โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.11 บ้านเสาหิน
ตำบล : หนองผึ้ง
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.746057 N, 99.006925 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากวัดพันเลา ให้ตรงไปตามทางทิศตะวันออก ประมาณ 450 เมตร เลี้ยวขวาเข้าทางซอย บ้านเสาหิน 8 จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทาง ประมาณ 130 เมตร แล้วให้เลี้ยวขวาเข้าทางซอยหมู่บ้านธนโชค ประมาณ 300 เมตร จะพบโบราณสถาน
วัดกู่มะเกลือเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
วัดกู่มะเกลือเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ห่างจากแนวแม่น้ำปิงสายเดิม (ปิงห่าง) ไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร อยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออก ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 50 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกปราณ 1.5 กิโลเมตร สภาพแต่เดิมเป็นเนินโบราณสถานที่มีต้นมะเกลือขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่
สภาพโดยรอบในปัจจุบันของโบราณสถาน ถูกล้อมรอบไปด้วยสวนของชาวบ้าน
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบวิหารตั้งอยู่หน้าเจดีย์บนฐานไพที วางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก และพบแนวกำแพงแก้วเฉพาะด้านทิศตะวันตกของวิหารชื่อผู้ศึกษา : กนกลักษณ์ บิลด์ดิ้ง โฮม (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด กนกลักษณ์ บิลด์ดิ้ง โฮม บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกู่มะเกลือ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 12 มิถุนายน 2555วัดกู่มะเกลือเป็นโบราณสถานร้าง ชื่อวัดกู่มะเกลือมาจากชาวบ้านเรียกต่อๆ กันมา เนื่องจากแต่เดิมบริเวณโบราณสถานมีลักษณะเป็นเนินที่มีต้นมะเกลือขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่มะเกลือ เมื่อปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 63 – 64) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่มะเกลือ วางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ประกอบด้วยวิหารตั้งอยู่หน้าเจดีย์บนฐานไพที นอกจากนี้ยังพบแนวกำแพงแก้วเฉพาะด้านทิศตะวันตกของวิหาร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนฐานลักษณะเป็นฐานปัทม์ ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ใช้เป็นห้องสำหรับประดิษฐานพระประธาน บริเวณฐานชุกชีของพระประธานมีร่องรอยการก่อนสร้างซ้อนทับกัน 2 สมัย มีผนังก่ออิฐทึบด้านหลังอาคาร พื้นวิหารปูด้วยอิฐ 2 ชั้น ชั้นบนมีการฉาบด้วยปูนขาว มีบันไดทางขึ้น 2 แห่ง คือ บันไดทางขึ้นหน้าวิหาร รองรับด้วยแผ่นอิฐก่อเป็นรูปครึ่งวงกลม และบันไดขนาดเล็กทางทิศเหนือด้านท้ายวิหาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
2. เจดีย์ คงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส รองรับชั้นฐานหน้ากระดานยกเก็จ และฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่คู่
โบราณวัตถุที่พบ
จากการขุดแต่งศึกษา พบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมากบริเวณทิศตะวันตกขององค์เจดีย์ ส่วนใหญ่เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ชิ้นส่วนรูปสัตว์ (ส่วนเกล็ด) ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาลำพูน แหล่งเตาสันกำแพง และแหล่งเตาพาน ซึ่งพบทั้งแบบเคลือบและไม่เคลือบ รวมทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187)
นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น ตะปูจีน กระเบื้องมุงหลังคา แผ่นทองจังโก เม็ดพระศกปูนปั้น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปชินและสำริด เจดีย์จำลองสำริด ตะคันดินเผา และชิ้นส่วนกระดูกสัตว์
การกำหนดอายุสมัย
ในการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางสถาปัตยกรรม พบว่าลักษณะของวิหารและเจดีย์ที่ตั้งบนฐานไพทีนั้น พบมากราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณาร่วมกับโบราณวัตถุที่พบแล้ว จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานวัดกู่มะเกลือ น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.