โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.11 บ้านช้างค้ำ
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.749599 N, 99.0035 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
อยู่ภายในเวียงกุมกาม สามารถเข้าทางซอยเสาหิน 11 เข้าไปในซอยประมาณ 200 เมตร มีรั้วปูนก่อล้อมที่ดินที่โบราณสถานตั้งอยู่
วัดกู่อ้ายหลานเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
วัดกู่อ้ายหลานเป็นโบราณสถานร้าง ห่างจากแนวแม่น้ำปิงสายเดิม (ปิงห่าง) ไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางตะวันออกประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินของนายหลาน จึงเรียกชื่อตามเจ้าของที่ดิน ห่างจากวันช้างค้ำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 170 เมตร ปัจจุบันบริเวณโบราณสถานแวดล้อมด้วยสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีการก่อรั้วปูนล้อมที่ดินที่เป็นที่ตั้งโบราณสถาน
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบว่าวัดกู่อ้ายหลานวางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ประกอบด้วยกำแพงแก้ว ซุ้มประตู วิหาร เจดีย์ รอบฐานเจดีย์มีแท่นบูชา 3 แท่นชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน บูรณะและปรับปรุงโบราณสถานวัดกู่อ้ายหลาน ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 - 11 เมษายน 2555วัดกู่อ้ายหลานเป็นโบราณสถานร้าง ห่างจากแนวแม่น้ำปิงสายเดิม (ปิงห่าง) ไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ตั้งอยู่บนที่ดินของนายหลาน จึงเรียกชื่อตามเจ้าของที่ดิน
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่อ้ายหลาน ในปี พ.ศ.2542–2543 (กรมศิลปากร 2548 : 71–72) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่อ้ายหลาน ประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ กำแพงแก้ว และซุ้มโขง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถง หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูนขาว ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอนเพื่อเป็นห้องประดิษฐานพระประธาน โดยฐานชุกชีนั้นสร้างเต็มพื้นที่ เช่นเดียวกับวิหารวัดกู่ป้าด้อม วัดกู่อ้ายสี วัดอีค่าง และวัดพญามังราย เป็นต้น โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ มีบันไดด้านหน้าวิหาร ปลายบันไดประดับด้วยเสาบัว
2. เจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร ห่างออกไปประมาณ 2.50 เมตร ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากการขุดแต่งบูรณะ พบว่าก่อนการสร้างเจดีย์องค์นี้ได้มีการปรับพื้นให้เรียบ แล้วอัดถมด้วยดินลูกรัง จากนั้นจึงก่อรากฐานเจดีย์ขึ้นมาสูงประมาณ 76 เซนติเมตร แล้วจึงก่อเจดีย์
3. กำแพงแก้ว ปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ เฉพาะด้านทิศตะวันออกมีซุ้มประตูทางเข้า (ซุ้มโขง) มีการก่ออิฐปูเป็นทางเดินเชื่อมต่อกับบันไดทางเข้าวิหาร ทั้งนี้รูปแบบของซุ้มโขงวัดกู่อ้ายหลานมีลักษณะเช่นเดียวกับซุ้มโขงวัดกู่ริดไม้ วัดกู่ไม้ซ้ง วัดหัวหนอง และวัดพญามังราย เป็นต้น
โบราณวัตถุที่พบ
ในการขุดแต่งศึกษา พบประติมากรรมปูนปั้นบริเวณฐานเจดีย์และส่วนท้ายวิหาร ลวดลายพันธุ์พฤกษา ชิ้นส่วนรูปสัตว์ เช่น นาค สิงห์ และรูปเทวดาจำนวนมาก กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ดินเผา ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผาลงรักปิดทองปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 – 22 และภาชนะดินเผาผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาสันทราย แหล่งเตาลำปาง แหล่งเตาวังเหนือ และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) และราชวงศ์ชิง (พุทธศตวรรษที่ 22 – 23)
การกำหนดอายุสมัย
จากความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 และรูปแบบลวดลายปูนปั้นที่กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ประกอบกับโบราณวัตถุที่มีอายุในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โบราณสถานวัดกู่อ้ายหลานน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 – 21
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.