วัดอีก้าง(อีค่าง)


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดอีก้าง(อีค่าง)(ร้าง), วัดอีก้าง, วัดอีค่าง,

ที่ตั้ง : ม.11

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.749836 N, 98.99935 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากวัดเจดีย์เหลี่ยม ให้เข้าทางซอยเจดีย์เหลี่ยม 4 ประมาณ 500 เมตร จะพบทางแยกให้เลี้ยวซ้าย มีป้ายนำทางโบราณสถานหลายแห่ง จากนั้นให้ตรงไปต่ออีก 100 เมตร แล้วจึงเลี้ยวซ้าย ตรงไปอีก 200 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดอีค่างเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม 2542 (วัดอีก้าง(อีค่าง)(ร้าง))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดอีค่างเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในเขตกึ่งกลางของเวียงกุมกาม ห่างจากวัดปู่เปี้ยออกมาทางทิศตะวันออกประมาณ 250 เมตร ห่างตากแม่น้ำปิงมาทางรตะวันออกประมาณ 700 เมตร เดิมทีบริเวณโบราณสถานมีสภาพเป็นป่ารกและมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาแน่น

ในปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นเขตสวนลำไยและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชุมชน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

306 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528, พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

ทำการขุดลอกฐานโบราณสถานและเสริมความมั่นคงเจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

ทำการขุดแต่งโบราณสถานทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทำให้พบโบราณสถานเพิ่มเติม ได้แก่ อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวิหาร และแนวกำแพงแก้วทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : ช่อฟ้าก่อสร้าง (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่อฟ้าก่อสร้าง ขุดแต่งวัดอีก้าง ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน 2547 - 22 สิงหาคม 2547

ชื่อผู้ศึกษา : โฟร์คอนส์ 99 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โฟร์คอนส์ 99 บูรณะกำแพงแก้ว ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 - 2 สิงหาคม 2552

ชื่อผู้ศึกษา : โฟร์คอนส์ 99 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่างรุ่งคอนสตรัคชั่น บูรณะโบราณสถานวัดอีก้าง ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2553 - 11 ตุลาคม 2553

ชื่อผู้ศึกษา : รักษ์โบราณ 999 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด รักษ์โบราณ 999 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์วัดอีก้าง ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 - 10 สิงหาคม 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดอีค่างเป็นโบราณสถานร้าง ไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใด ส่วนชื่อ อีค่าง หรือ อีก้าง เป็นภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า ลิง หรือ ค่าง โดยในอดีตเคยมีฝูงลิงหรือค่างอาศัยบริเวณโบราณสถานร้างแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดอีก้าง นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า มีนางค่างตัวหนึ่งทำประโยชน์แก่พระราชามาก เมื่อนางค่างตายลงพระราชาจึงสร้างจึงสร้างวัดนี้ให้แก่นางค่างตัวนี้

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานวัดอีค่าง ในปี พ.ศ. 2528 – 2529 (กรมศิลปากร 2548 : 101 – 105) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

พบโบราณสถานวัดอีค่าง ประกอบด้วยกำแพงแก้ว เจดีย์ วิหาร แท่นบูชารอบเจดีย์ 3 ด้าน และอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถง มีขนาดความกว้าง 20 เมตร ความยาว 13.50 เมตร (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 60) ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังวิหารมีห้องคูหา (คันธกุฎี) อยู่ด้านหลังห้องประธาน ซึ่งภายในห้องคูหามีแท่นฐานชุกชี 1 แท่น มีบันไดสู่ฐานประทักษิณทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ฉาบปูนขาว ประกอบด้วยฐานเสาวิหาร 8 คู่ ทำด้วยศิลาแลงรูปกลมซ้อนด้วยอิฐสามเหลี่ยมฐานโค้ง มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง บันไดหลักเป็นแบบบันไดนาค เนื่องจากได้พบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปเกล็ดนาคบริเวณฐานวิหารด้านหน้า

จากการขุดแต่งพบว่าวิหารมีการก่อสร้างทับซ้อน 2 สมัย สมัยหลังสร้างวิหารทับฐานวิหารเดิม สร้างห้องคูหาเพิ่มเติมตอนท้าย เชื่อมต่อกับฐานประทักษิณที่รองรับเจดีย์ เนื่องจากพบร่องรอยการก่อเสริมบริเวณฐานชุกชีและมุมยกเก็จด้านทิศตะวันตกของฐานวิหารด้านหลัง

2. เจดีย์ประธาน ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่เชื่อมต่อทางท้ายวิหาร เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้นถัดขึ้นไปเป็นชั้นฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ซ้อนกัน 2 ชั้น

ส่วนตอนกลางองค์เจดีย์เป็นชุดฐานเขียงในผังกลม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับมาลัยเถาท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ในผังกลม 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่มีบัวปากระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ส่วนบนพังทลายไปทราบรูปแบบที่ชัดเจน

การขุดแต่งศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2528 – 2529 พบห้องกรุบริเวณใต้องค์ระฆัง ลักษณะเป็นห้องทรงกลมฉาบปูนขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบองค์ระฆังเดิมฉาบปูนขาวอยู่ภายในองค์ระฆังปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าเจดีย์ประธานวัดอีค่างนี้มีการสร้างเสริมในสมัยหลัง

3. อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้รับการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2546 ตั้งขนานกับแนวฐานวิหาร มีสภาพที่พังทลายมาก คงเหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน ลักษณะอาคารวางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก พบเศษกระเบื้องดินขอบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก แสดงว่าอาคารหลังนี้น่าจะมีหลังคาคลุม และอาจเป็นอุโบสถก็ได้

จากการศึกษาชั้นดินพบว่าอาคารหลังนี้มีการสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย โดยในสมัยแรกน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับวิหารและเจดีย์ และสร้างซ้อนทับอาคารหลังแรกในสมัยต่อมา

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่ง ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปแก้ว ยอดสถูปจำลองทำจากแก้วส่วนยอดบุทองคำ พระพิมพ์ดินเผา แผ่นฉลุลายสำริด แผ่นโลหะสำริดสำหรับประดับปล้องไฉน และส่วนประกอบฉัตรสำริดปิดทอง ซึ่งพบเป็นจำนวนมากบริเวณรอบองค์เจดีย์ ทั้งยังได้พบลายปูนปั้นที่มีรอยไหม้ดำและเศษสำริดไหม้ละลายติดแผ่นกระเบื้องดินขอ บริเวณฐานชุกชีประดิษฐานพระประธานและรอบฐานวิหาร และยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น เม็ดพระศกปูนปั้น และแผ่นอิฐที่มีรอยสลักรูปสัตว์คล้ายลิงอีกด้วย

สำหรับภาชนะดินเผานั้น พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง เตาวังเหนือ และเตาสุโขทัย รวมทั้งเครื่องถ้วยจีน การพบภาชนะดินเผาที่วัดอีค่างนี้ มิอาจนำมาร่วมพิจารณาในการกำหนดอายุโบราณสถานได้ เนื่องจากพบอยู่ในชั้นตะกอนทราย ที่อาจถูกน้ำพัดมาจากแหล่งอื่น ในคราวน้ำท่วมใหญ่ก็ได้

ส่วนโบราณวัตถุที่สำคัญอันเป็นหลักฐานที่สามารถกำหนดอายุ ได้แก่ แผ่นอิฐจารึกอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนา ที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 จำนวน 7 ชิ้น

การกำหนดอายุสมัย

จากรูปแบบโบราณสถานภายในวัดอีค่างที่มีขนาดใหญ่ และอยู่ในเขตกึ่งกลางเวียง อาจเข้าข่ายลักษณะคติการสร้างวัดมหาธาตุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของสถาปัตยกรรมวิเคราะห์ร่วมกับโบราณวัตถุ จึงกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัดอีค่างน่าจะมีอายุระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางค่าง เล่ากันว่ามีนางค่างตัวหนึ่งทำประโยชน์แก่พระราชามาก เมื่อนางค่างตายลงพระราชาจึงสร้างจึงสร้างวัดนี้ให้แก่นางค่างตัวนี้

จารึกที่เกี่ยวข้อง

ผ่นอิฐจารึกฝักขามและอักษรธรรมล้านนา จำนวน 7 ชิ้น กำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 (กรมศิลปากร 2548 : 103 – 104)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี