โพสต์เมื่อ 16 ม.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดกุมกามทีปาราม, วัดเกาะกุมกาม, วัดกุมกาม(ร้าง)
ที่ตั้ง : บ้านช้างค้ำ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.749749 N, 99.002333 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
เริ่มต้นจากโบราณสถานวัดพันเลา ไปทางตะวันตกประมาณ 50 เมตร จะพบซอย บ้านเสาหิน ซอย 10 อยู่ทางด้านซ้ายมือ ให้เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปประมาณ 200 เมตร จะพบทางเข้าขนาดเล็กทางด้านขวา มีป้ายโบราณสถานตั้งอยู่หน้าทางเข้า
วัดกุมกามเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 127ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 (วัดกุมกาม(ร้าง))
วัดกุมกามเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเวียงทางด้านเหนือ เดิมมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม อีกทั้งมีการสร้างบ้านเรือนขึ้นบนเนินดินโบราณสถาน อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 930 เมตร ห่างจากวัดหัวหนองมาทางทิศตะวันตกประมาณ 250 เมตร ห่างจกาวัดช้างค้ำมาทางทิศเหนือประมาณ 140 เมตร ปัจจุบันพื้นที่โบราณสถานแวดล้อมด้วยสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
จากการขุดแต่งทำให้พบเจดีย์แปดเหลี่ยม และวิหารขนาดใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รวมถึงพบโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปทำจากปูนปั้นศิลาและสำริดชื่อผู้ศึกษา : ช่อฟ้าก่อสร้าง (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่อฟ้าก่อสร้าง ขุดแต่งระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2546 - 22 ตุลาคม 2546 พบซากโบราณสถาน คือ มณฑป และฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และได้ออกแบบเพื่อบูรณะโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : ปุราณรักษ์ (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปุราณรักษ์ บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 - 16 กรกฎาคม 2547ชื่อผู้ศึกษา : โฟร์คอนส์ 99 (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โฟร์คอนส์ 99 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถาน ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 - 11 กันยายน 2555วัดกุมกามเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ภายในเมืองเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเวียงด้านทิศเหนือ มีเรื่องราวบันทึกอยู่ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เมื่อ พ.ศ.2060 พระเมืองแก้วได้เสด็จมาสรงน้ำพระมหาพุทธพิมพ์ที่วัดเกาะกุมกาม นอกจากนี้ยังปรากฏเนื้อความอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดขึ้นประดิษฐาน ณ วัดกุมกาม
กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งศึกษาวัดกุมกามครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 และต่อมาในปี พ.ศ. 2546 – 2547 (กรมศิลปากร 2548 : 51 – 52) พบข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกุมกามประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ แท่นบูชารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางทิศเหนือและทิศใต้ของเจดีย์ นอกจากนี้ทางทิศเหนือของวิหารยังพบมณฑปและอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอุโบสถ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
วิหาร วิหารวัดกุมกามเป็นวิหารโถง หันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย ปัจจุบันปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐานปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ทั้งนี้มีการสร้างฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธานเต็มพื้นที่ห้อง ภายในวิหารประกอบด้วยเสาจำนวน 4 คู่ ฐานเสาก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้นด้านหน้า 1 แห่ง โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
จากการขุดค้นพบว่า วิหารสมัยหลังนี้ได้เพิ่มมุขโถงด้านหน้า และใช้อิฐขนาดเล็กกว่าการก่อสร้างวิหารครั้งแรก ซึ่งอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างวิหารครั้งแรกนั้นมีขนาดเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อเจดีย์
เจดีย์ เจดีย์วัดกุมกามตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร ฐานตอนล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า วางขนานกับแนวทิศเหนือ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงแปดเหลี่ยมรองรับชั้นหน้ากระดานแปดเหลี่ยมยกเก็จ 2 ชั้น โครงสร้างที่เหลือนอกจากนั้นได้พังทลาย ทำให้ไม่ทราบรูปแบบที่ชัดเจน
ทั้งนี้จากการขุดแต่งบริเวณรอบฐานเจดีย์ พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมประเภทบัวคว่ำ บัวหงาย ชิ้นส่วนองค์ระฆัง บัวปากระฆัง และลวดลายปูนปั้นประดับกรอบซุ้มจระนำ จึงสันนิษฐานว่าเจดีย์วัดกุมกามน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังในผังแปดเหลี่ยม
โบราณวัตถุที่พบ
สำหรับโบราณวัตถุที่พบในการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2546 – 2547 ได้แก่ ลวดลายปูนปั้นประดับองค์เจดีย์ ชิ้นส่วนกรอบซุ้มจระนำรูปตัวเหงา ฉัตรทองเหลืองฉลุลายพันธ์พฤกษา และภาชนะดินเผาแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง และแหล่งเตาศรีสัชนาลัย
นอกจากนี้ยังพบเศียรพระพุทธรูปสำริด ศิลปะล้านนาพุทธศตรวรรษที่ 20 พระพิมพ์ดินเผา มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่งบนฐานบัว ภายในซุ้มประภามณฑลมีสิงห์แบก 3 ตัว โดยรอบมีพระพุทธรูปประทับนั่งขนาดเล็ก รวมทั้งพบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น หินลับ หินบดยา เบี้ยดินเผา เป็นต้น
การกำหนดอายุสมัย
พิจารณาจากหลักฐานทางศิลปกรรมร่วมกับโบราณวัตถุที่พบ รวมทั้งหลักฐานที่ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์ วัดกุมกามน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงพระเมืองแก้วได้เสด็จมาสรงน้ำพระมหาพุทธพิมพ์ที่วัดเกาะกุมกาม และยังมีเนื้อความกล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดขึ้นประดิษฐาน ณ วัด (เกาะ) กุมกาม (กรมศิลปากร 2548 : 51)
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.
สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม : การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.