ยม มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดกู่คำ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่พญามังรายสถาปนาเมืองเวียงกุมกาม ภายหลังในสมัยช่วงรัชกาลที่ 5 มีการบูรณะครั้งใหญ่โดยหลวงโยนการวิจิตร ซึ่งเป็นคหบดีชาวมอญ สัญชาติพม่า ที่มาทำการค้าขายในเมืองเชียงใหม่ ทำให้รูปแบบศิลปกรรมบนเจดีย์มีลักษณะเป็นแบบศิลปะพม่า
กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะและเสริมความมั่นคงให้กับเจดีย์ประธาน รวมถึงการขุดค้นศึกษาชั้นดินทางโบราณคดี ในปี พ.ศ. 2539 – 2540 (กรมศิลปากร 2548 : 73 – 75) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
วัดเจดีย์เหลี่ยมประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ วิหารและเจดีย์ โดยวิหารมีการซ่อมในสมัยหลัง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐถือปูน เฉพาะส่วนฐานมีการก่อเสริมด้วยศิลาแลง (ในการบูรณะ กรมศิลปากรได้เปิดส่วนผิวนอกของฐานตอนล่าง ปรากฏส่วนฐานทำด้วยศิลาแลงทางด้านทิศเหนือ) ซึ่งเป็นรูปทรงที่ถ่ายแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วยกเก็จ ตอนกลางเป็นเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสต่อขึ้นไปเป็นชั้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น
เรือนธาตุแต่ละด้านประดับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 องค์ ดังนั้นเรือนธาตุชั้นหนึ่งจะมีพระพุทธรูป 12 องค์ รวม 5 ชั้นมีพระพุทธรูปทั้งหมด 60 องค์ ตกแต่งซุ้มจระนำด้วยลวดลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ทั้งนี้ซุ้มจระนำในชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ตกแต่งกรอบซุ้มด้วยพญานาคเคียวกัน ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายบัวกลุ่มซ้อนกัน 2 ชั้น รองรับปลียอดและฉัตร
บริเวณมุมเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยเจดีย์จำลองประจำมุม สำหรับมุมของฐานเขียงตอนล้างประดับด้วยสิงห์ปูนปั้นทั้ง 4 มุม และในตอนกลางแต่ละด้านเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งในปางต่างๆ
ซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง และทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
รอบองค์เจดีย์มีลานประทักษิณ และกำแพงแก้วที่มีทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ลักษณะสิงห์ประจำมุมและพระพุทธรูปที่เจดีย์เหลี่ยมนี้ เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 25 อันเป็นงานบูรณะในสมัยหลวงโยนการวิจิตร
จากการขุดค้นศึกษาชั้นดินบริเวณลานประทักษิณ พบว่ามีการสร้างซ้อนทับกันถึง 7 สมัย ซึ่งครั้งหลังสุดคงเป็นระยะหลังจากการบูรณะในปี พ.ศ. 2451 โดยอาจสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นระยะเดียวกับการสร้างแท่นบูชาหน้าเจดีย์ด้านทิศตะวันออกก็เป็นได้
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นศึกษาชั้นดินทางโบราณคดีบริเวณฐานเจดีย์ประธาน ได้แก่ หม้อบรรจุกระดูก ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาศรีสัชนาลัย ภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนเขียนรูปทิวทัศน์ รูปบุคคล เขียนสีแดงเคลือบ และโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ตะปูจีน ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบพระพักตร์พระพุทธรูปแบบศิลปะหริภุญชัย และลวดลายปูนปั้นแบบล้านนา ซึ่งคงเป็นงานประดับซุ้มจระนำเดิมก่อนการบูรณะ กำหนดอายุลวดลายปูนปั้นราวพุทธศตวรรษที่ 21
โบราณวัตถุที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ เศษจารึกหินทราย ซึ่งพบบริเวณลานประทักษิณ (เป็นรูปบบอักษรไทยแบบแรกที่พบในล้านนา) สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุระหว่าง พ.ศ. 1835 – 1900
การกำหนดอายุสมัย
ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่า วัดเจดีย์เหลี่ยมสร้างโดยพญามังรายเมื่อ พ.ศ. 1831 (ราวพุทธศตวรรษที่ 19) และได้รับการบูรณะเรื่อยมา แม้ปัจจุบันศิลปกรรมที่ประดับเจดีย์เหลี่ยมจะเป็นแบบศิลปะพม่าทั้งหมด เนื่องจากการบูรณะในสมัยหลวงโยนการวิจิตร แต่โครงสร้างหลักของเจดีย์ก็ยังเป็นรูปแบบศิลปะหริภุญไชยแบบวัดกู่กุด
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง :
1. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า “...เจ้ามังรายจึงหื้อไปเอาดินหนองต่างมาก่อเจดีย์กู่คำวันนั้นแล...”
2. ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ บันทึกว่า “...ต่อจากได้ชัยชนะพระเจ้าญีบาแล้ว พระเจ้ามังรายได้สร้างนครกุมกาม แล้วโปรดให้สร้างเจดีย์กู่คำขึ้นในนครนั้น เรียงรายไปด้วยพระพุทธรูป 60 องค์...”
3. พงศาวดารโยนก บันทึกว่า “...ลุจุลศักราช 650 (พ.ศ. 1831) ปีชวด สัมฤทธิศก เจ้าเมงรายให้เอาดินที่ขุดต่างหนองมาต่างมาทำอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม...”
4. โคลงนิราศหริภุญชัย ปรากฏในบทที่ 45 ระบุถึงพญามังรายทรงสร้างกู่คำเพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิพระมเหสีองค์หนึ่งของพระองค์
จารึกที่เกี่ยวข้อง :
จารึกวัดศรีอุโมงค์คำ จ.ศ. 885 (พ.ศ. 2066) ระบุว่ากู่คำเป็นที่บรรจุพระธาตุ
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.