โพสต์เมื่อ 17 พ.ย. 2020
ชื่ออื่น : วัดกู่ป้าต้อม, วัดกู่ป้าด้อม(ร้าง)
ที่ตั้ง : ถ.สมโภชเชียงใหม่
ตำบล : หนองผึ้ง
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.747600 N, 98.996539 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ให้เข้าทางเทศบาลตำบลท่าวังตาล ประมาณ 140 เมตร แล้วเลี้ยวขวา เมื่อเจอสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามทาง ประมาณ 350 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางขวามือ
วัดกู่ป้าด้อมเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545 (วัดกู่ป้าด้อม)
วัดกู่ป้าด้อมเป็นโบราณสถานร้าง แต่เดิมโบราณสถานตั้งอยู่บนที่ดินของป้าด้อม ชาวบ้านจึงเรียกโบราณสถานตามชื่อเจ้าของที่ดินว่า วัดกู่ป้าด้อม
ในปัจจุบันโบราณสถานแวดล้อมด้วยสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 700 เมตร ห่างจากโบราณสถานวัดปู่เปี้ยมาทางทิศใต้ประมาณ 250 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการเทศบาลตำบลวังตาลไปทางทิศเหนือประมาณ 200 เมตร
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ขุดแต่งศึกษาใน พ.ศ.2543ชื่อผู้ศึกษา : ช่อฟ้าก่อสร้าง (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่อฟ้าก่อสร้าง ขุดแต่งภายใต้การควบคุมของกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน 2547 - 7 กันยายน 2547 พบวิหารที่เหลือเฉพาะเพียงส่วนฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวกำแพงแก้วบางส่วนทางด้านทิศตะวันออก และอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวิหารขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุประเภทเครื่องถ้วย และชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรม ประติมากรรมชื่อผู้ศึกษา : ช่อฟ้าก่อสร้าง (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่อฟ้าก่อสร้าง บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกู่ป้าด้อมภายใต้การควบคุมของกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 13 มีนาคม 2555 - 13 กันยายน 2555วัดกู่ป้าด้อมเป็นโบราณสถานร้าง แต่เดิมโบราณสถานตั้งอยู่บนที่ดินของป้าด้อม ชาวบ้านจึงเรียกโบราณสถานตามชื่อเจ้าของที่ดินว่า วัดกู่ป้าด้อม
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่ป้าด้อม ในปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 61 – 62) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่ป้าด้อมมีลักษณะเป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีการกระจายตัวกันอย่างหนาแน่น ประกอบด้วย วิหารหันหน้าสู่ทิศตะวันออก เจดีย์ด้านหลังวิหาร แท่นบูชาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของเจดีย์ด้านละ 1 แท่น กำแพงแก้วแบบบัวหลังเจียด (บัวคว่ำ) และซุ้มโขง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถง ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานปัทม์ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 2 ตอน เช่นเดียวกับวิหารวัดพระอุด พื้นวิหารปูด้วยอิฐ ฉาบปูนขาว ประกอบด้วยฐานเสาวิหาร 7 คู่ มีบันไดด้านหน้า และบันไดขนาดเล็กทางด้านข้างทั้งสองข้างของห้องด้านหลัง เฉพาะหัวบันไดด้านหน้าตกแต่งด้วยตัวเหงา (หางวัน)
ท้ายวิหารเป็นห้องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป สร้างฐานชุกชีเต็มพื้นที่ห้องเช่นเดียวกับวิหารวัดกู่อ้ายสี วัดกู่อ้ายหลาน วัดกุมกาม วัดอีค่าง และวัดพญามังราย เป็นต้น
2. เจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนขาว ปัจจุบันคงเหลือให้เห็นเฉพาะส่วนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับชั้นหน้ากระดานยกเก็จ 2 ตอน
โบราณวัตถุที่พบ
สำหรับภาชนะดินเผาพบน้อยมาก มีชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง เตาเวียงกาหลง ภาชนะที่ผลิตจากแหล่งเตาพื้นบ้าน และพบเพียงชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) เพียงเล็กน้อย
การกำหนดอายุสมัย
จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัดกู่ป้าด้อม พบว่าเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันในอาณาจักรล้านนาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 อีกทั้งโบราณวัตถุที่ขุดพบก็สามารถกำหนดอายุได้ในระยะใกล้เคียงกัน จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานวัดกู่ป้าด้อมน่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.