โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดกู่มะลิดไม้
ที่ตั้ง : ม.11 บ้านช้างค้ำ
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.746212 N, 99.003316 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
วัดกู่ริดไม้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดกู่ไม้ซ้ง เลยจากวัดกู่ไม้ซ้ง ให้เลี้ยวขวาไปตามทางระยะประมาณ 150 เมตร แล้วเลี้ยวซ้าย จะพบทางเล็กๆ ที่เข้าสู่บริเวณโบราณสถาน
วัดกู่ริดไม้เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
กรมศิลปากร
วัดกู่ริดไม้เป็นโบราณสถานร้าง พื้นที่ตั้งโบราณสถานเดิมมีต้นริดไม้หรือต้นเพกาขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดกู่ริดไม้
ปัจจุบันบริเวณโบราณสถานแวดล้อมไปด้วยสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1.3 กิโลเมตร อยู่ห่างจากโบราณสถานวัดธาตุน้อยมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 300 เมตร ห่างจากโบราณสถานวัดกู่ปู่ซังมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 150 เมตร
แม่น้ำปิง
เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบส่วนของฐานวิหาร เจดีย์ และฐานโบราณสถานแปดเหลี่ยมชื่อผู้ศึกษา : มิตรเมืองเก่า 2544 (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรเมืองเก่า 2544 บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกู่ริดไม้ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 11 เมษายน 2555วัดกู่ริดไม้ เป็นโบราณสถานร้าง บริเวณโบราณสถานแต่เดิมมีต้นริดไม้หรือต้นเพกาขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกโบราณสถานแห่งนี้ว่า วัดกู่ริดไม้
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่ริดไม้ ในปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 67 – 68)พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้
โบราณสถานวัดกู่ริดไม้วางตัวตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ แต่ปัจจุบันเหลือเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศใต้บางส่วนเท่านั้น ประกอบด้วยวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกลุ่มโบราณสถานที่มีเจดีย์อยู่ด้านหน้า ทิศใต้ของเจดีย์มีฐานอาคารแปดเหลี่ยมขนาดเล็ก 1 ฐาน อาจเป็นศาลผีเสื้อ มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศใต้ ระหว่างซุ้มโขงและวิหารปูอิฐเป็นทางเดินนำเข้าสู่วิหาร เช่นเดียวกับแผนผังวัดกู่อ้ายหลาน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังส่เหลียมผืนผ้า คงเหลือเพียงส่วนฐาน ลักษณะเป็นฐานปัทม์ ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอนสำหรับประดิษฐานพระประธาน โดยก่อฐานชุกชีเต็มพื้นที่ห้อง เช่นเดียวกับที่วัดกู่อ้ายสี วัดกู่อ้ายหลาน วัดกู่ป้าด้อม และวัดพญามังราย เป็นต้น มีบันไดหลักด้านหน้าวิหาร และบันไดเล็กด้านทิศเหนือของวิหารอีก 1 แห่ง โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
2. เจดีย์ เหลือปรากฏเพียงส่วนฐานเขียงขนาดใหญ่ซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับฐานเขียงขนาดเล็กอีก 1 ชั้น
3. ฐานโบราณสถานแปดเหลี่ยม หรือศาลผีเสื้อ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์เจดีย์ สร้างขึ้นในผังแปดเหลี่ยมเช่นเดียวกับที่พบในวัดปู่เบี้ย (พุทธศตวรรษที่ 21 – 22)
โบราณวัตถุที่พบ
จากการขุดแต่งบริเวณซุ้มปราสาท ฐานชุกชี และฐานโบราณสถานแปดเหลี่ยม พบชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นจำพวกลายพันธุ์พฤกษา ลายกนก ลายก้านขด และลายกลีบบัว คล้ายกับปูนปั้นประดับซุ้มที่วัดหัวหนอง (พุทธศตวรรษที่ 21) นอกจากนี้ยังได้พบพระพิมพ์ดินเผาแบบสามโพธิ์และสามเลี่ยง พระพิมพ์ทั้งสองแบบนี้ เป็นพระพิมพ์ในศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะหริภุญชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
สำหรับภาชนะดินเผาที่พบ เป็นภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาสันทราย นอกจากนี้ยังได้พบภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย ประเภทคนโท หม้อ และขวด เขียนลายด้วยน้ำดินสีขาว ลวดลายดอกไม้ และลายวงกลมซึ่งเกิดจากการกดทับ (พุทธศตวรรษที่ 19 – 21) รวมทั้งพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) ส่วนโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา ตะปูจีน ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้นและสำริด เป็นต้น
การกำหนดอายุสมัย
พิจารณาจากรูปแบบของวิหารและการวางผังแบบวัดปู่เบี้ย วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดธาตุน้อย วัดกู่ป้าด้อม และวัดกู่ไม้ซ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมกับการวิเคราะห์โบราณวัตถุ รวมถึงลวดลายปูนปั้น ซึ่งคล้ายกับลวดลายประดับซุ้มวัดหัวหนอง อันกำหนดอายุสมัยไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นั้น อาจกล่าวได้ว่าโบราณสถานวัดกู่ริดไม้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.