โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดกู่อ้ายสี(ร้าง)
ที่ตั้ง : ม.11 บ้านช้างค้ำ
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.746849 N, 99.00469 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดกู่อ้ายสีอยู่ใกล้กับวัดหัวหนอง ถัดลงมาทางทิศใต้ ประมาณ 230 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางขวามือ หรืออยู่ด้านหลังหมู่บ้านจัดสรรชื่อ หมู่บ้านธนโชค จากถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน สามารถเข้าได้ทางซอยเสาหิน 6 ต่อเนื่องซอยเสาหิน 8 และซอยหมู่บ้านธนโชค
วัดกู่อ้ายสี เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545
วัดกู่อ้ายสีเป็นโบราณสถานร้าง อยู่ห่างจากวัดช้างค้ำไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร ห่างจากกลุ่มโบราณสถานวัดหัวหนองไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร และอยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1.3 กิโลเมตร โดยรอบเป็นพื้นที่ทุ่งนา และเป็นเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
จากการขุดแต่งศึกษา ทำให้พบเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่หลังวิหาร ด้านทิศเหนือของเจดีย์มีแท่นบูชา โดยโบราณสถานทั้งหมดอยู่ในแนวกำแพงแก้ว คงเหลือเฉพาะด้านทิศใต้ของวิหารเท่านั้นชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกู่อ้ายสี ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 6 กุมภาพันธ์ 2555วัดกู่อ้ายสี เป็นโบราณสถานร้าง ชื่อกู่อ้ายสี เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกโบราณสถานแห่งนี้ เนื่องจากอยู่ติดกับที่ดินของนายสี
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่อ้ายสี ในปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 69 – 70) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่อ้ายสี ประกอบด้วย เจดีย์ วิหาร แท่นบูชา และแนวกำแพงแก้วทางด้านทิศใต้ของวิหาร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหารของวัดกู่อ้ายสี เป็นวิหารโถงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน เพื่อเป็นห้องประดิษฐานพระประธาน มีการสร้างฐานชุกชีเต็มพื้นที่ห้อง ปรากฏร่องรอยการสร้างทับซ้อนกัน 2 สมัย ด้านหน้าวิหารมีบันไดทางขึ้น โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
2. เจดีย์ของวัดกู่อ้ายสี อยู่ด้านหลังวิหาร ห่างประมาณ 4.8 เมตร เหลือเพียงส่วนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ปรากฏร่องรอยการสร้างซ้อนทับกัน 2 สมัยเช่นกัน ซึ่งสมัยหลังมีการขยายฐานเจดีย์ให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง คือ แผ่นอิฐจารึกฝักขาม 2 ชิ้น พระพิมพ์ดินเผา ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา เช่น แหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาสันทราย ภาชนะดินเผาประเภทคนโท และขวด ที่ตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้ซึ่งเกิดจากการกดประทับแบบศิลปะหริภุญชัย อีกทั้งเครื่องถ้วยจีนเนื้อดินสีขาวบางละเอียด ทั้งเคลือบใส เคลือบเขียว และเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบสมัยราชวงศ์หมิงตอนกลาง ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ตะปูจีน เป็นต้น
การกำหนดอายุสมัย
จากรูปแบบผังการก่อสร้างวิหารวัดกู่อ้ายสี ซึ่งนิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 และอายุตัวอักษรบนแผ่นอิฐ จึงสันนิษฐานว่าวัดกู่อ้ายสีน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.