โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.1 ต.ท่าวังตาล อ.สารภี
ตำบล : ท่าวังตาล
อำเภอ : สารภี
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.751219 N, 98.998935 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากวัดเจดีย์เหลี่ยม ให้เข้าทางซอย 2 ประมาณ 500 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 120 เมตร แล้วจึงเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง ประมาณ 160 เมตร โบราณสถานจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ
วัดหนานช้างเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและปรับภูมิทัศน์แล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
กรมศิลปากร
วัดหนานช้าง เป็นโบราณสถานร้างที่เหลือร่องรอยโบราณสถานค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับโบราณสถานโดยรอบ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สวนลำไยของเอกชน ระหว่างกลางกลุ่มโบราณสถานวัดพระเจ้าองค์ดำ วัดปู่เปี้ย วัดธาตุขาว และวัดอีค่าง อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร ห่างจากวัดปู่เปี้ยไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและสวนของเอกชน
แม่น้ำปิง
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
ผลการศึกษา :
พบเจดีย์ วิหาร ซุ้มโขง กำแพงแก้ว บ่อน้ำ 5 บ่อ และกลุ่มอาคารอีก 8 หลังชื่อผู้ศึกษา : ศิวกรการช่าง (บจ.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
บริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด (ผู้รับจ้าง) บูรณะโบราณสถานวัดหนานช้าง ระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2546 - 29 พฤศจิกายน 2546ชื่อผู้ศึกษา : พรอนันต์ก่อสร้าง (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอนันต์ก่อสร้าง (ผู้รับจ้าง) บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดหนานช้าง ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2547 - 4 พฤศจิกายน 2547ชื่อผู้ศึกษา : ช่างรุ่งคอนสตรัคชั่น (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช่างรุ่งคอนสตรัคชั่น (ผู้รับจ้าง) บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์วัดหนานช้าง ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2553 - 11 ตุลาคม 2553ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน (ผู้รับจ้าง) บูรณะโบราณสถานวัดหนานช้าง ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 - 29 สิงหาคม 2555วัดหนานช้างเป็นโบราณสถานร้างที่ไม่ปรากฏการกล่าวถึงในเอกสารทางประวัติศาสตร์ใด ชื่อวัดหนานช้างเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันใหม่ในปี พ.ศ. 2546 โดยตั้งตามชื่อเดิมของเจ้าของที่ดินบริเวณวัด สภาพก่อนดำเนินงานขุดแต่งพบเพียงเนินดินปรากฏเศษและแนวก่อเรียงอิฐกระจัดกระจาย หลังการขุดแต่งจึงพบว่าใต้ดินลึกลงไปเฉลี่ย 2 เมตรนั้น เป็นสิ่งก่อสร้างและอาคารประเภทต่างๆของวัดจำนวน 13 แห่ง
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานวัดหนานช้าง เมื่อปี พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2546 (กรมศิลปากร 2548 : 22 – 27, 95) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังต่อไปนี้
โบราณสถานวัดหนานช้างเป็นกลุ่มโฐราณสถานขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคารมากถึง 13 หลัง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ไร่ มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดถึง 3 ช่วงเวลาใหญ่ๆ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
1. โบราณสถานหมายเลข 1 เจดีย์ ปรากฏเฉพาะส่วนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับฐานบัวคว่ำในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่มีปลายกลีบบัวสะบัดงอนคล้ายรับอิทธิพลศิลปะลาว ส่วนเหนือขึ้นไปได้หักพังทลาย แต่ยังพบชิ้นส่วนปล้องไฉนและปลียอดตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บนลานประทักษิณซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลัง ที่บริเวณมุมทั้งสี่ด้านของลานประทักษิณพบเจดีย์ประดับมุมทรงระฆัง ทั้งนี้บริเวณองค์ระฆังประดับลายปูนปั้นรูปกลีบดอกไม้ คล้ายการประดับองค์ระฆังของเจดีย์วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ที่ได้ปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 20 และจากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน การประดับเจดีย์มุมในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยพบในเมืองเวียงกุมกาม
ในการขุดแต่งรอบๆ เจดีย์ พบชิ้นส่วนปูนปั้นกรอบซุ้มโค้งซ้อนลดหลั่นกัน ปลายกรอบซุ้มปั้นเป็นรูปมกรคายนาคขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง
2. โบราณสถานหมายเลข 2 วิหาร เป็นวิหารโถงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จเฉพาะตอนหน้า 1 ตอน หันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นหลักทางด้านหน้า และบันไดเล็กท้ายวิหารอีก 1 แห่งที่ตกแต่งหัวบันไดด้วยปูนปั้นรูปตัวเหงา
ภายในอาคารประกอบด้วยเสา 7 คู่ ฐานเสาใช้หินแม่น้ำขนาดใหญ่รับน้ำหนัก บริเวณพื้นที่ส่วนหลังของวิหารมีฐานชุกชีลักษณะแบบปัทม์ ท้องไม้ประดับด้วยปูนปั้นรูปพรรณพฤกษาและสัตว์หิมพานต์
3. โบราณสถานหมายเลข 3 ซุ้มประตูโขงและแนวกำแพงวัด เป็นกำแพงก่ออิฐ มีซุ้มประตูโขงอยู่ทางด้านทิศตะวันออก มีทางเดินปูด้วยอิฐทอดตัวจากด้านตะวันออกของวัด ผ่านซุ้มประตูโขงไปยังบันไดทางขึ้นวิหาร ที่ซุ้มประตูโขงนี้ พบหลักฐานว่ามีบานประตูไม้ 2 บาท สามารถเปิดเข้าด้านในได้
4. โบราณสถานหมายเลข 4 เป็นอาคารทรงปราสาท อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นหลักที่ประดับด้วยลวดลายมกรคายนาคอยู่ทางด้านหน้า และมีบันไดขนาดเล็กซึ่งคงใช้เฉพาะภิกษุสงฆ์เดินขึ้นสู่อาคารทางด้านทิศตะวันตก
อาคารนี้มีลักษณะเป็นอาคารยกพื้นสูง ภายในพบฐานเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ก่ออิฐจำนวน 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ต้น จากแผนผังของอาคารสันนิษฐานว่าเป็นอาคารทรงปราสาทซึ่งอาจสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ มีหลังคาเครื่องไม้ซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชุด มุงด้วยกระเบื้องดินขอ
การขุดแต่งทำให้พบชิ้นส่วนปูนปั้นรูปกิเลน ซึ่งคงเป็นชิ้นส่วนปรักหักพังของอาคารใดอาคารหนึ่งของวัดหนานช้างในยุคที่ 1 ฝังอยู่ใต้ฐานเสาต้นหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบว่าฐานอาคารนี้ก่อขึ้นบนแนวกำแพงวัดยุคที่ 1 ด้านทิศตะวันออก อาจสรุปได้ว่าอาคารนี้เป็นสิ่งก่อสร้างในยุคที่ 2 ของวัดหนานช้าง
5. โบราณสถานหมายเลข 5 เป็นกลุ่มอาคารที่พักสงฆ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหาร แผนผังอาคารวางตัวฉีกออกจากแนวแกนวิหาร เจดีย์ และซุ้มประตูโขง รวมทั้งอยู่นอกกำแพงวัดในยุคที่ 1 จึงอาจเป็นได้ว่า อาคารนี้สร้างขึ้นในยุคที่ 2 ของวัดหนานช้าง
ในการขุดแต่งพบหลักฐานการก่อสร้างและซ่อมแซมครั้งใหญ่หลายครั้ง มีการต่อเติมอาคารเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นที่พัก โดยพบร่องรอยการแบ่งพื้นที่ภายในอาคารเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กหลายห้อง รวมทั้งพบห้องที่มีลักษณะคล้ายห้องส้วมบนส่วนของอาคารที่ต่อเติมใหม่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
6. โบราณสถานหมายเลข 6 เป็นบ่อน้ำในผังกลมและสี่เหลี่ยม ซึ่งในบริเวณอาณาเขตของวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 5 บ่อ บ่อหมายเลข 1 – 3 พบบริเวณพื้นที่ด้านทิศใต้ของวัด หมายเลข 4 และ 5 พบนอกเขตวัดด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะหมายเลข 5 พบหลักฐานแน่ชัดว่าขุดขึ้นหลังจากก่อพนังดินกั้นน้ำทางทิศตะวันออกของวัดหนานช้าง ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้พื้นที่ด้านตะวันออกของวัดเป็นที่อยู่อาศัย
7. โบราณสถานหมายเลข 7 เป็นอาคารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปูพื้นด้วยอิฐ และสร้างทับแนวกำแพงทิศใต้ของวัด เป็นอาคารที่วางตัวขนานกับแนววิหาร จึงอาจเป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์เป็นศาลาและสร้างขึ้นในยุคที่ 2
8. โบราณสถานหมายเลข 8 เป็นกลุ่มอาคารก่ออิฐ 3 หลัง เรียงตัวต่อเนื่องกันในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ระหว่างห้องมีร่องรอยประตูขนาดเล็กเชื่อมต่อกัน จากลักษณะแผนผังสันนิษฐานว่าอาคารด้านข้างทั้งสองเป็นที่พักสงฆ์ ส่วนหลังกลางนั้นมีบันไดก่ออิฐสูงกว่าระดับพื้นใช้งานภายในของอาคารด้านข้าง จึงสันนิษฐานว่าเป็นหอกลองหรือหอระฆัง
9. โบราณสถานหมายเลข 9 เป็นอาคารก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่สามารถระบุหน้าที่การใช้งานได้ชัดเจน แต่เนื่องจากอาคารนี้วางตัวอยู่ในแนวเดียวกับอาคารหมายเลข 8 จึงอาจเป็นอาคารที่พักสงฆ์เช่นเดียวกัน
10. โบราณสถานหมายเลข 10 เป็นอาคารก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก มีประตูเข้า – ออกขนาดเล็กทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอาคาร เนื่องจากสร้างขึ้นใกล้บ่อน้ำ จึงสันนิษฐานว่าเป็นห้องสรงน้ำพระสงฆ์
11. โบราณสถานหมายเลข 11 เป็นแท่นบูชา ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พบอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอาคารหมายเลข 4
12. โบราณสถานหมายเลข 12 เป็นอาคารเก็บวัสดุ พบบริเวณแนวกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นอาคารโถงยกพื้นเตี้ยๆ บนอาคารพบกองกระเบื้องดินขอวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ
13. โบราณสถานหมายเลข 13 พบเพียงส่วนฐานรากของอาคารขนาดกว้าง 4.3 เมตร ไม่สามารถระบุหน้าที่การใช้งานได้ และเนื่องจากอาคารนี้ถูกอาคารหมายเลข 9 สร้างทับ จึงอาจเป็นสิ่งก่อสร้างในยุคแรกๆ ของวัดหนานช้าง
โบราณวัตถุที่พบ
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปแก้วสีขาวส่วนของพระอุระ 1 ชิ้น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปดินเผาส่วนของพระอุระ 2 ชิ้น พระเลา 1 ชิ้น พระกร 1 ชิ้น และพระพักตร์พระพุทธรูปทรงเครื่องอีก 1 ชิ้น พบปูนปั้นลายดอกไม้ ลายก้านขด รูปกิเลน รูปสิงห์ และรูปเหมราช (พญาหงส์) เป็นต้น
ทั้งนี้ยังพบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา ได้แก่ แหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาพาน แหล่งเตาเวียงกาหลง และแหล่งเตาสุโขทัย
สำหรับเครื่องถ้วยจีนพบเป็นจำนวนมากถึง 55 ใบ โดยพบในบริเวณด้านหลังอาคารทรงปราสาทที่ติดกับกำแพงด้านทิศตะวันตกจำนวน 47 ใบ ลึกจากผิวดินปัจจุบัน 1.80 – 2.00 เมตร เป็นชั้นดินก่อนชั้นดินตะกอนน้ำท่วมและบรรจุในภาชนะดินเผาสีน้ำตาลทรงหม้อปากผายใบใหญ่ ด้านบนมีอิฐปิดทับฝาภาชนะสำริดทรงกลม ลักษณะเป็นเครื่องถ้วยแบบราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) เขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ มีสภาพสมบูร์ และอีก 8 ใบพบบริเวณบ่อน้ำนอกวัดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เรียงตัวในลักษณะล้มเอียงในชั้นทรายตะกอนน้ำพัดพา
โบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ที่พบได้แก่ เบี้ยดินเผา หอยเบี้ย ดินสอเขียนกระดานชนวน แผ่นสำริด ปิ่นปักผมสำริด และช้อนสำริด เป็นต้น
การกำหนดอายุสมัย
สันนิษฐานจากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ วัดหนานช้างน่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.