โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : กุดธาตุ, ธาตุดูกญาคู, วัดกุดธาตุ
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านกุดธาตุ ต.กุดธาตุ อ.หนองนาคำ
ตำบล : กุดธาตุ
อำเภอ : หนองนาคำ
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.88489 N, 102.256158 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : พอง
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยกุดธาตุ
จากตัวอำเภอหนองนาคำ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2133 มุ่งหน้าทิศเหนือสู่ตำบลกุดธาตุ ไปตามถนนประมาณ 12.3 กิโลเมตร (ผ่านตำบลตัวตำบลกุดธาตุและบ้านกุดธาตุ) จะพบวัดกุดธาตุทางขวามือ
โบราณสถานกุดธาตุเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในพื้นที่ แม้ว่าจะยังไม่มีการอนุรักษ์ บูรณปฏิสังขรณ์หรือศึกษาอย่างจริงจังจากทางราชการ แต่ชาวบ้านก็ช่วยกันทำนุบำรุงรักษาธาตุแห่งนี้ ทั้งยังสร้างธาตุองค์ใหม่ขนาดใหญ่ขึ้นเคียงคู่กับธาตุองค์ดั้งเดิม
สภาพทั่วไปภายในวัดเงียบสงบร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมและพักผ่อน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดกุดธาตุ, กรมศิลปากร
ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเรื่องการกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 57 หน้า 2527 วันที่ 22 ตุลาคม 2483
วัดกุดธาตุตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเนินดินที่เป็นของชุมชนบ้านกุดธาตุ เนินดินมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) และกว้างประมาณ 600 เมตร (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) เนินดินสูงกว่าพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 5 เมตร
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดทางตอนเหนือของภูเวียง (ภูเวียงอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร) ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายแป้งในหมวดหินภูกระดึง ทางทิศตะวันตกของชุมชนมีแหล่งน้ำสำคัญคือกุดพองหลง ซึ่งเป็นลำน้ำสายเดิมของแม่น้ำพอง ส่วนแม่น้ำพองสายปัจจุบันไหลอยู่ห่างจากชุมชนและวัดกุดธาตุไปทางทิศตะวันตกประมาณ 650 เมตร
ภายในชุมชนมีลำห้วยสายเล็กๆ ที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำพองไหลผ่านอีกหลายสาย เช่น ห้วยบักจ่อด นอกจากนี้ทางทิศตะวันตกของชุมชนและวัดกุดธาตุยังมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ โดยทางทิศเหนือของบ่อน้ำมีร่องรอยของลำห้วยโบราณที่ปัจจุบันตื้นเขินไปแล้ว
โบราณสถานกุดธาตุตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในวัดกุดธาตุ
แม่น้ำพอง, ห้วยกุดธาตุ
ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึง ส่วนล่างสุดเป็นหินทรายแป้ง สีแดง สีน้ำตาลแดง และสีเทาแกมแดง มมักมีแร่ไมก้าปน บางแห่งมีหินปูนชั้นบางแทรกสลับ ชั้นหินตอนกลางประกอบด้วย หินทรายแป้ง หินโคลน สีน้ำตาลแดงปนม่วง มีเม็ดปูนและชั้นเม็ดปูน ชั้นหินมักถูกปกคลุมด้วยตะกอนดินหนา ไม่ค่อยพบชั้นหินโผล่ มีหินทรายเนื้อไมก้าและหินกรวดมนเม็ดปูน สลับชั้นโผล่ให้เห็นเป็นช่วงๆ ส่วนบนเป็นหิรทรายแป้งสลับชั้นหินทราย หินโคลน และหินกรวดมนเนื้อปูน สีแดงปนเทา และสีเทาเขียว ชั้นหินบนสุดโผล่เป็นหน้าผาหินทราย สีน้ำตาลแดง และมีหินทรายแป้งสลับชั้นอยู่บ้าง ชั้นหินทรายหนา 30 เศนติเมตร ถึงมากกว่า 1 เมตร ชั้นหินทั่วไปมีการผุพังค่อนข้างง่าย สภาวะของการสะสมตัวของตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัดที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำ หนอง และบึง ในภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้งเมื่อ 180-145 ล้านปี (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 17-18)
ชื่อผู้ศึกษา : สำนักสงฆ์กุดธาตุ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ปรับปรุงภูมิทัศน์
ผลการศึกษา :
สำนักสงฆ์กุดธาตุได้ทำลานปูนยกพื้นล้อมรอบพระธาตุ ตั้งเสาปูนกั้นเป็นรั้วโดยรอบ เพื่อจะก่อสร้างเป็นที่สักการะพระธาตุ แต่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ค้างอยู่จนถึงปัจจุบันโบราณสถานกุดธาตุตั้งอยู่ภายในวัดกุดธาตุ เป็นธาตุก่ออิฐ สันนิษฐานว่าเป็นธาตุหรือเจดีย์ที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ในสมัยล้านช้าง
โบราณสถานกุดธาตุตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในวัดกุดธาตุ และอยู่ทางทิศเหนือของบ่อน้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นพระธาตุขนาดเล็กก่ออิฐสอปูน ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวแต่ละด้านประมาณ 1.2 เมตร สภาพชำรุดหักพัง ความสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ส่วนฐานปูนสึกกร่อนมองเห็นอิฐเปลือย ส่วนฐานด้านบน (หรือสวนองค์ธาตุ?) มีปูนฉาบอยู่ด้านนอกสภาพสมบูรณ์ (สันนิษฐานว่าทำในสมัยหลัง) ส่วนยอดหักหายไป ขนาดก้อนอิฐหนาประมาณ 5-8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร รอบองค์ธาตุมีการคล้องมาลัยผูกผ้า และเครื่องสักการะต่างๆ สันนิษฐานว่าธาตุหรือเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ในสมัยล้านช้าง
พื้นที่โดยรอบธาตุเทเป็นพื้นปูนซีเมนต์และทำรั้วรอบพื้นที่ ด้านทิศใต้ติดกับโบราณสถานมีธาตุขนาดใหญ่ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จอยู่ 1 องค์
ข้อมูลของกรมศิลปากร (2560) ระบุถึงประวัติวัดว่า วัดโพธิ์ศรีวราราม ตั้งเมื่อ พ.ศ.2431 บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านบริเวณที่มีต้นโพธิ์ จึงตั้งชื่อว่า วัดโพธิ์ศรีวราราม ต่อมาที่วัดตั้งอยู่ขาดแหล่งน้ำ จึงย้ายวัดมาตั้งทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดกับลำห้วยกุดธาตุ บริเวณนี้มีธาตุโบราณขนาดเล็ก 1 องค์ เรียกว่า กุดธาตุ หรือ ธาตุดูกญาคู ตั้งวัดอยู่บริเวณนี้ได้ประมาณ 23 ปี จึงได้ย้ายวัดไปทางทิศตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง บริเวณกุดธาตุจึงกลายเป็นวัดร้าง และกลายเป็นสำนักสงฆ์และวัดกุดธาตุมาโดยลำดับ
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx