โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านบัวสิมมา ต.โนนอุดม อ.ชุมแพ
ตำบล : โนนอุดม
อำเภอ : ชุมแพ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.511247 N, 102.231822 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เชิญ
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยน้ำไหล
จากที่ว่าการอำเภอชุมแพ ใช้ถนนมะลิวัลย์ (ทางหลวงหมายเลข 12) มุ่งหน้าตำบลโนนอุดม ประมาณ 13.4 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่บ้านโคกสูงและเทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ ประมาณ 300 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนประมาณ 1.4 กิโลเมตร ถึงบ้านบัวสิมมา พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 220 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีกประมาณ 200 เมตร พบกู่บ้านและลานกีฬาของชุมชนอยู่ทางซ้ายมือ
กู่บ้าน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านบัวสิมมา ได้รับการเคารพสักการะเป็นอย่างมาก มีการทำบุญใหญ่ ณ สถานที่แห่งนี้ทุกวันที่ 16 เมษายนของทุกปี มีการสร้างศาลาปูนบนเนินโบราณสถาน และปรับผิวดินรอบเนิน ซึ่งเป็นการรบกวนโบราณสถาน อีกทั้งหลักฐานทางโบราณคดีบางชิ้นหายไป เช่น เสมาด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนินที่พบจากการสำรวจเมื่อปี 2546 (ไม่พบในการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2557) และใบเสมา 3 ใบที่พบจากการสำรวจเมื่อปี 2526 (พ.ศ.2557 สำรวบพบเพียง 1 ใบ)
กู่บ้านและบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของหมู่บ้าน สระน้ำสาธารณะ รวมทั้งเป็นสนามกีฬาประจำชุมชน ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีที่จอดรถและห้องน้ำอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือน
กรมศิลปากร, บ้านบัวสิมมา
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 53ง วันที่ 10 พฤษภาคม 2547
พื้นที่แถบบ้านบัวสิมมาซึ่งเป็นที่ตั้งของกู่บ้านมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด บริเวณรอยต่อกับพื้นที่ลานตะพักลำน้ำเชิญ และมีเนินดินกระจายตัวอยู่ทั่วไป บ้านบัวสิมมาเป็นหนึ่งในเนินเหล่านั้น โดยเป็นเนินดินเตี้ยๆ สูงกว่าบริเวณโดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 5 เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่น้อยอยู่โดยรอบ ได้แก่ โนนนกแจง ดอนปู่ตา ดอนตาล และเนินดินริมทางเข้าวัดสระพังทางด้านทิศเหนือ
ดินภายในบ้านบัวสิมมาเป็นดินชุดโพนพิสัย พื้นที่โดยรอบเป็นดินชุดพิมาย ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายหมวดหินภูกระดึง มี “ห้วยน้ำไหล” ไหลผ่านทางทิศใต้ของชุมชน และจะไหลออกสู่ลำน้ำเชิญที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 900 เมตรในที่สุด
สภาพภายในบ้านบัวสิมมาปัจจุบันเป็นชุมชน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่อย่างหนาแน่น หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญภายในชุมชน ได้แก่ ใบเสมาที่วัดสระพัง และกู่บ้าน
ลำน้ำเชิญ, ห้วยน้ำไหล
ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านบัวสิมมา รวมถึงที่กู่บ้านที่อยู่ภายในบ้านบัวสิมมากู่บ้านตั้งอยู่ภายในชุมชนโบราณบ้านบัวสิมมา สันนิษฐานว่ากู่บ้านเป็นโบราณสถานในสมัยเขมรเป็นอย่างน้อย
จากการสำรวจของกรมศิลปากรที่ผ่านมา (พ.ศ.2526) พบว่าบ้านบัวสิมมาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ บ้านบัวสิมมา ดอนปู่ตา ดอนตาล และโนนกกแจง จากหลักฐานที่สำรวจพบในครั้งนั้นพบทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ โดยบริเวณดอนปู่ตาพบซากโบราณสถาน “กู่บ้าน” ก่อด้วยศิลาแลง หินทรายสีแดง และอิฐ ที่มุมขวาของโบราณสถานมีใบเสมาปักอยู่ 3 ใบ จากคำบอกเล่าของชาวบ้านเล่าว่าบริเวณนี้เคยพบพระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปหินอ่อนสีขาว ส่วนโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบบนดอนปู่ตา ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา กระเบื้องมุงหลังคา เศษปูนปั้นประดับอาคาร หินดุ และบราลี
จากการสำรวจของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พ.ศ.2557 พบว่ากู่บ้านมีลักษณะเป็นเนินของซากโบราณสถาน ไม่ปรากฏรูปร่างโบราณสถานแน่ชัด แต่เนินมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 9 เมตร (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) ยาวประมาณ 12 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) สูงประมาณ 2 เมตร รอบเนินฝั่งทิศใต้มีก้อนศิลาแลง ก้อนหินทราย และอิฐกระจายตัวอยู่อย่างค่อนข้างหนาแน่น บนเนินมีศาลาโปร่งก่อด้วยปูน มีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก (ด้านหน้า) สลักปีที่สร้างไว้ที่พื้นศาลา “6 มี.ค. พ.ศ.2521” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สลักปีที่สร้างไว้ที่ฐาน “พ.ศ.2521” นอกจากนี้ยังมีก้อนหินทรงรีทาสีขาว 2 ก้อน ซึ่งเป็นก้อนหินที่พบในพื้นที่โบราณสถาน วางตั้งอยู่ด้านหน้าพระพุทธรูป ที่ฐานตั้งหินระบุวันที่ “10 ธ.ค. 20”
บนเนินโบราณสถานด้านทิศเหนือติดกับศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปนี้ มีศาลาลักษณะเดียวกันปลูกอยู่อีกหลังหนึ่ง มีสภาพใหม่กว่า จากการสัมภาษณ์นายไพบูลย์ มาเมืองเพีย (สมาชิก อบต.โนนอุดม อยู่บ้านเลขที่ 2 ม.5 ต.โนนอุดม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น) ได้ข้อมูลว่า ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2550-2551 แต่สร้างยังไม่เสร็จเนื่องจากกรมศิลปากรระงับไว้ บนเนินโบราณสถานฝั่งทิศเหนือรอบศาลาหลังใหม่นี้พบเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดินและเนื้อแกร่งหนาแน่น บางชิ้นมีการเคลือบสีน้ำตาล-ดำ นายไพบูลย์ให้ข้อมูลว่าก่อนการสร้างศาลาหลังใหม่ มีการนำดินรอบเนินมาถมบนเนิน เพื่อปรับระดับเนินให้เรียบเสมอกันสำหรับสร้างศาลา
ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเนินพบเสมาหินทราย 1 ใบ ฝังอยู่ในพื้นดิน มีบางส่วนเท่านั้นที่โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา มีสภาพค่อนข้างสึกกร่อน ทั้งนี้จากแผนผังประกอบการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2546 พบว่ามีเสมาอยู่อีก 1 ใบที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนิน แต่จากการสำรวจในครั้งนี้ไม่พบ นายไพบูลย์ให้ข้อมูลว่า เดิมมีเสมาอีก 1 ใบในตำแหน่งดังกล่าว แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าหายไปไหน
ด้านทิศเหนือของเนินโบราณสถาน ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร มีสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่อยู่ 1 สระ มีทิศทางการวางตัวเอียงไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งหากโบราณสถานแห่งนี้มีอายุสมัยเดียวกับการขุดสระน้ำ ก็ทำให้สันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า กู่บ้านอาจหันหน้าเอียงไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้เช่นเดียวกับสระน้ำ ทั้งนี้ชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์จากสระน้ำแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน
นายไพบูลย์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เคยมีการพบโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ขันสำริดและพระพุทธรูปหิน ในไร่นารอบชุมชนบ้านบัวสิมมา ส่วนพื้นที่ดอนปู่ตาที่เป็นที่ตั้งของกู่บ้านปัจจุบันเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นสนามกีฬาประจำชุมชน
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx