วัดธาตุน้อย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดน้อย

ที่ตั้ง : ม.11 บ้านช้างค้ำ

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.7479 N, 99.000793 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนมหิดล ให้เลี้ยวซ้าย มีจุดสังเกตคือป้าย บ.เกาะกลาง จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายแยกวัดศรีบุญเรือง จากนั้นให้เลี้ยวขวาที่ บ้านเสาหิน ซอย 12 (หน้าปากซอยจะมีป้ายมาตามทางระยะประมาณ 550 เมตร วัดธาตุน้อยจะอยู่ทางซ้ายมือบริเวณสี่แยก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดธาตุน้อยเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1.ประกาศการกำหนดทะเบียนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 108 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2502 (วัดน้อย)

2.ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิศษ 127ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 (วัดธาตุน้อย)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดธาตุน้อยเป็นโบราณสถานร้าง อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดช้างค้ำ อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 930 เมตร โดยก่อนการขุดแต่งมีสภาพเป็นเนินดิน 2 แห่ง มีชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอาศัยบนเขตโบราณสถาน และปรากฏร่องรอยหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุของมิจฉาชีพ

ปัจจุบันบริเวณโบราณสถานแวดล้อมไปด้วยเขตชุมชน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

304 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 19–20

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

จากการขุดแต่ง พบฐานเจดีย์และวิหาร มีแท่นบูชารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งระหว่างเจดีย์และวิหาร 1 แท่น

ชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดน้อย (วัดธาตุน้อย) ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 - 20 เมษายน 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดธาตุน้อยหรือวัดน้อย เป็นโบราณสถานร้าง สภาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดิน ปรากฏร่องรอยเป็นหลุมขนาดใหญ่จากการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุโดยมิจฉาชีพ

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดธาตุน้อย ในปี พ.ศ. 2528 (กรมศิลปากร 2548 : 80) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดธาตุน้อย ประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร แท่นบูชารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ก่ออิฐ ฉาบปูนขาว ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอนเป็นห้องประดิษฐานพระประธาน พบลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มปราสาทบริเวณฐานชุกชีอย่างวัดกู่จ๊อกป๊อก

ภายในวิหารประกอบด้วยเสากลม 6 คู่ ฐานเสาก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่ออิฐซ้อนกันขึ้นไป โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ มีบันไดทางด้านหน้าและบันไดเล็กทางทิศตะวันตก 1 แห่ง

จากการขุดแต่งศึกษา พบร่องรอบการก่อสร้างวิหารซ้อนทับกันอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยในครั้งหลังได้ก่ออิฐเสริมผนังด้านข้างของซุ้มปราสาทให้หนาขึ้น สร้างฐานชุกชีเล็กบริเวณด้านซ้ายของซุ้มปราสาทและแท่นบูชา 1 แห่ง

2. เจดีย์ พบเพียงส่วนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซ้อนบนฐานเขียงขนาดใหญ่ (ฐานประทักษิณ) จากการที่พบประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมาก ทั้งรูปเทวดา ยักษ์แบก นาค หงส์ กินรี และลวดลายประดับกรอบซุ้มบริเวณรอบเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่า เจดีย์วัดธาตุน้อยน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจระนำสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และผนังเรือนธาตุประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบวัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พระพิมพ์ดินเผา (พระสิบสอง) ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดา ยักษ์แบกนาค หงส์ กินรี และลวดลายพันธุ์พฤกษา นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาพื้นเมืองล้านนา

การกำหนดอายุสมัย

จากหลักฐานที่ปรากฏ ขึงกำหนดอายุสมัยการสร้างวัดธาตุน้อยไว้ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี