วัดกู่จ๊อกป๊อก


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านผึ้ง

ตำบล : หนองผึ้ง

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.74 N, 99.01 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดกู่จ๊อกป๊อกตั้งอยู่ด้านหลังหมู่บ้านจัดสรร บ้านเพ็ญมณี ติดกับบ่อตกปลาเชียงใหม่ ฟิชชิ่งปาร์ค สามารถเข้าได้ทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน โดยเข้าไปซอย 3 หรือซอยเข้าสู่วัดพระนอนหนองน้ำและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองผึ้ง ประมาณ 450 เมตร จะพบบ้านเพ็ญมณี

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกู่จ๊อกป๊อก ตั้งอยู่ในบริเวณข้างหมู่บ้านจัดสรร นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกู่จ๊อกป๊อกเป็นโบราณสถานร้าง เดิมมีสภาพเป็นเนินดินขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกเมืองเวียงกุมกาม ห่างจากแนวกำแพงเมืองเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 100 เมตร ห่างจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ภายหลังการขุดแต่งพบสภาพเหลือเพียงส่วนฐานของวิหารและฐานของเจดีย์ ปัจจุบันโบราณสถานแวดล้อมไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

302 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบโบราณสถานวางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกู่จ๊อกป๊อกเป็นโบราณสถานร้าง คำว่า “จ๊อกป๊อก” เป็นภาษาถิ่นเหนือ มีความหมายว่า สิ่งก่อสร้างขนาดกลางที่เป็นเนินหรือมียอด

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาวัดกู่จ๊อกป๊อก ในปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 60) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดกู่จ๊อกป๊อกมีการวางผังตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก วิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์และหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร มีลักษณะเป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดด้านหน้า ฐานวิหารยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน และด้านหลัง 1 ตอน เป็นห้องสำหรับประดิษฐานพระประธานที่มีซุ้มปราสาท โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

2. เจดีย์ สภาพในปัจจุบันนั้นคงเหลือเฉพาะส่วนฐานเขียงตอนล่างในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่านั้น

โบราณวัตถุที่พบ

จากการขุดแต่งศึกษา พบโบราณวัตถุหลายประเภท ทั้งประติมากรรมปูนปั้นซึ่งพบมากบริเวณซุ้มปราสาท และฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปสัตว์ ชิ้นส่วนลายกลีบบัว ลวดลายพันธุ์พฤกษา

นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้แก่ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาสันทราย แหล่งเตาวังเหนือ ภาชนะดินเผาไม่เคลือบแบบลำพูน และพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) ประเภท ถ้วย ชาม เขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ และบางชิ้นมีตราสัญลักษณ์ที่ก้นภาชนะดินที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวที่ผลิตจากเตาจิ่งเต๋อเจิ้น ในมณฑลเกียงซี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21

การกำหนดอายุสมัย

จากแผนผังวัดและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานว่าวัดกู่จ๊อกป๊อกน่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี