วัดกู่ขาว


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดกู่ขาว(ร้าง)

ที่ตั้ง : ถ.สายเชียงใหม่-ลำพูน

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.74919 N, 99.010268 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดกู่ขาวตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ห่างมาจากเมืองเชียงใหม่ ให้ใช้ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ตรงมาประมาณ 4.5 กิโลเมตร โบราณสถานจะอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกู่ขาวเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1.ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 108 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2502 (วัดกู่ขาว)

2.ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เมษายน 2529 (วัดกู่ขาว(ร้าง))

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกู่ขาวเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) ตรงกิโลเมตรที่ 5 ในเขต ต.หนองหอย

สภาพก่อนการขุดแต่ง พบเจดีย์ที่มีความสูงประมาณ 5 เมตร และรอบๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดินขนาดย่อม ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับบ้านเรือน ทิศใต้เป็นถนนไปสู่เวียงกุมกาม ทิศตะวันออกเป็นถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน (สายเก่า) อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1.6 กิโลเมตร

สภาพของโบราณสถานมีบางส่วนที่ถูกทำลายจากการสร้างถนนและการปลูกสร้างบ้านเรือน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

308 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–23

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531, พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตู

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

โบราณสถานวัดกู่ขาว เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ริมถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน ไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใด กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะ ในปี พ.ศ. 2531 – 2532 (กรมศิลปากร 2548 : 58 – 59) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดกู่ขาว ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตู

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร วิหารวัดกู่ขาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบร่องรอยการสร้างวิหารทับซ้อนกัน 2 ครั้ง ตอนหน้าและตอนกลางของวิหารถูกทำลายลงเพราะการก่อสร้างถนนและการปลูกสร้างบ้านเรือนราษฎร

ร่องรอยการก่อสร้างวิหาร ปรากฏให้เห็นครั้งแรกในส่วนฐานชุกชีพระประธาน ซึ่งประดับลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัวเเละสิงห์ 2 ตัว ศีรษะเดียว เช่นเดียวกับปูนปั้นสิงห์ที่วัดอีค่าง ต่อมาจึงมีการสร้างฐานวิหารและฐานชุกชีใหม่ทับลงบนฐานชุกชีเดิม

ลายปูนปั้นรูปสิงห์นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากพม่า ส่วนลายปูนปั้นรูปกลีบบัวที่ประดับฐานชุกชีนั้น ลักษณะคล้ายกับลายปูนปั้นที่วัดกู่ป่าลาน อ.บ้านธิ จ.ลำพูน (ปลายพุทธศตวรรษที่ 21) แต่จากรายละเอียดของลายกลีบบัววัดกู่ขาวไม่เก่าไปถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างลายกลีบบัวของวัดกู่ป่าลาน

2. เจดีย์ เจดีย์วัดกู่ขาวมีส่วนฐานตอนล่างเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ 3 เมตร เหนือขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานยกเก็จ 2 ตอน ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับฐานปัทม์ยกเก็จ 2 ตอน ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ซ้อนกัน 2 ชุด คั่นด้วยชั้นหน้ากระดานที่ประดับลวดลายประจำยามปูนปั้นที่มุมยกเก็จทุกมุมโดยรอบ ลักษณะเป็นลายกรอบวงโค้งสี่เหลี่ยม ตกแต่งรูปวงกลมล้อมรอบด้วยลายกนกและหงส์ มีรายละเอียดใกล้เคียงกับงานจิตรกรรมลายคำ บนผนังท้ายวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมในราวพุทธศตวรรษที่ 23

ส่วนตอนกลางของเจดีย์เป็นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม คงเหลือเพียงชั้นเดียว

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง ได้แก่ พระพุทธรูปแก้วสีเขียวปางมารวิชัย, ชิ้นส่วนพระพุทธรูปศิลา (หินแอนดีไซท์) ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย เศียรหักหาย และชิ้นส่วนพระหัตถ์พระพุทธรูปสำริด เป็นต้น

การกำหนดอายุสมัย

จากรูปแบบสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่าวัดกู่ขาวน่าจะสร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 – 22  และจากลวดลายปูนปั้นกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 23 ทำให้เชื่อได้ว่าวัดกู่ขาวควรจะมีการบูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 23

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี