วัดบ่อน้ำทิพย์


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดป่าคา, วัดบ่อน้ำทิพย์(ร้าง)

ที่ตั้ง : ม.1

อำเภอ : สารภี

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.745031 N, 99.014578 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เริ่มต้นจากเมืองเชียงใหม่ ให้ใช้ถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (106) ตรงตามทางระยะประมาณ 5.1 กิโลเมตร จนถึงสะพานข้ามแยกแยกจุดตัดกับถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี วัดบ่อน้ำทิพย์จะอยู่ทางด้านซ้าย มีป้ายชื่อโบราณสถานอยู่ที่หน้าปากทางเข้า

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดบ่อน้ำทิพย์เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว ภายในบริเวณโบราณสถานมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่มาของชื่อวัด นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดบ่อน้ำทิพย์อยู่ด้านหลังวัดบ่อน้ำทิพย์ ริมถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ปัจจุบันเป็นวัดพุทธศาสนา วัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ พื้นที่โดยรอบเป็นสวนและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

วัดบ่อน้ำทิพย์เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่รอบนอกเมืองเวียงกุมกามทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 2.3 กิโลเมตร อยู่ฝั่งตะวันออกของถนนเชียงใหม่-ลำพูน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

306 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21–22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

ผลการศึกษา :

พบเนินโบราณสถาน 4 เนิน คือ เนินวิหาร เนินโบราณสถานรูปตัว L เนินอาคารทิศตะวันตกของเนินวิหาร และเนินอาคารทิศตะวันออกของเนินวิหาร

ชื่อผู้ศึกษา : เฌอกรีน (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฌอกรีน (ผู้รับจ้าง) บูรณะโบราณสถานวัดบ่อน้ำทิพย์ ระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2545 - 19 กันยายน 2545

ชื่อผู้ศึกษา : เจติยารา คอนสตรัคชั่น (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจติยารา คอนสตรัคชั่น (ผู้รับจ้าง) บูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานวัดบ่อน้ำทิพย์ ระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 - 12 มีนาคม 2555

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดบ่อน้ำทิพย์ เป็นโบราณสถานที่ไม่ปรากฏประวัติในเอกสารทางประวัติศาสตร์ เดิมมีชื่อว่าวัดป่าคา แต่หลังจากชาวบ้านพบว่าในบริเวณวัดมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกโบราณสถานนี้ว่า "วัดบ่อน้ำทิพย์"

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเบื้องต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2536 และต่อมามีการดำเนินการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ รวมถึงการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานวัดบ่อน้ำทิพย์ ในปี พ.ศ. 2545 (กรมศิลปากร 2548 : 84) พบข้อมูลของโบราณสถานและโบราณวัตถุ ดังนี้

โบราณสถานวัดบ่อน้ำทิพย์ ประกอบด้วย วิหาร อาคารรูปตัว L และเจดีย์ราย 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

1. วิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ยกเก็จด้านหน้า 2 ตอน ด้านหลัง 1 ตอน ลักษณะเป็นชั้นหน้ากระดานเล็กๆ ซ้อนเหลี่ยมกัน 2 ชั้น รับฐานบัวคว่ำและชั้นหน้ากระดาน มีบันไดทางขึ้นเฉพาะด้านหน้า พื้นวิหารไม่พบร่องรอยของอิฐปูพื้น

2. อาคารรูปตัว L มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปัจจุบันปรากฏให้เห็นเฉพาะส่วนฐาน ซึ่งประกอบด้วยฐานเขียง 1 ชั้น รับชั้นบัวคว่ำซ้อน 2 ชั้น แบบเดียวกับวิหารวัดธาตุน้อย

3. เจดีย์ราย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

โบราณวัตถุที่พบ

โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเวียงกาหลง ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเขียนสีน้ำเงินใต้เคลือบ สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911 – 2187) นอกจากนี้ในการขุดค้นครั้งแรก พบอิฐมีจารึกอักษรธรรมล้านนา กำหนดอายุไว้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง 

ตำนานเกี่ยวกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด เล่ากันว่า เมื่อพญามังรายสร้างเวียงกุมกาม ได้พำนักอยู่บริเวณนี้และเกิดโรคระบาด จึงได้ขุดบ่อน้ำขึ้น 3 บ่อเพื่อปรุงยารักษาโรค บ่อที่ 1 สำหรับราชวงศ์ บ่อที่ 2 สำหรับทหาร บ่อที่ 3 สำหรับชาวบ้าน

การกำหนดอายุสมัย

จากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ วัดบ่อน้ำทิพย์น่าจะสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 – 22

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี