โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดกู่ไม้ซัง, วัดกู่ไม้ซ้ง
ที่ตั้ง : บ้านช้างค้ำ
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.744833 N, 99.004605 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากโบราณสถานวัดหัวหนอง ให้ตรงมาทางด้านทิศใต้ ประมาณ 500 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ
วัดกู่ไม้ซ้งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 17ง วันที่ 17 มีนาคม 2542 (ซัดกู่ปู่ซ้ง(วัดกู่ไม้ซ้ง))
วัดกู่ไม้ซ้งเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่บริเวณมุมทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ภายในเมืองเวียงกุมกาม ห่างจากวัดช้างค้ำมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 400 เมตร บริเวณรอบโบราณสถานแต่เดิมเป็นทุ่งนา สภาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าไม้ซ้ง (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 62)
สภาพโดยรอบในปัจจุบันของโบราณสถานมีลักษณะเป็นทุ่งโล่ง
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบวิหาร เจดีย์ สถูปแปดเหลี่ยม แนวกำแพงแก้ว และซุ้มโขงอยู่ด้านหน้าวิหารชื่อผู้ศึกษา : กนกลักษณ์ บิลด์ดิ้ง โฮม (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด กนกลักษณ์ บิลด์ดิ้ง โฮม บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกู่ไม้ซ้ง (ร้าง) ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 26 เมษายน 2555วัดกู่ปู่ซังหรือวัดกู่ปู่ซ้งหรือวัดกู่ไม้ซ้งหรือวัดกู่ไม้ซัง เป็นโบราณสถานร้าง เดิมในบริเวณโบราณสถานมีต้นไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ซ้ง ขึ้นปกคลุมอยู่ จึงเป็นที่มาของชื่อโบราณสถาน
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะเสริมความมั่นคงโบราณสถานวัดกู่ไม้ซ้ง ในปี พ.ศ.2532 (กรมศิลปากร 2548 : 65 – 66) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่ไม้ซ้งประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ สถูปแปดเหลี่ยม แนวกำแพงแก้ว และซุ้มโขงอยู่ด้านหน้าวิหาร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถง มีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 20 เมตร และสูง 1.20 เมตร (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 62) หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปัจจุบันคงเหลือเพียงส่วนฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 1 ตอน ด้านหลังเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน มีบันไดด้านหน้าและด้านข้างทางทิศใต้ โครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
2. เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร คงเหลือเพียงส่วนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับชั้นฐานหน้ากระดานยกเก็จและฐานปัทม์ยกเก็จอีกชั้นหนึ่ง จากรูปแบบชุดฐานเจดีย์สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ต่อด้วยองค์ระฆังขนาดเล็กรอบฐานเจดีย์ มีกำแพงแก้วเชื่อมต่อจากด้านท้ายวิหาร ทั้งนี้ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเจดีย์มีแท่นวางดอกไม้
บริเวณด้านหน้าวิหารติดกับซุ้มโขงภายในเขตกำแพงแก้ว พบฐานสถูปแปดเหลี่ยม ซึ่งคงเหลือเพียงส่วนฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน 2 ชั้น
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุซึ่งได้จากการขุดแต่ง ได้แก่ แผ่นอิฐมีจารึกอักษรธรรมล้านนาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ตัวอักษรจารึกอ่านได้ความว่า “...ใดแลว...” “...นเพงปันดิน...” “...สพันนา๔...” “ดินเภาพันพวก...” เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นที่ใช้ประดับซุ้มจระนำ ลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายประจำยาม ลายดอกไม้สำหรับประดับส่วนหน้ากระดานท้องไม้ ชิ้นส่วนรูปสัตว์ และตัวเหงา เป็นต้น ส่วนภาชนะดินเผาพบจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาพื้นบ้าน รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) และยังพบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น พระพิมพ์ดินเผาแบบปาละ – พุกาม เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปและรัศมีสำริด ชิ้นส่วนแผ่นโลหะสำริดประดับองค์เจดีย์ และสถูปหินทรายทรงกลม เป็นต้น
การกำหนดอายุสมัย
จากรูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 21 พิจารณาร่วมกับโบราณวัตถุที่พบอาจกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัดกู่ไม้ซ้ง น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.
สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.