วัดอุโบสถ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดโบสถ์

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านป่าเปอะ

ตำบล : ท่าวังตาล

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.750289 N, 98.992851 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ให้เข้ามาทางถนนบ้านป่าเปอะ ตรงตามทางระยะประมาณ 650 เมตร ด้านซ้ายมือจะพบวัดป่าเปอะ ตัวโบราณสถานวัดโบสถ์จะอยู่ทางขวามือถัดไปอีกประมาณ 20 เมตร หน้าทางเข้าจะมีป้ายชื่อวัดขนาดเล็ก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดโบสถ์เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 108 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2502 (วัดอุโบสถ)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดอุโบสถหรือวัดโบสถ์เป็นโบราณสถานร้าง อยู่ห่างจากแม่น้ำผิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของวัดป่าเปอะ (ห่างกันประมาณ 100 เมตร) สภาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดิน ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นเนินดินลักษณะคล้ายกับอุโบสถ จึงเรียกกันว่าวัดอุโบสถ หรือวัดโบสถ์

บริเวณโดยรอบโบราณสถานเป็นสวนของเอกชนและเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

303 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดอุโบสถ (วัดโบสถ์) ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2555 - 13 กันยายน 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดโบสถ์เป็นโบราณสถานร้าง ไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารประวัติศาสตร์ใด โดยชื่อของวัดโบสถ์เป็นชื่อที่มาจากชาวบ้านเรียกตามลักษณะเนินโบราณสถานที่ดูคล้ายโบสถ์หรืออุโบสถ ก่อนได้รับการขุดแต่งจากกรมศิลปากร ชาวบ้านได้ทำการขุดโบราณสถานนี้ พบพระพิมพ์และวัตถุทางศาสนาในบริเวณโบราณสถานเป็นจำนวนมาก

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานวัดโบสถ์ ในปี พ.ศ. 2542 - 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 81 – 83) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดโบสถ์ ประกอบด้วยวิหาร และเจดีย์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประกอบด้วยเสา 6 คู่ ฐานรองเสาเป็นศิลาแลง ตัวอาคารมีการยกเก็จทางด้านหน้า 2 ตอน และด้านหลัง 1 ตอนเป็นฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน โดยได้พบแนวผนังก่ออิฐที่ด้านท้ายวิหาร มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้าและทั้งสองข้างของห้องด้านหลัง โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอตามรูปแบบที่นิยมสร้างกันในล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ 21

วิหารวัดโบส์มีการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย โดยสมัยหลังมีการถมพื้นที่ด้านนอกให้สูงขึ้นเหนือส่วนท้องไม้ของฐานวิหาร ในขณะที่พื้นภายในวิหารไม่ได้ถูกถมให้สูงขึ้นดังเช่นด้านนอก

2. เจดีย์ ตั้งอยู่ห่างจากทางด้านหลังของวิหารราว 1.60 เมตร เหลือปรากฏเฉพาะส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผลจากการขุดแต่งสามารถสันนิษฐานถึงรูปแบบเจดีย์ได้ว่า น่าจะเป็นทรงปราสาทยอดระฆัง ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเจดีย์ พบแท่นบูชาจำนวน 2 แท่น เป็นแท่นบูชาลักษณะเดียวกับที่พบตามโบราณสถานในเวียงกุมกาม กำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 22

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง ได้แก่ ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาลำปาง แหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง ที่มีเนื้อขาวบดละเอียด ตกแต่งด้วยการเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ และเคลือบสีเขียว (พ.ศ. 1911 – 2187)

นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปหินทราย ประติมากรรมปูนปั้นรูปเศียรเทวดาทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ที่สามารถนำไปศึกษาเปรียบเทียบได้กับประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาที่โพธารามหมหาวิหาร วัดเจ็ดยอด ซึ่งมีอายุสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และยังพบพระพิมพ์ดินเผาแบบพระสิบสอง ซึ่งนิยมสร้างกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยหริภุญชัยจนถึงสมัยล้านนา

ที่สำคัญได้พบแผ่นอิฐมีจารึกอักษรฝักขาม และภาษาไทย จำนวน 10 แผ่น ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 21

การกำหนดอายุสมัย

จากหลักฐานที่ปรากฏทั้งรูปแบบโบราณสถานและโบราณวัตถุ สันนิษฐานว่าวัดโบสถ์น่าจะมีอายุการสร้างอยู่ในระหว่างต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22

จารึกที่เกี่ยวข้อง อิฐจารึกอักษรฝักขาม และภาษาไทย จำนวน 10 แผ่น กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี