โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านบัวสิมมา ต.โนนอุดม อ.ชุมแพ
ตำบล : โนนอุดม
อำเภอ : ชุมแพ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.51072 N, 102.229304 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยน้ำไหล
จากที่ว่าการอำเภอชุมแพ ใช้ถนนมะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข 12) มุ่งหน้าตำบลโนนอุดม ประมาณ 13.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านโคกสูงและเทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ ประมาณ 300 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 1.1 กิโลเมตร ถึงบ้านบัวสิมมา พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 290 เมตร ถึงวัดสระพัง
เสมาและชิ้นส่วนประติมากรรมหินทรายภายในวัดสระพังได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดและชาวบ้านบัวสิมมาเป็นอย่างดี แม้ว่าจะมีสภาพผุกร่อนบ้างตามกาลเวลา และเสมาบางใบอาจถูกรบกวนจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การปลูกต้นไม้ประชิดกับเสมา โดยเฉพาะเสมาหมายเลข 10 และ 11 รากไม้อาจชอนไชทะลุแผ่นหินเสมาแตกหรือกิ่งไม้อาจหักโค่นลง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เสมาได้
วัดสระพังตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถานกู่บ้าน บรรยากาศภายในเงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม พักผ่อนหย่อนใจ และเยี่ยมชมโบราณวัตถุสมัยทวารวดี ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดสระพัง, กรมศิลปากร
ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 121 ตอนพิเศษ 53ง วันที่ 10 พฤษภาคม 2547
พื้นที่แถบบ้านบัวสิมมาซึ่งเป็นที่ตั้งของกู่บ้านมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด บริเวณรอยต่อกับพื้นที่ลานตะพักลำน้ำเชิญ และมีเนินดินกระจายตัวอยู่ทั่วไป บ้านบัวสิมมาเป็นหนึ่งในเนินเหล่านั้น โดยเป็นเนินดินเตี้ยๆ สูงกว่าบริเวณโดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 5 เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่น้อยอยู่โดยรอบ ได้แก่ โนนนกแจง ดอนปู่ตา ดอนตาล และเนินดินริมทางเข้าวัดสระพังทางด้านทิศเหนือ
ดินภายในบ้านบัวสิมมาเป็นดินชุดโพนพิสัย พื้นที่โดยรอบเป็นดินชุดพิมาย ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายหมวดหินภูกระดึง มี “ห้วยน้ำไหล” ไหลผ่านทางทิศใต้ของชุมชน และจะไหลออกสู่ลำน้ำเชิญที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 900 เมตรในที่สุด
สภาพภายในบ้านบัวสิมมาปัจจุบันเป็นชุมชน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น
ลำน้ำเชิญ, ห้วยน้ำไหล
ดินภายในบ้านบัวสิมมาเป็นดินชุดโพนพิสัย ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526, พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
จากการสำรวจของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2526 พบว่าบ้านบัวสิมมาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ บ้านบัวสิมมา ดอนปู่ตา ดอนตาล และโนนกกแจง จากหลักฐานที่สำรวจพบในครั้งนั้นพบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยภายในวัดสระพังพบเสมา 15 ใบ และนาคหินทราย 1 ชิ้น เช่นเดียวกับการสำรวจทำผังเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2546วัดสระพังตั้งอยู่ในชุมชนโบราณบ้านบัวสิมมา ภายในวัดมีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญคือ เสมาหินทราย ปักตั้งอยู่หลายใบ สันนิษฐานว่าเป็นเสมาสมัยทวารวดี ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
จากการสำรวจของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2526 พบว่าบ้านบัวสิมมาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ บ้านบัวสิมมา ดอนปู่ตา ดอนตาล และโนนกกแจง จากหลักฐานที่สำรวจพบในครั้งนั้นพบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยภายในวัดสระพังพบเสมา 15 ใบ และนาคหินทราย 1 ชิ้น เช่นเดียวกับการสำรวจทำผังเพื่อประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2546
จากการสำรวจ พ.ศ.2557 ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่าวัดสระพัง ปัจจุบันเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย พื้นที่ด้านทิศใต้ของวัดใกล้กับประตูวัดและศาลาการเปรียญ (อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ) พบเสมาหินทรายปักตั้งล้อมพื้นที่เป็นวงกลมอยู่ 14 ชิ้น รวมทั้งชิ้นส่วนนาคหินทรายอีก 1 ชิ้น ห่างออกไปจากเสมาที่ปักตั้งอยู่ไปทางทิศใต้ประมาณ 16-17 เมตร ติดกับกำแพงวัด พบเสมา (เสา?) หินทรายวางนอนอยู่อีก 1 ชิ้น รวมทั้งสิ้นพบเสมาหินทราย 15 ชิ้น และนาคหินทราย 1 ชิ้น ตามผลการสำรวจเมื่อปี 2526 และ 2546 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากบริเวณที่พบเสมา มีบ่อสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ 1 สระ
ตำแหน่งเสมาที่พบในปัจจุบันแตกต่างออกไปจากเมื่อปี 2546 เล็กน้อย โดยเสมาหมายเลข 14 (ตามการสำรวจปี 2546) หายไปจากตำแหน่งเดิม คือข้างเสมาหมายเลข 15 ในพื้นที่ติดกับรั้ววัดทางทิศใต้ แต่ปรากฏเสมาปักเพิ่มขึ้น 1 ใบในวงล้อม โดยตั้งอยู่ระหว่างเสมาใบที่ 1 และ 12 ซึ่งอาจเป็นเสมาหมายเลข 14 ที่ถูกเคลื่อนย้ายมา? แต่เจ้าอาวาสวัดสระพังที่เป็นคนบ้านบัวสิมมาตั้งแต่กำเนิด (ปัจจุบันอายุ 83 ปี) ให้ข้อมูลว่าเสมาเหล่านี้ไม่เคยมีการเคลื่อนย้ายออกจากตำแหน่งเดิม นอกจากนี้ตำแหน่งของต้นไม้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้วย
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.