วัดธาตุขาว(วัดกู่ขาว)


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดธาตุขาว, วัดกู่ขาว, วัดพระธาตุขาว

ที่ตั้ง :

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.75103 N, 98.996631 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากวัดเจดีย์เหลี่ยม ให้เข้าทางซอยข้างวัดเจดีย์เหลี่ยม ประมาณ 100 เมตร แล้วเลี้ยวซ้าย ประมาณ 60 เมตร แล้วจึงเลี้ยวขวา ตรงมาตามที่อีกระยะประมาณ 200 เมตร จะพบสี่แยก ทางด้านซ้ายจะมีทางเข้าเล็กๆ ไปสู่โบราณสถาน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดธาตุขาวเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม 2542 (วัดธาตุขาว(วัดกู่ขาว))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดธาตุขาวเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกใต้ของวัดเจดีย์เหลี่ยม ห่างประมาณ 300 เมตร ในเส้นทางผ่านทางเข้าวัดพญามังรายและวัดพระเจ้าองค์ดำมาทางใต้ เขตพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเวียงกุมกาม ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร

สภาพแวดล้อมของวัดธาตุขาวถูกล้อมด้วยสวนลำไยของเอกชน มีถนนบุญรักษ์สายใหม่ตัดผ่านด้านหน้าของวัด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

307 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528, พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป

ชื่อผู้ศึกษา : โบราณนุรักษ์ (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก.โบราณนุรักษ์ ขุดแต่งโบราณคดีวัดธาตุขาว ระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2546 - 24 กันยายน 2546

ชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

หจก.มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 24 พฤษภาคม 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดพระธาตุขาวเป็นโบราณสถานร้าง ไม่มีข้อมูลปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใด ชื่อของวัดธาตุขาวมาจากชาวบ้านเรียกตามลักษณะองค์เจดีย์ที่ฉาบด้วยปูนสีขาว

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดธาตุขาว ในปี พ.ศ. 2528 – 2529 (กรมศิลปากร 2548 : 79) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดธาตุขาว ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป อีกทั้งยังพบว่าวัดธาตุขาวมีการก่อสร้าง 2 ระยะ โดยระยะแรกคงมีเฉพาะเจดีย์ วิหาร และอุโบสถ ระยะต่อมาจึงมีการก่อสร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปเพิ่มเติม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถง หันหน้าสู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบันปรากฏเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐ ฉาบปูนขาว ยกเก็จด้านหน้า 1 ตอน ภายในมีเสา 4 คู่ ห้องด้านหลังมีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน มีบันไดทางขึ้น 1 แห่งด้านหน้าวิหาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

2. เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานปัทม์ยกเก็จ 2 ตอน ซึ่งภายหลังการสร้างมณฑปทางทิศใต้ในระยะที่ 2 แล้ว คงมีการสร้างแนวกำแพงแก้วเชื่อมต่อทางด้านท้ายมณฑปล้อมรอบองค์เจดีย์ไปจรดท้ายวิหารด้านทิศตะวันตก

3. อุโบสถ สร้างขึ้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสมาหินกำหนดเขตโดยรอบ

4. มณฑป เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดอยู่ทางด้านหน้า

โบราณวัตถุที่พบ

ในปี พ.ศ. 2528 พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นบริเวณด้านหลังของแท่นฐานชุกชีของมณฑป ส่วนขององค์พระมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์แต่พระเศียรชำรุด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบูรณะให้มีลักษณะแบบพื้นเมืองดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังพบอิฐจารึกอักษรฝักขาม กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21

การกำหนดอายุสมัย

จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และโบราณวัตถุสำคัญที่นำมากำหนดอายุการสร้าง ได้แก่ อิฐจารึกอักษรฝักขาม กำหนดอายุตัวอักษรได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับหลักฐานด้านศิลปกรรมซึ่งนิยมสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22  วัดธาตุขาวจึงน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

จารึกที่เกี่ยวข้อง

อิฐจารึกอักษรฝักขาม กำหนดอายุตัวอักษรได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 60)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี