วัดกุมกามทีปราม


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดกุมกามทีปราม(ร้าง)

ที่ตั้ง : ม.1 บ้านเสาหิน

ตำบล : หนองผึ้ง

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.74746 N, 99.009419 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนเชียงใหม่ – ลำพูน เข้าทางถนนเชียงใหม่ – ลำพูน 5 หน้าทางเข้าจะสังเกตเห็นโบราณสถานวัดกู่ขาว ประมาณ 100 เมตร พบทางแยกแล้วเลี้ยวซ้าย ประมาณ 20 เมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางซอยเสาหิน 6 จากนั้นตรงไปตามทางประมาณ 150 เมตร โบราณสถานวัดกุมกามทีปรามจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกุมกามทีปรามเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและทำการปรับภูมิทัศน์แล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณคดี ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกุมกามทีปรามเป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเวียงกุมกามทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 1.7 กิโลเมตร ห่างจากโบราณสถานวัดกู่ขาว มาทางทิศใต้ประมาณ 180 เมตร จากการขุดแต่งพบว่าตัวโบราณสถานอยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 0.50 เมตร ปัจจุบันสภาพโดยรอบของโบราณสถาน เป็นสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

302 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542, พ.ศ.2543, พ.ศ.2545, พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์, บูรณปฎิสังขรณ์

ผลการศึกษา :

พบว่าโบราณสถานวัดกุมกามทีปราม ประกอบด้วยวิหารจำนวน 2 หลัง กำหนดให้เป็นวิหารหมายเลข 1 และวิหารหมายเลข 2

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกุมกามทีปราม เป็นโบราณสถานร้าง ไม่ปรากฏชื่อในตำนานเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับใดๆ

กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งศึกษาวัดกุมกามทีปราม เมื่อปี พ.ศ. 2542 – 2543 (กรมศิลปากร 2548 : 54 – 55) พบข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

จากการขุดแต่งศึกษา พบว่าโบราณสถานวัดกุมกามทีปราม ประกอบด้วยโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วิหารหมายเลข 1 และวิหารหมายเลข 2

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหารหมายเลข 1 เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศเหนือ ปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐานที่มีลักษณะแบบปัทม์ท้องไม้ลูกแก้วอกไก่ ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน มีบันไดทางขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ บันไดหลักทางด้านหน้าวิหาร ตกแต่งหัวเสาด้วยปูนปั้นรูปมกรคายนาค และบันไดขนาดเล็กท้ายวิหารอีก 2 แห่ง ทั้งนี้พบร่องรอยการสร้างซุ้มปราสาทประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีแบบเดียวกับวัดธาตุน้อย ส่วนโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

2. วิหารหมายเลข 2 จากการขุดแต่งพบว่าฐานวิหารหมายเลข 2 อยู่ในระดับต่ำกว่าวิหารหมายเลข 1 ประมาณ 40 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นวิหารโถงเช่นเดียวกัน แต่หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐานในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารยกเก็จเฉพาะด้านหน้า 1 ตอน ด้านหลังเป็นฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังวิหารอย่างละ 1 แห่ง โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

โบราณวัตถุที่พบ

จากการขุดแต่งศึกษาพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ แผ่นอิฐจารึกอักษรฝักขาม พบบริเวณวิหารหมายเลข 1 กำหนดอายุรูปแบบตัวอักษรในระหว่าง พ.ศ. 2100 – 2158

นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมปูนปั้นจำนวนมาก บริเวณซุ้มพระประธานและซุ้มประตูวิหารของวิหารหมายเลข 2 ได้แก่ ลวดลายพันธุ์พฤกษา ชิ้นส่วนรูปสัตว์ประเภทนกหรือหงส์ ลายก้านขด ลายกนก เป็นต้น ภาชนะดินเผาที่ผลิตจากแหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง แหล่งเตาสันทราย และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงตอนกลาง (พ.ศ. 1911 – 2127)

การกำหนดอายุ

ในการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางสถาปัตยกรรม รวมถึงพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางโบราณวัตถุ สันนิษฐานได้ว่าวัดกุมกามทีปรามมีระยะการสร้าง 2 สมัย โดยวิหารหมายเลข 2 น่าจะสร้างขึ้นก่อน และอาจสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เนื่องจากวิหารหมายเลข 2 มีแผนผังการก่อสร้างที่ซับซ้อนน้อยกว่า ส่วนวิหารหมายเลข 1 น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี