วัดเสาหิน


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : ต.หนองหอย อ.เมืองเชียงใหม่

ตำบล : หนองหอย

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เชียงใหม่

พิกัด DD : 18.753759 N, 99.003021 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนมหิดล ให้เข้ามาทางถนนมหิดล ซอย 4 ประมาณ 500 เมตร วัดเสาหินจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ

จากถนนเชียงใหม่-ลำพูน ให้เข้าทางซอยบ้านเสาหิน 6 (ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธรแม่ปิง) ประมาณ 700 เมตร พบซอยบ้านเสาหิน 15 และวัดเสาหิน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดเสาหินเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ภายในบริเวณวัดมีวิหารเสาหินจำลอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดเสาหิน

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดเสาหินเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือนอกเวียงกุมกาม ห่างจากแม่น้ำปิงมาทางทิศตะวันออกประมาณ 700 เมตร ภายในวัดมีเสาหินจำลองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัด บริเวณโดยรอบวัดเสาหินเป็นพื้นที่เขตชุมชน แวดล้อมด้วยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

304 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง

สภาพธรณีวิทยา

เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ถูกทับถมด้วยตะกอนที่เป็นทรายและหินกรวด ในสมัยโฮโลซีน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยล้านนา

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 21

อายุทางตำนาน

พุทธศตวรรษที่ 20

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ฮันส์ เพนธ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ฮันส์ เพนธ์ และคณะ ศึกษาข้อความในจารึกที่มีประวัติว่าพบที่กู่วัดเสาหิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ.2023

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539, พ.ศ.2540

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, อนุรักษ์จิตรกรรม

ผลการศึกษา :

โครงการอนุรักษ์จิตรกรรมวัดเสาหิน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดเสาหิน เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ในปัจจุบัน ประวัติของวัดไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดโดยตรง มีเพียงราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ที่ระบุถึงพระเจ้าสามฝั่งแกนได้สร้างอุโบสถที่วัดแห่งหนึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศเหนือของเวียงกุมกาม และทรงให้ปักเสมาเป็นเสาหินที่อุโบสถ (ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ 2518 : 25) จากข้อมูลนี้ทำให้มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเสาหิน (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 54) แต่หลักฐานที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบหลักฐานที่เก่าจนถึงรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน พบเพียงจารึกหลักหนึ่งซึ่งตามประวัติกล่าวว่าพบที่กู่วัดเสาหิน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ. 2023 (ฮันส์ เพนธ์ และคณะ 2544 : 60 – 61)

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ

วิหาร ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสร้างขึ้นสมัยใด ตัววิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือค่อนมาทางทิศตะวันออก ส่วนฐานของวิหารจะยกพื้นสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนของบันไดมีการสร้างเป็นรูปนกหัสดีลิงค์

เจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานย่อมุมขนาดใหญ่ซ้อนกัน 4 ชั้น มีซุ้มพระประธานด้านทิศเหนือ 1 ซุ้ม บนฐานเจดีย์ชั้นบนมีรูปปั้นนรสิงห์ประจำอยู่ 4 มุม ส่วนฐานชั้นแรกมีรูปสิงห์จำนวน 4 ตัว อยู่บริเวณมุมฐานเจดีย์ และมีกำแพงแก้วรอบอีกชั้นหนึ่ง โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นครอบเจดีย์องค์เดิมที่มีขนาดเล็กกว่า

อุโบสถ มีฐานประทักษิณ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องดินขอ

วิหารเสาหินจำลอง เป็นสัญลักษณ์ของวัดและเป็นที่สักการะบูชาตามคติความเชื่อโบราณว่า เสาหินเดิมอยู่ใต้ฐานประธานในวิหารทำให้บ้านเมืองล่มสลาย เมื่อใดมีเสาหินปรากฏในบริเวณวัดนี้ เมืองที่ล่มสลายไปจะกับฟื้นขึ้นมามีความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงพระเจ้าสามฝั่งแกนได้สร้างอุโบสถที่วัดแห่งหนึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศเหนือของเวียงกุมกาม และทรงให้ปักเสมาเป็นเสาหินที่อุโบสถ (ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ 2518 : 25)  จึงมีการสันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงวัดเสาหิน  (สรัสวดี อ๋องสกุล 2537 : 54)

จารึกที่เกี่ยวข้อง

จารึกกู่วัดเสาหิน กล่าวถึงการถวายคน 20 ครอบครัว และนา พร้อมทั้งอุปกรณ์ทำนาแด่พระอุโบสถ สันนิษฐานว่าจารึกน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี พ.ศ. 2023 (ฮันส์ เพนธ์ และคณะ 2544 : 60 – 61)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ชัยวัฒน์ ศิริซุ้มสุวรรณ, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่. ภาคปริวรรต ลำดับที่ 4 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518.

สรัสวดี อ๋องสกุล. เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2537.

ฮันส์ เพนธ์ และคณะ. ประชุมจารึกล้านนา จารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่. คลังจารึกข้อมูลล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี