โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดพระเจ้าดำ
ที่ตั้ง : ม.1
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.752005 N, 98.997548 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากวัดเจดีย์เหลี่ยม ให้เข้าทางซอยเจดีย์เหลี่ยม 4 ประมาณ 250 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางซ้ายมือ ถัดไปจากวัดพญามังราย
วัดพระเจ้าองค์ดำเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 76 ตอนที่ 108 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2502 (วัดพระเจ้าดำ)
วัดพระเจ้าองค์ดำเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเวียงกุมกามด้านทิศเหนือ บริเวณพื้นที่เขตสวนลำไยของชาวบ้าน สภาพก่อนการขุดแต่งมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 2 เนิน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “เนินพระเจ้าองค์ดำ” และ “เนินพญามังราย” โดยภายหลังจากการขุดแต่ง จึงแยกออกเป็นวัดพระเจ้าองค์ดำและวัดพญามังราย
ในปัจจุบันวัดพระเจ้าองค์ดำมีสภาพแวดล้อมเป็นสวนของชาวบ้าน ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร อยู่ทางทิศเหนือของโบราณสถานวัดธาตุขาว ห่างกันประมาณ 100 เมตร อยู่ห่างจากวัดเจดีย์เหลี่ยมมาทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 220 เมตร
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบกลุ่มโบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร และฐานอาคารอีก 3 หลังชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน ขุดแต่งโบราณสถานระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2545 - 5 สิงหาคม 2545ชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณะโบราณสถานแห่งนี้ ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 - 26 มิถุนายน 2555วัดพระเจ้าองค์ดำเป็นโบราณสถานร้าง ชื่อของวัดมาจากชาวบ้านเรียก เนื่องจากมีการพบพระพุทธรูปสำริดที่ถูกไฟไหม้จนเป็นสีดำ
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานวัดพระเจ้าองค์ดำ ในปี พ.ศ. 2532 (กรมศิลปากร 2548 : 88 – 89) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดพระเจ้าองค์ดำ ประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร และฐานอาคารอีก 3 หลัง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถง ปัจจุบันปรากฏเฉพาะส่วนฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ ในฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ห้องด้านหลังมีร่องรอยของฐานชุกชี มีบันไดอยู่ทางด้านหน้าวิหาร โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
2. เจดีย์ ปรากฏเหลือเพียงส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ชั้น รองรับชั้นหน้ากระดานยกเก็จ ซึ่งจากลวดลายปูนปั้นที่พบสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง
3. อาคารหลังที่ 1 หันหน้าสู่ทิศเหนือเช่นเดียวกับวิหาร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางด้านหน้าและด้านหลัง
4. อาคารหลังที่ 2 เป็นวิหารโถง วางผังในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางด้านหน้า และทางเดินเชื่อมต่อไปยังอาคารหลังที่ 1 และฐานอาคารหลังที่ 3
5. อาคารหลังที่ 3 ประกอบด้วยวิหารโถง 2 หลังเชื่อมต่อกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหนึ่งหลัง ไปทางทิศตะวันตกอีกหนึ่งหลัง วิหารทั้ง 2 นี้ คงสร้างขึ้นไม่พร้อมกัน สันนิษฐานว่าวิหารโถงหลังที่ 2 น่าจะสร้างขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างวิหารโถงหลังแรกเชื่อมต่อกันภายหลัง เนื่องจากระหว่างรอยต่อของวิหารทั้ง 2 หลัง ไม่ได้สัดส่วนกันนัก
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุที่พบในการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่พบจากวัดพระเจ้าองค์ดำร่วมกับวัดพญามังราย ได้แก่ พระพุทธรูปสำริดแบบล้านนาพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 พระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่องสำริดศิลปะลพบุรี พระพุทธรูปปูนปั้นและพิมพ์ดินเผาแบบสามหอมที่ทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย
นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นเป็นจำนวนมากบริเวณฐานเจดีย์และวิหาร ประกอบด้วยลวดลายที่ใช้ประดับซุ้มจระนำ ลายกระหนกปลายซุ้ม ลายพันธุ์พฤกษา ประติมากรรมรูปคนแคระและสิงห์แบก เป็นต้น
ทั้งนี้ลวดลายปูนปั้นส่วนใหญ่ มีลักษณะใกล้เคียงกับลวดลายปูนปั้นที่วัดพญามังรายและลวดลายที่ใช้ประดับวัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) ซึ่งกำหนดอายุในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
ส่วนโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนบัวปากระฆัง แผ่นโลหะฉลุลายปิดทอง สำหรับประดับเจดีย์ ตัวเหงาเชิงราวบันได ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187)
การกำหนดอายุสมัย
กลุ่มโบราณสถานวัดพระเจ้าองค์ดำ เป็นกลุ่มโบราณสถานที่สร้างทับซ้อนกันหลายสมัย จากการวิเคราะห์รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และโบราณวัตถุที่พบร่วมกัน อาจกล่าวได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.
สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.