วัดหัวหนอง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดหัวหนอง(ร้าง)

ที่ตั้ง :

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.748766 N, 99.005146 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากเมืองเชียงใหม่ ใช้ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) ถึงบริเวณวัดกู่ขาว ให้แยกไปทางขวาประมาณ 800 เมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะถึงโบราณสถานวัดหัวหนอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดหัวหนองเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 127ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 (วัดหัวหนอง(ร้าง))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดหัวหนองเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเวียงทางด้านเหนือ เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ เนื้อที่เกือบ 4 ไร่เศษ ชื่อของวัดมีการสันนิษฐานว่าในอดีตวัดนี้คงอยู่ใกล้หนองน้ำ (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 56)

วัดหัวหนองตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1.3 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบราณสถานจำนวน 5 กลุ่ม จัดเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างมากแห่งที่สุดในเขตเมืองเวียงกุมกาม

สภาพทั่วไปในปัจจุบันของโบราณสถาน ถูกแวดล้อมด้วยสวนลำไย ที่นา และหมู่บ้านจัดสรร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

302 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20–21

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานวัดหัวหนองครอบคุลมพื้นที่กว่า 4 ไร่ ประกอบด้วยโบราณสถานจำนวน 5 กลุ่ม

ชื่อผู้ศึกษา : พรอนันต์ก่อสร้าง (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอนันต์ก่อสร้าง ปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดหัวหนอง ระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2546 - 9 พฤศจิกายน 2546

ชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดหังหนอง ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 - 7 สิงหาคม 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดหัวหนองเป็นโบราณสถานร้าง ไม่ปรากฏข้อมูลของโบราณสถานในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใด โดยชื่อของวัดหัวหนองเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก สันนิษฐานว่าอาจเนื่องมาจากวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กับหนองน้ำ

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาและบูรณะโบราณสถานวัดหัวหนอง ในปี พ.ศ. 2531 – 2532 (กรมศิลปากร 2548 : 96 – 100) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดหัวหนองครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4 ไร่เศษ เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่มากกลุ่มหนึ่งในเมืองเวียงกุมกาม ประกอบด้วยโบราณสถานจำนวน 5 กลุ่ม

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. โบราณสถานกลุ่มที่ 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ประกอบด้วยเจดีย์ช้างล้อม วิหาร และเจดีย์ด้านข้างวิหาร

รูปแบบวิหารในโบราณสถานกลุ่มที่ 1 เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน สำหรับประดิษฐานพระประธาน บริเวณฐานชุกชีพระประธานมีร่องรอยการสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย มีบันไดทางขึ้นหลักด้านหน้าและด้านข้างวิหาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ หน้าวิหารปรากฏร่องรอยการก่อซุ้มประตูทางเข้า

สำหรับเจดีย์หลังวิหาร มีลักษณะเป็นทรงปราสาท จากการขุดแต่งพบว่ามีการสร้างทับเจดีย์องค์เดิมแบบช้างล้อมไว้ โดยส่วนฐานเจดีย์ช้างล้อมมีลักษณะแบบฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น บนฐานเขียงชั้นที่ 2 ประดับประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างหมอยในท่าคู้ขาหน้า ปล่อยงวงจรดติดพื้นดิน โผล่ออกมาจากฐานเพียงครึ่งตัวด้านละ 5 เชือก

ในการก่อเจดีย์ครั้งหลังได้มีการก่ออิฐฉาบปูนปิดทับรูปช้างทั้งหมดจนกลายเป็นฐานน่ากระดานเกลี้ยง ถมฐานเดิมด้วยหินและปูทับด้วยอิฐ ทั้งยังก่อกำแพงอิฐเตี้ยๆ ล้อมรอบองค์เจดีย์

นอกจากนี้ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของเจดีย์ เป็นที่ตั้งของเจดีย์ขนาดเล็กอีก 2 องค์ สร้างสมัยเดียวกับเจดีย์ช้างล้อม เจดีย์ด้านทิศเหนือก่อในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จ 2 ตอน 3 ด้าน เฉพาะด้านที่อยู่ติดกับเจดีย์ช้างล้อมไม่มีการยกเก็จ

ทั้งนี้ยังพบเจดีย์ย่อมุมไม้ 20 ทางด้านข้างวิหารอีก 1 องค์ จากการขุดแต่งพบองค์ระฆังมีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง สภาพชำรุดแตกหักเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนบันลังก์มีการประดับด้วยลายดอกจันทน์ ลักษณะคล้ายกับเจดีย์บริวารที่วัดมหาธาตุ จ.ลพบุรี

2. โบราณสถานกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยอุโบสถและมณฑป

อุโบสถหันหน้าสู่ทิศตะวันออก เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 1 ตอน มีบันไดทางขึ้นหลักด้านหน้า และบันไดขนาดเล็กด้านข้างของแนว ยกเก็จตอนหน้าทั้ง 2 ข้าง บริเวณผนังอาคารด้านทิศใต้มีการก่ออาคารย่นออกไปคล้ายระเบียง โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ด้านท้ายอุโบสถมีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมค่อนข้างซับซ้อน

ด้านทิศเหนือมีมณฑปสร้างเชื่อมออกไปจากอุโบสถ ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ยกเก็จ 3 ตอน 3 ด้าน ยกเว้นด้านทิศใต้ที่เป็นทางเดินเชื่อมต่อกับอุโบสถ

3. โบราณสถานกลุ่มที่ 3 อยู่ทางทิศเหนือสุดของวัดหัวหนอง ประกอบด้วยแนวกำแพงแก้วและซุ้มโขง แผนผังของซุ้มมีการยกเก็จถี่

ฐานซุ้มโขง ลักษณะแบบฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่คู่ ท้องไม้ตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นนูนสูงรูปสัตว์หิมพานต์ในกรอบกระจก เช่น รูปกิเลน หงส์ และสิงห์

4. โบราณสถานกลุ่มที่ 4 ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของวัดหัวหนอง พบแนวกำแพงแก้วและฐานอาคารที่แบ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหมู่กุฏิสงฆ์ ทางทิศใต้ของหมู่กุฏิเป็นบ่อน้ำ ถัดไปเป็นซุ้มโขง ซึ่งน่าจะเป็นทางเข้า – ออกเชื่อมต่อกับโบราณสถานกลุ่มที่ 5

5. โบราณสถานกลุ่มที่ 5 ตั้งอยู่ภายในแนวกำแพงแก้ว ประกอบด้วยเจดีย์ วิหาร อุโบสถหันหน้าสู่ทิศตะวันออก และอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางผังตามแนวทิศเหนือ – ใต้เชื่อมต่อกับวิหาร มีแนวเสมาหินทราบและหินแกรนิตปักกำหนดเขตเป็นระยะๆ

รูปแบบวิหารในโบราณสถานกลุ่มที่ 5 เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ห้องด้านหลังมีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน มีบันไดทางขึ้นหลักด้านหน้า และบันไดเล็กๆ ด้านทิศเหนือของแนว ยกเก็จด้านหน้า โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

ส่วนเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารบนฐานเดียวกัน (ฐานไพที) ปรากฏให้เห็นเฉพาะฐานล่างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับฐานหน้ากระดานกลม โดยส่วนยอดได้หังทลายไปไม่ทราบรูปแบบที่ชัดเจน

สำหรับอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหาร หันหน้าสู่ทิศตะวันออก คงเหลือเพียงส่วนฐานอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า ด้านข้างอุโบสถมีใบเสมาหินปักกำหนดเขตไว้ 1 แท่ง

โบราณวัตถุที่พบ

ในการขุดแต่งศึกษา พบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นบริเวณซุ้มโขงของโบราณสถานกลุ่มที่ 3 จากการเปรียบเทียบลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏในเวียงกุมกามแล้ว สามารถกำหนดอายุได้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาเคลือบและไม่เคลือบที่ผลิตจากแหล่งสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง และพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) เป็นจำนวนมาก รวมทั้งโบราณวัตถุประเภทพระพุทธรูปที่ส่วนใหญ่พบจากการขุดแต่งโบราณสถานกลุ่มที่ 1 – 4 อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 20

โบราณวัตถุอื่นที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนศิลาจารึกหินทราย จำนวน 11 ชิ้น จารึกบนแผ่นอิฐ 1 ชิ้น จารึกอักษรไทยล้านนาหรืออักษรฝักขาม สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

การกำหนดอายุสมัย

โบราณสถานวัดหัวหนองมีการบูรณะต่อเนื่องกันหลายสมัย ซึ่งโบราณสถานที่สร้างขึ้นในระยะแรกๆ ได้แก่ โบราณสถานกลุ่มที่ 1 ทั้งนี้จากการวิเคราะห์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมกับโบราณวัตถุที่พบ อาจกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัดหัวหนองน่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 และคงได้รับการบูรณะสร้างเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเวียงกุมกามถูกทิ้งร้าง

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี