วัดกุมกามทีปรามหมายเลข1


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดต้นข่อย, วัดข่อยสามต้น

ที่ตั้ง : บ้านเสาหิน

ตำบล : หนองผึ้ง

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.747173 N, 99.008625 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 ตั้งอยู่ถัดจากวัดกุมกามทีปรามลงไปทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร อยู่บริเวณหัวมุมของสี่แยก หากมาจากถนนเชียงใหม่-ลำพูน ใช้ซอยเชียงใหม่-ลำพูน 5 ประมาณ 92 เมตร เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 24 เมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ซอยบ้านเสาหินซอย 1 ไปประมาณ 220 เมตร จะพบสี่แยก วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 อยู่หัวมุมสี่แยก ใกล้กับโบราณสถานวัดกุมกามทีปราม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดกุมกามทีปราม โดยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดกุมกามทีปราม ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางตะวันออกประมาณ 1.6 กิโลเมตร เดิมมีสภาพเป็นเนินดิน และมีชื่อที่ ชาวบ้านเรียกกันแต่เดิมว่า วัดต้นข่อย เนื่องจากในบริเวณโบราณสถานมีต้นข่อยและกอไผ่ขึ้นหนาแน่น

วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดข่อยสามต้น ซึ่งเป็นชื่อใหม่ที่คณะอบรมอาสาสมัครนำชมเวียงกุมกามรุ่นที่ 1 ปี พ.ศ. 2545 ตั้งขึ้นตามจุดสังเกตที่เป็นต้นข่อยจำนวน 3 ต้น ที่ขึ้นเจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณวัด

ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบโบราณสถานเป็นสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

303 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20–23

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

จากการขุดแต่ง พบวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์

ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน (ผู้รับจ้าง) บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดกุมกามทีปราม หมายเลข 1 ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 - 11 เมษายน 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานร้าง ไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับใด ชื่อของโบราณสถานเป็นชื่อที่กรมศิลปากรเรียก เพื่อป้องกันการสับสนในการเรียกชื่อซ้ำกับโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียง แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดต้นข่อย เนื่องจากในบริเวณโบราณสถานมีต้นข่อยและกอไผ่ขึ้นหนาแน่น

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งศึกษาวัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 ในปี พ.ศ. 2545 (กรมศิลปากร 2548 : 56 – 57) พบข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 ประกอบด้วย  วิหาร เจดีย์ และแนวกำแพงแก้ว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร เป็นวิหารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปัจจุบันคงเหลือเพียงส่วนฐาน ตกแต่งเป็นชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำและท้องไม้ ก่ออิฐ ฉาบปูนขาว ยกเก็จเฉพาะด้านหนา 1 ตอน เช่นเดียวกับวิหารหมายเลข 2 ของวัดกุมกามทีปราม ท้ายวิหารมีฐานชุกชี  ซึ่งพบร่องรอยการก่อสร้างทับซ้อนกัน 2 ครั้ง โดยครั้งหลังได้เพิ่มฐานชุกชีให้ใหญ่ขึ้น ภายในวิหารมีเสาจำนวน 4 คู่ พื้นวิหารปูด้วยอิฐฉาบปูนขาว มีบันไดหน้าวิหาร และทิศเหนือท้ายอาคาร โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

2. เจดีย์ ปรากฏส่วนฐานเป็นฐานเตี้ยๆ ประกอบด้วยชั้นหน้ากระดาน เส้นลวด บัวคว่ำและท้องไม้ลูกแก้ว ส่วนตอนกลางเจดีย์เป็นแบบฐานปัทม์ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จ ก่ออิฐฉาบปูนขาว เหนือขึ้นไปพังทลาย ลักษณะฐานเตี้ยเช่นนี้เทียบได้กับเจดีย์ล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 19

จากรูปแบบสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้น่าจะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท แต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากในการขุดแต่งบริเวณฐานเจดีย์ ได้พบลวดลายปูนปั้นรูปนาคและลายกนก ซึ่งน่าจะใช้ประดับส่วนปลายวงโค้งของซุ้มจระนำ ตามเทคนิคที่นิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่  20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21

ระหว่างวิหารและเจดีย์มีแนวก่ออิฐฉาบปูนขาวเชื่อมฐานวิหารและฐานเจดีย์เข้าด้วยกัน รอบวิหารและเจดีย์ก่ออิฐเป็นแนวรอบ ต่อกับผนังวิหารบริเวณยกเก็จด้านหน้า แล้วถมอัดดินภายใน จึงดูเสมือนวิหารและเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน (ฐานไพที) อันเป็นลักษณะห้องคูหาท้ายวิหาร (คันธกุฎี)

นอกจากนี้ยังปรากฏแนวกำแพงแก้วและซุ้มโขงทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก พื้นที่ระหว่างซุ้มโขงกับวิหาร มีการปูอิฐเป็นทางเดินนำเข้าสู่วิหาร เช่นเดียวกับแผนผังวัดกู่อ้ายหลานและวัดกู่ริดไม้ ส่วนซุ้มโขงนั้นมีช่องสำหรับสอดวงกบไม้ ในลักษณะเดียวกับซุ้มโค้งวัดกู่ป้าด้อม

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่ง ได้แก่ ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้น พบเป็นจำนวนมากบริเวณรอบเจดีย์ เช่น ชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น เศียรเทวดาปูนปั้น ชิ้นส่วนลำตัวนาค ลวดลายพันธุ์พฤกษา และลายกนก

นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา ได้แก่ แหล่งเตาสันกำแพง แหล่งเตาเวียงกาหลง เครื่องถ้วยจีนเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ และโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ เช่น แผ่นโลหะปิดทอง เครื่องมือโลหะ ตะปูเหล็ก ตะคันดินเผา และเขาสัตว์จำพวกกวาง เป็นต้น

กำหนดอายุสมัย

พิจารณาจากรูปแบบของสถาปัตยกรรม ร่วมกับการวิเคราะห์โบราณวัตถุ โบราณสถานวัดกุมกามทีปรามหมายเลข 1 น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 23

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี